อุบลราชธานี -ผู้ประกอบการร้านแพอาหารริมแม่น้ำมูล เข้าสำรวจความเสียหายน้ำท่วมลด พบทั้งตัวอาคาร อุปกรณ์ตกแต่ง ถูกกระแสน้ำพัดจนเสียหายยับเยิน วอนรัฐบาลวางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบในปีต่อๆ ไปด้วย
หลังจากแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยวันนี้ (13 พ.ย.) ระดับน้ำลดลงอีก 13 เซนติเมตร ทำให้มีระดับน้ำล้นตลิ่งสูง 1.70 เมตร ผู้ประกอบร้านอาหารและแพริมแม่น้ำมูลที่หาดคูเดื่อ ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี ได้เข้าสำรวจความเสียหายของอาคารร้านค้าที่โผล่พ้นน้ำเป็นบางส่วน พบความเสียหายจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ได้พัดพาทั้งกระถางต้นไม้ ซุ้มนั่งทานอาหารที่ทำจากไม้ไผ่ และไม้เนื้อแข็ง รวมทั้งม้าหินอ่อน พื้นซีเมนต์ใช้ปูทางเดินกระจัดกระจายอยู่ตามพื้น
ขณะเดียวกัน น้ำยังกัดเซาะขอบถนนทางเข้าร้าน ทำให้ดินหลุดออกเกิดเป็นทางต่างระดับสูงกว่า 30 เซนติเมตร เจ้าของร้านต้องสั่งซื้อดินมาถมปรับระดับถนนใหม่ พร้อมซ่อมแซมอาคารเตรียมเปิดให้บริหารกับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายใน 2-3 วันข้างหน้านี้
นางวัชรี วงศ์พิมล เจ้าของร้านอาหารปลาจ๋า กล่าวว่า น้ำท่วมปีนี้สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา และน้ำยังท่วมถึง 2 รอบ โดยน้ำท่วมรอบสองสูงกว่ารอบแรกมาก ทำให้ไม่ทันเตรียมรับสถานการณ์ น้ำได้พัดพาข้าวของ รวมทั้งต้นไม้ที่เก็บไม่ทันไปกับกระแสน้ำ
ขณะนี้ยังประเมินความเสียหายของตัวอาคาร และค่าตกแต่งร้านไม่ได้ เพราะบางส่วนยังจมอยู่ในน้ำ แต่ได้เข้ามาฟื้นฟู เพื่อเตรียมให้บริการในอีก 2-3 วันข้างหน้า ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะปรับตัวลดลง จนสามารถให้บริการได้อีกครั้ง สำหรับความเสียหายทางรายได้ วันปกติจะมีรายได้วันละ 10,000-15,000 บาท ส่วนวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และต้องปิดร้านหนีน้ำท่วมมานานกว่า 3 เดือนแล้ว
เจ้าของร้านแพอาหารปลาจ๋า กล่าวต่อว่า สำหรับอนาคตต้องการให้ราชการมีการประเมินสถานการณ์น้ำในแต่ละปี เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ จะได้ไม่ส่งผลกระทบเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง และท่วมขังนาน เพราะแม้ได้รับเงินชดเชยก็ไม่คุ้มถ้ากิจการต้องถูกน้ำท่วมแบบนี้
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับแพอาหารส่วนใหญ่ที่อยู่ด้านในและเป็นที่ต่ำ ซึ่งมีประมาณ 70 ร้าน ยังมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร เจ้าของร้านยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจความและประเมินความเสียหายไม่ได้ในขณะนี้
ด้านชาวบ้านเทศบาลเมืองวารินชำราบ ที่อพยพหนีน้ำท่วมเข้าอยู่ในศูนย์อพยพนั้น บางครอบครัว เริ่มรื้อถอนเพิงพักชั่วคราว เพื่อเตรียมกลับไปใช้ชีวิตในบ้านที่ระดับน้ำเริ่มลดลง โดยชาวบ้านระบุว่า แม้ยังมีน้ำท่วมถนนเข้าชุมชน แต่ระดับน้ำลดลงจนเข้าไปในตัวบ้านได้แล้ว จึงอยากกลับเข้าไปอยู่ทันที เพราะช่วงนี้ กลางคืนอากาศเริ่มหนาวเย็น แต่กลางวันอากาศร้อน การพักอาศัยอยู่ในเต้นท์ทำให้บุตรหลานที่ปรับตัวไม่ได้เจ็บป่วย จึงตัดสินใจอพยพกลับเข้าไปอยู่ในบ้าน โดยไม่รอให้น้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ