กาฬสินธุ์ - มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์นำนักศึกษา จัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยชาวนา เพื่อแบ่งเบาภาระค่าแรงหลังพุ่งสูงถึงวันละ 400-600 บาทต่อวัน และร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวิถีชีวิต เชื่อมความสัมพันธ์ให้กับชาวนาไทย
วันนี้ (14 พ.ย.) รศ.ดร.ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ดร.ธวัชวงศ์ชัย ไตรทิพย์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและบริการวิชาการ นำนักศึกษาคณะต่างๆจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ร่วมกันชาวบ้านกว่า 100 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยเกษตรกรในบ้านหนองแวง ต.สงเปือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างค่าแรงเกี่ยวข้าวที่พุ่งสูงขึ้นถึง 400-600 บาทต่อวัน และเป็นการร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวิถีชีวิตชาวนาไทยให้คงอยู่สืบไป
รศ.ดร.ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ คือ 1.ผลิตบัณฑิต โดยการจัดการเรียนการสอน 2.ศึกษาค้นคว้า วิจัย 3.ให้ความรู้บริการชุมชน และ 4.ส่งเสริมฟื้นฟูประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
กิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวครั้งนี้ ถือเป็นการดำรงซึ่งวิถีชีวิตชาวนาไว้ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์สร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน
ด้าน ดร.ธวัชวงศ์ชัย ไตรทิพย์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์กล่าวว่า กิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวิถีชีวิตชาวนาไทยที่กำลังจะเรือนหายไปแล้ว ยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงในการจ้างคนเกี่ยวข้าวอีกด้วย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจรัดตัวค้าแรงค่อนข้างหายาก
ประกอบกับล่าสุดพบว่า ค่าแรงในการจ้างเกี่ยวข้าวปีนี้ปรับสูงขึ้นวันละ 300 บาท บางพื้นที่พุ่งสูงขึ้นวันละ 400-600 บาท และยังต้องทำอาหารเลี้ยงอีก 3 มื้อ ทั้งนี้ ต้นทุนการทำนาในภาคอีสานส่วนใหญ่จะมีต้นทุนในการผลิตข้าวไร่ละ 3,500-3,700 บาท โดยจะได้ผลิตผลิตประมาณ 30-60 ถัง ซึ่งหากนำไปขายได้ถังละ 100 บาท ชาวนาจะขายข้าวได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 บาท
ทั้งนี้ หักต้นทุนการผลิตและค่าแรงแล้วจะเหลือเงินอยู่ไม่ถึง 1,000 บาท และหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปชาวนาก็จะประสบกับสภาวะขาดทุน ดังนั้น การลงแขกเกี่ยวข้าวจึงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ชาวนา