บุรีรัมย์ - เกษตรกรบุรีรัมย์โวยล่าช้าเสียเวลา ต้องนำรถบรรทุกข้าวนอนรอคิวข้ามคืนริมถนนยาวเหยียดกว่า 1 กม.เพื่อนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล ร้องรัฐเพิ่ม จนท.ตรวจวัดคุณภาพข้าวและจุดรับจำนำ พร้อมขอให้จ่ายเงินสดแทนใบประทวน อ้างต้องเร่งนำไปใช้จ่ายเงินกู้ค่าแรงและค่ารถเกี่ยว ซัดโครงการรับจำนำข้าวเอื้อคนรวย ชาวนาได้ประโยชน์ไม่เต็มที่
วันนี้ (22 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากหลายอำเภอ เช่น อำเภอบ้านด่าน, ห้วยราช และ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นับร้อยราย ได้แห่นำรถบรรทุกข้าวเปลือกมาเข้าคิวรอบริเวณหน้าชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด ริมถนนสายบุรีรัมย์-สตึก ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร (กม.) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ของรัฐบาล โดยมีเกษตรกรบางราย ต้องนำรถบรรทุกข้าวมานอนเฝ้ารอคิวข้ามคืนเพราะความล่าช้าทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าเหมารถบรรทุกรายวันเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่เรียกร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐ ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ ตรวจวัดคุณภาพข้าว ความชื้น และสิ่งเจือปน ทั้งตรวจและออกเอกสารต่างๆ ให้แก่เกษตรกร ที่นำข้าวมาเข้าร่วมโครงการจำนำ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมีความล่าช้า เนื่องจากทางจุดรับจำนำอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
พร้อมกันนี้ยังขอให้รัฐบาล และองค์การคลังสินค้า (อคส.) จ่ายเป็นเงินสดให้กับเกษตรกร ที่นำข้าวมาเข้าร่วมโครงการแทนใบประทวน เพราะจำเป็นต้องนำเงินไปจ่ายค่าจ้างแรงงาน และรถเกี่ยวข้าว ซึ่งบางรายต้องกู้ยืมเงินนอกระบบมาจ่ายค่ารถและค่าแรงก่อนหน้านี้แล้ว เพราะโครงการรับจำนำเกษตรกรต้องรอรับเงินโอนจากทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นาน 3-7 วัน หลังนำใบประทวนไปติดต่อธนาคารขอรับเงิน
นอกจากนั้นยังร้องขอให้ทางคณะกรรมการฯ หรือ อคส.ได้พิจารณาเปิดจุดรับจำนำเพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ ที่มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการจำนวนมากด้วย
ด้าน นายสมชาย เสาทอง เกษตรกร บ้านเชิดชัย หมู่ 15 ต.บัวทอง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่าตนต้องนำข้าวใส่รถบรรทุกมานอนเฝ้ารอเข้าคิวตั้งแต่เมื่อคืน (20 พ.ย.) ที่ผ่านมาเพราะเกรงว่าหากมาช้าจะอยู่คิวท้ายทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่ม ประกอบกับเจ้าหน้าที่น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่จะนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการ จึงขอให้ อคส.ได้พิจารณาเพิ่มเจ้าหน้าที่และเปิดจุดรับจำนำเพิ่มในพื้นที่ที่เกษตรกรมาใช้บริการจำนวนมาก เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรดังกล่าวด้วย
ขณะที่ นายวิสุทธิ์ จากรัมย์ เกษตรกรบ้านยาง หมู่ 18 ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวเสริมว่า อยากให้ภาครัฐจ่ายเป็นเงินสดให้กับเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำ เพราะเกษตรกรส่วนมากมีปัญหาค่าจ้างแรงงาน รถเกี่ยวข้าว ซึ่งบางรายต้องกู้เงินนอกระบบมาเป็นค่าใช้จ่ายไปก่อน เพราะตามโครงการแล้วหลังรับใบประทวน 3-7 วัน ค่อยได้รับเงินโอนจาก ธ.ก.ส. ส่วนตัวถือว่าล่าช้าสำหรับเกษตรกรที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว
“ส่วนตัวคิดว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่มีขั้นตอนยุ่งยาก และเอื้อประโยชน์ให้แก่คนมีฐานะ เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ แตกต่างจากโครงการประกันรายได้ถึงแม้เกษตรกรจะถูกน้ำท่วมนาข้าวเสียหาย ไม่มีข้าวมาเข้าร่วมโครงการแต่ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากรัฐบาลเท่าเทียมกัน ส่วนในโครงการรับจำนำหากนาข้าวน้ำท่วมเสียหายไม่มีข้าวมาจำนำก็ไม่ได้เงินจะได้เพียงเงินชดเชยจากรัฐบาลเท่านั้น” นายวิสุทธิ์กล่าว