xs
xsm
sm
md
lg

อ่านแผนถล่มเมืองนราฯ-ยะลา เกมนี้“บีอาร์เอ็น”คือผู้กำหนด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ...รายงาน

การก่อวินาศกรรมช่วงหัวค่ำในเขตเทศบาลนครยะลาเมื่อวันที่ 26 ต.ค. และเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากจะมีนัยยะของการก่อการร้ายเพื่อตอกย้ำบาดแผลเหตุการณ์ “ตากใบทมิฬ” ที่ทำให้เกิดการตายหมู่ของชาวมุสลิมกว่า 70 คน ซึ่งที่เวียนมาบรรจบครบรอบปีในวันที่ 25 ต.ค.แล้ว

ยังเป็นการให้คำตอบกับรัฐบาลว่า ณ วันนี้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีขีดความสามารถในการก่อการร้ายที่เหนือกว่าการป้องกันของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และเหนืออื่นใดการก่อวินาศกรรมย่านเศรษฐกิจการค้าของทั้ง 2 เมืองเป็นไปตามแผนการของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ที่วางไว้แล้ว นั่นคือ การขับไล่คนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยพุทธให้ออกจากพื้นที่ชายแดนใต้

เหตุผลที่ชัดเจนคือ เป้าหมายวินาศกรรมเป็นกิจการของคนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยพุทธ ย่านที่ถูกกำหนดเป็นโซนบอมบ์เป็นย่านธุรกิจที่เป็นของคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ และจำนวนเหยื่อ 90% ก็เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยพุทธ ส่วนมุสลิมที่เป็นเหยื่อคือผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์บอมบ์ ซึ่งมีการยืนยันว่าถูกระเบิดของตนเองเสียชีวิต

แผนก่อวินาศกรรมในย่านเศรษฐกิจของบีอาร์เอ็นฯ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น แต่มีมาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว และเกิดในย่านเศรษฐกิจการค้าของชายแดนใต้มาตลอด อาทิ การวางระเบิดย่านการค้าและธนาคารใน อ.เบตง จ.ยะลา โชว์รูมและโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี โรงแรมและสถานบันเทิงใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ย่านเศรษฐกิจหลักเขตเทศบาลนครยะลา รวมถึงสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และศูนย์การค้ากลางนครหาดใหญ่ เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งปวงของเหตุการณ์เหล่านั้นมีข้อมูลยืนยันว่า ล้วนแต่เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็นฯ เพื่อต้องการทำลายฐานเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในพื้นที่นั่นเอง

แผนการก่อการร้ายเพื่อทำลายฐานเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นการขับไล่คนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยพุทธออกจากพื้นที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และทุกหน่วยงานรัฐต่างก็ทราบดี โดยมีการวางแผนป้องกันพื้นที่ไข่แดงในเขตเมืองมาตลอด แต่การป้องกันของทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองไม่เคยประสบผลสำเร็จ ความสูญเสียจึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ชัดว่าหลังจากที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปรับแผนป้องกันเขตเศรษฐกิจในนครยะลาด้วยการกำหนดเป็นเซฟตี้โซน ให้ตำรวจและอาสาสมัครพลเรือนของฝ่ายปกครองเป็นผู้รับผิดชอบในเขตตัวเมือง ส่วนกำลังทหารรับผิดชอบรอบนอก อีกทั้งดึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจและ นายกเทศมนตรีมาร่วมรับผิดชอบ

แต่สุดท้ายปฏิบัติการ “ปิดไฟถล่มเมือง” ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ยังคงเกิดขึ้นเที่ยวล่าสุดก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนถึงความล้มเหลวของระบบเซฟตี้โซนที่หน่วยงานรัฐกำหนดขึ้นมา

สิ่งที่เป็นข้อสังเกตในการก่อวินาศกรรมของบีอาร์เอ็นฯ ในทุกครั้งคือ จะทำเป็น “วงจร” อย่างถ้าก่อเหตุที่ จ.นราธิวาสแล้ว รอบวงต่อมาต้องเป็นที่ จ.ปัตตานี หรือ จ.ยะลา ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นที่จังหวัดหนึ่งจังหวัดใด เจ้าหน้าที่ต้องวางแผน วางกำลังและหาข่าวเพื่อป้องกันพื้นที่ใน 2 จังหวัดที่เหลือ แต่ที่แล้วๆ มาก็ไม่เคยมีการป้องกันอย่างได้ผล

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ บีอาร์เอ็นฯ มีการปรับวิธีการก่อการร้ายเพื่อให้ได้ผลตลอดเวลา เช่น ระเบิดที่วางของในศูนย์การค้าเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เป็นระเบิดที่ประกอบขึ้นจากำดินระเบิดและน้ำมันเบนซิน เพื่อหวังผลในการวางเพลิงและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ส่วนระเบิดที่เขตเทศบาลนครยะลาเป็นระเบิดแบบจักรยานยนต์บอมบ์ทั้งหมด 18 จุด ตั้งเวลาด้วยนาฬิกาเพื่อให้ระเบิดในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

การที่บีอาร์เอ็นฯ ไม่ใช้สัญญาณโทรศัพท์เป็นตัวจุดชนวนระเบิดเหมือนครั้งก่อนๆ เพราะรู้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือรีโมทคอนโทรลในการจุดระเบิดอาจไม่ได้ผล เพราะเจ้าหน้าที่มีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ รวมทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือหรือรีโมทฯ ต้องใช้ “แนวร่วม” เพิ่มขึ้นอีก 1 ชุดเพื่อทำหน้าที่กดสัญญาณ ผิดกับการใช้นาฬิกาจุดระเบิดที่จะระเบิดไปเรื่อยๆ ในทุกจุดที่ถูกกำหนด โดยที่เครื่องตัดสัญญาณไม่สามารถช่วยอะไรได้

วินาศกรรมกลางเมือง 2 ครั้งติดต่อกันหนล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนตัว “เลขาธิการ ศอ.บต.” จากนายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และอยู่ระหว่างที่กองทัพกำลังปรับลดบทบาทของ ศอ.บต.ให้กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้กองทัพมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการดับไฟใต้ จึงกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

โดยเฉพาะการที่ พ.ต.อ.ทวี ถูกย้ายมาเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ได้กลายเป็นประเด็นที่บีอาร์เอ็นฯ นำไปโฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นแผนการที่จะใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับการที่กองทัพกำลังเข้าไปมีอำนาจเพียงผู้เดียวในการดับไฟใต้ และการนำเอาเรื่องของกองทัพและเรื่องของ ศอ.บต.มาโยงเข้ากับเรื่องสถานการณ์ของ “สงครามประชาชน” ในพื้นที่ จึงทำให้เกิดความตึงเครียดที่อาจจะสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ และทำให้สถานการณ์ของชายแดนใต้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

เมื่อนำเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ไปเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวนอกประเทศของ “ขบวนการพูโล” ที่มี “นายคัสตูรี มะโกตา” เป็นหัวหน้าขบวนการ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบหลังการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย โดยพูโลมีการส่งจดหมายทางเว็บไซต์ถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 4 ครั้ง มีทั้งโจมตีนโยบายของพรรคเพื่อไทยในการดับไฟใต้ และยืนยันว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบต้องจบลงที่การเจรจา

รวมถึงปฏิเสธการเคลื่อนไหวของ “นายยาเซร์ ปาต๊ะห์” ที่อ้างว่าเป็นแกนนำพูโลภาคพื้นยุโรป ซึ่งได้ประกาศสลายกลุ่มพูโลภาคพื้นยุโรปและเดินทางกลับมายัง จ.ยะลาแล้ว เพื่อร่วมกับกองทัพในการยุติการทำสงครามประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนายคัสตูรีออกมาระบุว่า นายยาเซร์เป็นเพียงคนนอกขบวนการคนหนึ่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการพูโลแต่อย่างใด

หากพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่เข้าใจกับปัญหา และการจัดการกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปล่อยให้มีความขัดแย้งทางนโยบายระหว่างหน่วยงานรัฐเกือบ 20 หน่วยในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปแบบยึดผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง นั่นก็เท่ากับว่าต่อไปนี้สถานการณ์ไฟใต้จะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ประชาชนมีแต่จะสูญเสียมากขึ้น ความแตกแยกระหว่างคนในพื้นที่จะขยายวงกว้างยิ่งขึ้น รวมถึงการอพยพของคนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยพุทธออกจากชายแดนใต้ก็จะเพิ่มมากขึ้น แล้วสุดท้ายคนมุสลิมในพื้นที่ก็จะตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจะถูกนำไปสังเวยสถานการณ์เช่นกัน

อันเป็น “เกม” ที่บีอาร์เอ็นฯ เป็นผู้กำหนด เพื่อนำวิกฤตไฟใต้ของไทยขึ้นไปสู่ “เวทีโลก” ได้ในที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น