xs
xsm
sm
md
lg

“ผมมาแก้ปัญหา..ผลงานคือคำตอบ”เสียง ‘ทวี สอดส่อง’ แทรกควันไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

สถานการณ์ไฟใต้ยังมีตัวเลขของการก่อเหตุร้ายเกิดขึ้นรายวันเกาะกลุ่มอยู่ที่ 3-5 ครั้งต่อหนึ่งวัน เป้าหมายของ “แนวร่วม” ยังอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ครู พระและประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สายข่าว” ให้เจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนการก่อวินาศกรรมด้วย “ระเบิด” นอกจากเป้าหมายอยู่ที่ตำรวจและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัยครูและประชาชนแล้ว ยังรวมถึงย่านการค้าหรือย่านเศรษฐกิจในเขตเมืองที่เป็นของชาวไทยเชื้อสายจีนและชุมชนชาวไทยพุทธ

ณ วันนี้คงจะสรุปได้ว่า 7 ปีที่ไฟใต้คุโชนระลอกใหม่ สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นยังคงดำเนินไปเช่นเดิม

“ศอ.บต.” หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของฝ่ายพลเรือนที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในมิติของพลเรือน ควบคู่กับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” หรือกองอำนวยการรักษาความสงบภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบในด้านยุทธการตามภารกิจคือ รักษาความสงบภายใน

ดังนั้น ศอ.บต.ทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงเป็น “เครื่องมือ” ชิ้นหนึ่ง ที่ประชาชนในพื้นที่คาดหวังว่าจะสามารถใช้ “ยุทธศาสตร์” นำความสงบมาสู่พื้นที่ชายแดนใต้ได้

เมื่อ 31 ธันวาคม 2553 คือวันที่ “พ.ร.บ.ศอ.บต.” ประกาศใช้ตามกฎหมาย หลังจากที่ถูกยุบในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และถูกตั้งขึ้นมาใหม่โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีสมัย พล.อ.สุรยุทธ จุลลานนท์ โดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ และอยู่ภายใต้การสั่งการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยการคืนชีพของ ศอ.บต.ครั้งนี้มี “ข้าราชการระดับ 11” ทำหน้าที่เลขาธิการ และมีนายกรัฐมนตรีเป็น “ผอ.ศอ.บต.”

เลขาธิการคนแรกของ ศอ.บต.คือ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งเป็นอดีต ผอ.ศอ.บต. แต่ถูกโยกย้ายตามความเปลี่ยนของการเมืองไปทำหน้าที่ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายการเมือง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และ ครม.เห็นชอบให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองอธิบดีกระทรวงยุติธรรม มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเป็นเลขาธิการคนที่ 2 ของหน่วยงาน

อันเป็นการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.คนที่ 2 แบบมีการตั้งข้อสังเกตและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะว่า มาเพื่อเอาตำแหน่งระดับ 11 เพื่อโยกย้ายกลับไปเป็นปลัดกระทรวงตามที่นักการเมืองต้องการ อีกทั้งมีการมองกันว่าการส่ง พ.ต.อ.ทวีมาเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. แบบไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่เป็นส่วนใหญ่คือ “มุสลิม” ซึ่งมักจะมองตำรวจในภาพลบมาโดยตลอด

หลังรับตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. หลายคนได้เห็นถึงความตั้งใจของ พ.ต.อ.ทวีที่ร่วมกับรองเลขาธิการและ ที่ปรึกษาฯ ตระเวนพบปะทำความเข้าใจ รับรู้เรื่องราวความรู้สึก ความต้องการของตัวแทนภาคประชาชน และผู้นำศาสนาในพื้นที่ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ให้เห็นว่า การมารับตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.ในครั้งนี้เขามีความตั้งใจที่จะมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ได้มาเพื่อใช้ ศอ.บต.เป็น “บันได” ในการย้ายกลับไปเป็นปลัดกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวีได้เปิดเผยว่า การเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นปัญหาหนึ่งของชายแดนใต้ที่กลายเป็นเงื่อนไขของความไม่สงบ ผู้ถูกกล่าวหาและถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ก่อความไม่สงบได้รับความเดือดร้อน ความทุกข์ยากเป็นอย่างยิ่งในการต่อสู้แก้ข้อกล่าวหา เพราะคดีความมั่นคงประกันตัวยาก และหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัวถูกตีราคาแพง แต่ละคดีใช้เวลา 2-3 ปีในการพิจารณาคดี ทำให้ผู้ถูกตั้งข้อหาถูกคุมขังในเรือนจำได้รับความทุกข์ยาก เดือดร้อนทั้งตนเองและครอบครัว

อีกทั้งคดีส่วนใหญ่ที่ถูกฟ้องร้อง สุดท้ายศาลยกฟ้องกว่า 50% เพราะขาดพยานหลักฐาน โดยมีหลักฐานที่ปรากฏชัดว่า 7 ปีที่ผ่านมามีคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาเพียงคดีเดียว แถมยังมีการยกฟ้องด้วย ซึ่งกว่าคดีจะถูกศาลฎีกาตัดสินต้องเสียค่าใช้จ่าย 1.5 แสนบาท

นี่เป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่ต้องมีการประชุมพูดคุยกับหน่วยงาน 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีให้ใช้เวลาพิจารณาคดีสั้นลง รวมถึงการให้ประกันตัวและการหาพยานหลักฐาน เพื่อให้ผู้ที่มีความผิดจริงได้รับโทษ และหาวิธีการที่จะไม่กล่าวหาผู้ที่ยังไม่มีหลักฐานในการทำผิด เนื่องจากที่ผ่านมาการตั้งข้อหาในความผิดมาจากการ “ซัดทอด” ของผู้ถูกจับกุมเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายจึงทำให้ศาลไม่สามารถเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ความเป็นธรรมมี 2 แบบด้วยกันคือ ความเป็นธรรมทางกฎหมาย และความเป็นธรรมตามความรู้สึก สำหรับความเป็นธรรมทางกฎหมายนั้นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเมื่อศาลตัดสินแล้วอย่างไรเสียทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพราะเป็นกฎหมาย เป็นกติกาของสังคม

แต่ความเป็นธรรมในความรู้สึกส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ทำไมผู้ทำความผิดส่วนหนึ่งได้ประกันตัวใส่เสื้อสูทไปขึ้นศาลในฐานะผู้ถูกกล่าวหาอย่างมีเกียรติ ในขณะที่คนส่วนหนึ่งกลายเป็น “จำเลย” ที่ไม่มีสิทธิในการประกันตัว รวมทั้งสิทธิอื่นๆ ก็ยังเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ซึ่งความเป็นธรรมในความรู้สึกของประชาชนเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข และการเยียวยากับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

อย่าง “กรณีตากใบ” และ “กรณีกรือเซะ” โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ขณะนี้ยังไม่จบ เพราะยังเป็น “ปม” ที่ค้างคาในใจของคนส่วนใหญ่ รวมทั้งมีการนำความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นไปขยายผลในประเทศที่สาม ซึ่งจะได้นำเอากรณีเหล่านี้มาตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อที่จะให้สิ่งที่ยังค้างคาใจของคนในพื้นที่ได้หายข้องใจและสบายใจ เพราะที่ผ่านมาเขาเห็นว่ายังไม่มีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

แม้แต่ในเรื่องของการใช้ “พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ” ในพื้นที่ ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้เลิก เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม เรื่องนี้ก็ต้องมีการร่วมหารือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น หากจะเลิกจะเลิกในพื้นที่ซึ่งมีความปลอดภัย ไม่มีการก่อความไม่สงบ ซึ่งจากการหารือส่วนใหญ่เห็นว่าสมควรเลิกในพื้นที่ที่ไม่มีการก่อเหตุร้าย เนื่องจากยังมีกฎอัยการศึกและกฎหมาย ป.วิอาญารองรับอยู่ และยังสามารถประกาศใช้ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” มาแทน พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบได้

“ผมมีความตั้งใจที่จะมาเพื่อแก้ปัญหาของชายแดนใต้ ไม่ได้มาเพื่อเอาตำแหน่งระดับ 11 ผมไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจมานานแล้ว แต่ที่ยังมียศ พ.ต.อ. เพราะเป็นยศพระราชทานที่ติดตัว ผมจะไม่ตอบโต้แก้ตัวในเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่การทำงานของผมและผลงานที่จะเกิดขึ้นจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด” เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่กล่าว

แต่ที่แน่ๆ คือ พ.ต.อ.ทวีมารับตำแหน่งเลาขาธิการ ศอ.บต.พร้อมๆ กับที่ กอ.รมน.ได้เสนอโครงสร้างใหม่ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการปรับโครงสร้างให้ในพื้นที่มีเฉพาะ “ศอ.บต.ส่วนแยก” และขึ้นตรงกับ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เหมือนกับในอดีต ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของประชาชนและองค์กรภาคเอกชน

นี่อาจจะเป็นงานแรกที่จะพิสูจน์ฝีมือของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ว่าจะฝ่ากระแสเชี่ยวกรากของกองทัพในการรักษาโครงสร้าง ศอ.บต.ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.ที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ในพื้นที่ได้หรือไม่ ??!!
กำลังโหลดความคิดเห็น