กาฬสินธุ์ - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสะพานเทพสุดาจังหวัดกาฬสินธุ์ สะพานข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว พร้อมทั้งทรงทอดพระเนตรนิทรรศการสะพานเทพสุดา
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (22 พ.ย.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ณ บริเวณเชิงสะพานเทพสุดา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเทพสุดา (สะพานข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว) รวมทั้งทรงทอดพระเนตรนิทรรศการสะพานเทพสุดา
โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและประชาชนเฝ้ารับเสด็จ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า “สะพานเทพสุดา” ซึ่งหมายถึงสะพานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สะพานเทพสุดา เป็นโครงข่ายเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งจากจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปยังจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นประตูสู่อินโดจีน หรืออีสต์เวสต์อีโคโนมิก คอริดอร์ หรือเส้นทางกาฬสินธุ์-มุกดาหาร-สปป.ลาว และประเทศเวียดนาม จะช่วยร่นระยะทางได้กว่า 100 กิโลเมตร รวมถึงการขนส่งสินค้าทางการเกษตรเข้าสู่ตัวจังหวัด โดยเฉพาะอำเภอหนองกุงศรี อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ จะร่นระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า หากต้องการเดินทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปจังหวัดอุดรธานี จะร่นระยะทางได้ประมาณ 45 กิโลเมตร
นอกจากนี้ สะพานเทพสุดาถือว่าเป็นสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยบนสะพานสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงาม บริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำปาว สนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ทำให้ประชาชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ประกอบกับอำเภอสหัสขันธ์มีพิพิธภัณฑ์สิรินธร (ภูกุ้มข้าว) ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ กรมได้ออกแบบประติมากรรมรูปหล่อไดโนเสาร์ติดตั้งบริเวณราวสะพานทั้ง 2 ข้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์อีกด้วย
สะพานเทพสุดา มีจุดเริ่มต้นที่ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ มีจุดสิ้นสุดโครงการที่ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร ความยาวสะพาน 2,040 เมตร ถนนต่อเชื่อมโครงการผิวจราจรกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ความยาว 1,439 เมตร ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,492 วัน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 498,850,000 บาท