xs
xsm
sm
md
lg

สดร.เตรียมติดตั้งกล้องหอดูดาวแห่งชาติ มั่นใจเสร็จสมบูรณ์ ธ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยกล้องโทรทัศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ส่งจากสหรัฐฯ ถึงประเทศไทยแล้ว เตรียมขนส่งนำติดตั้งที่หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ บนดอยอินทนนท์ มั่นใจเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานภายใน ธ.ค.54 นี้แน่นอน ขณะที่พิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือน ม.ค.55

วันนี้ (8 พ.ย.) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สดร.เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ขณะนี้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ที่ผลิตจากโรงงานของบริษัท EOS Technologies เมืองทูซอน มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ถูกขนส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว และเตรียมที่จะขนส่งต่อจากกรุงเทพฯ เพื่อนำมาติดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่

ในส่วนของการก่อสร้างฐานราก และอาคารควบคุมต่างๆ ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนของการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์และระบบควบคุม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคม 2554 นี้ตามกำหนดอย่างแน่นอน

ทั้งนี้การขนส่งกล้องโทรทัศน์ จะเริ่มทำการขนส่งมายังจังหวัดเชียงใหม่ในสัปดาห์หน้า ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อการขนส่งบ้าง แต่มั่นใจว่าไม่เป็นปัญหาอุปสรรคที่จะดำเนินการให้เป็นตามกรอบเวลา เพราะสามารถใช้เส้นทางเลี่ยงในการขนส่งได้

สำหรับพิธีเปิดใช้งานหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้อย่างเป็นทางการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดในเดือนมกราคม 2555 อย่างไรก็ตามกำลังอยู่ระหว่างการประสานกับสำนักพระราชวัง เรื่องการกำหนดวันที่แน่นอน โดยเบื้องต้นน่าจะเป็นในช่วงระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2555 ที่จะเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนึ่ง โครงการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เป็นโครงการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีจุดประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนจะได้มีการพัฒนาความร่วมมือในเชิงวิชาการ ร่วมกับสถาบันการศึกษา และนักวิชาการด้านดาราศาสตร์จากทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของ ประเทศไทย รวมทั้งจะเป็นผลดีต่อจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

ทั้งนี้ เหตุผลที่มีการเลือกดอยอินทนนท์ เป็นที่ตั้งของหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากเป็นจุดที่มีความเหมาะสมที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนความสูงกว่า 2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงพ้นจากระดับฟ้าหลัวแล้ว ทำให้จะไม่มีหมอกควันมาเป็นตัวบดบังทัศนวิสัย ทำให้สามารถใช้งานกล้องดูดาวได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยหากไปตั้งอยู่ในจุดที่ต่ำกว่า 2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลก็อาจจะมีปัญหาจากฟ้าหลัว และทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ที่ความสูงระดับดังกล่าวยังมีความหนาแน่นของอากาศน้อยกว่าพื้นราบประมาณ 30% ด้วย ซึ่งเป็นผลดี เพราะอากาศที่เป็นตัวดูดแสงมีปริมาณลดน้อยลงและเป็นผลดีต่อการใช้งานกล้องดูดาว อย่างไรก็ตาม แม้ยอดดอยอินทนนท์จะเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็ยังใช้งานกล้องดูดาวได้เพียงปีละประมาณ 8 เดือนเท่านั้น เนื่องจากในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่ไม่สามารถใช้งานได้อยู่แล้วเพราะมีฝนตก

ดร.ศรัณย์ ยังได้กล่าวถึงการดำเนินงาน ภายหลังจากกล้องดูดาวถูกติดตั้งและเปิดใช้หอดูดาวอย่างเป็นทางการว่า ยังคงมีภาระหน้าที่อีกมากที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้งานแลดูแลรักษากล้องดูดาว ขณะเดียวกัน ก็ต้องเดินหน้าทำการศึกษาวิจัยต่างๆ ควบคู่ไปด้วย โดยสถาบันมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ

ทั้งนี้ ในอนาคตนอกเหนือจากการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันแล้ว ทางสถาบันจะอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีความร่วมมือร่วมกันเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์พ่วงกับกล้องดูดาว เพื่อทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ ในด้านดาราศาสตร์

ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยต่างๆ หากสถาบันเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมดจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่เมื่ออาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ แล้ว ก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ องค์กรต่างๆ ที่ร่วมงานกับสถาบันก็จะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกล้องดูดาวประสิทธิภาพสูงเหมือนกล้องที่หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติในซีกโลกนี้มากนัก ขณะที่สถาบันเองก็จะได้รับข้อมูลต่างๆ ที่เกิดจากการศึกษาวิจัยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและความรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในประเทศด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น