xs
xsm
sm
md
lg

ชงสมาคมฯไทย-พม่าถกปัญหาเรือจีนแม้การค้าไม่กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่าประชุมประจำปีครั้งที่ 2
เชียงราย-สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่าประชุมประจำปีครั้งที่ 2 ระบุการค้าไทย-พม่ากำลังคืบหน้าไปด้วยดีแม้จะมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบอยู่บ้างแต่กับรัฐบาลใหม่ของพม่าน่าจะเคลียร์ปัญหาทุกอย่างได้ พร้อมแจงแม้ได้รับผลกระทบจากจีนงดการเดินเรือแต่ก็มีลู่ทางด้านอื่นชดเชยได้ ด้านหน่วยทหารพร้อมให้ความร่วมมือด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะถ้าอยู่ในน่านน้ำไทย

วันนี้ (17 ต.ค.) ณ ห้องดอยตุง โรงแรมแม่โขงเดลต้า บูติค อ.แม่สาย จ.เชียงราย สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า จัดประชุมสมาคมครั้งที่ 2 ประจำปี 2554 ขึ้น โดยมี พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร นายกสมาคมเป็นประธานโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมครบครัน

สินค้าไทยนำเข้าพม่าเป็นอันดับ 1

น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า สาขา จ.เชียงราย กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงราย ถือว่าเป็นไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการค้าพบว่าประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศพม่าผ่าน จ.เชียงราย ได้สะดวกมากกว่าในอดีตอย่างมาก สาเหตุเพราะเส้นทางคมนาคมมีการพัฒนาให้สะดวกสบายมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ของประเทศพม่าก็มีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนโดยเฉพาะการให้ รัฐฉานสามารถดูแลพัฒนาด้านเศรษฐกิจได้ด้วยตนเองโดยปัจจุบันรัฐฉานเก็บภาษีเพียง 3 % ที่เป็นสินค้าจากไทยเข้าพม่า ทำให้การค้าทางด้านนี้คึกคักอย่างยิ่ง

น.ส.ผกายมาศ กล่าวอีกว่าการค้าไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงราย นอกจากจะเป็นการนำเข้าและส่งออกผ่าน อ.แม่สาย แล้ว ยังมีการส่งออกผ่านทางเรือในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ด้วย โดยสินค้าจากท่าเรือเชียงแสนจะถูกส่งไปยังท่าเรือของประเทศพม่าที่ท่าเรือ บ้านโป่ง จ.ท่าขี้เหล็ก และท่าเรือสบหรวย ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร โดยมีอัตราส่วนการค้าที่ผ่าน อ.แม่สาย 70% และการค้าผ่าน อ.เชียงแสน 30% และการที่ประเทศจีนสั่งให้หยุดเดินเรือในแม่น้ำโขงทำให้มีผลกระทบบ้างแต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการค้าในภาพรวมเพราะสามารถถ่ายเทสินค้าไปทางด้านอื่นได้

สำหรับปัญหาอุปสรรคด้านการค้าไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงราย ที่พบในปัจจุบันคือการที่พม่าได้ออกระเบียบห้ามรถบรรทุกสินค้าบรรทุก น้ำหนักเกิน 18 ตัน เข้าพม่าจากเดิมที่กำหนดเอาไว้ที่ 28 ตัน สาเหตุเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อถนนใน เขตรัฐฉาน กระนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญเพราะสามารถถ่ายเทสินค้าไปหลายๆ เที่ยวเพื่อให้ได้น้ำหนักตามที่กำหนดแต่ปริมาณสินค้ายังคงเท่าเดิมได้ ทั้งนี้เส้นทางปัจจุบันสามารถขนส่งสินค้าจาก อ.แม่สาย เข้าไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก ไปยังเมืองเชียงตุง ตองจี มัณฑเลย์ ไปจนถึงกรุงย่างกุ้งได้แล้ว ส่วนเส้นทาง R3B แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-ต้าล้อ-จีนตอนใต้ พบว่ายังไปถึงแค่ชายแดนพม่า-จีน ที่เมืองลาเท่านั้น เพราะทางการพม่ายังไม่เปิดด่าน อย่างไรก็ตามด้วยสิ่งต่างๆ ดังกล่าวก็ได้ทำให้สินค้าไทยยังคงเข้าไปในพม่าได้อย่างสะดวก และทำให้สินค้าไทยโดยเฉพาะประเภทอุปโภคบริโภคกลายเป็นสินค้าที่มีการนำเข้า อันดับ 1 ในพม่าอยู่

รายงานข่าวแจ้งว่าทางสมาคมฯ สาขา จ.เชียงราย นำโดย น.ส.ผกายมาศ และที่ปรึกษาจาก ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง สภ.แม่สาย ฯลฯ เห็นด้วยกับแนวทางของสมาคมฯ สาขา จ.เชียงราย ที่ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่าในปัจจุบันนักท่องเที่ยวหรือคนไทยทั่วไปสามารถ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวหรือบอเดอร์พาส เดินทางผ่านด่าน อ.แม่สาย เข้าไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และสามารถเดินทางไกลถึงเมืองเชียงตุง ระยะทาง 168 กิโลเมตรได้ แต่กรณีชาวพม่านั้นได้รับอนุญาตให้เข้ามาได้แค่ตัว อ.แม่สาย เท่านั้น ดังนั้นจึงขอเสนอผ่านสมาคมฯ เพื่อให้ร่วมผลักดันให้นักท่องเที่ยวหรือกลุ่มผู้มีฐานะดีชาวพม่าที่อาจจะ เข้ามาซื้อสินค้า ท่องเที่ยว หรือรักษาพยาบาลให้สามารถเดินทางเข้ามาลึกถึงตัว อ.เมืองเชียงราย ได้ ซึ่ง พล.อ.เชษฐา และสมาคมฯ ได้รับเรื่องไว้พิจารณาต่อไป

ชมรมชิปปิ้งเชียงแสนถูกกระทบจากจีนงดเดินเรือ
 
ด้านนางเกศสุดา สังขกร รองประธานสมาคมฯ สาขา จ.เชียงราย ซึ่งเป็นประธานชมรมชิปปิ้ง อ.เชียงแสน ด้วย กล่าวว่าเดิมการค้าชายแดนทางเรือแม่น้ำโขงมีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฎว่าหลังจากเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในแม่น้ำโขงจนทางการจีนเรียกเรือ สินค้ากลับคืนไปหมด ได้ทำให้การค้ามีความซบเซาลงทันทีเช่นกัน ซึ่งก็เข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเนื่อง จากเป็นปัญหาที่มาจากนอกประเทศ ดังนั้นจึงเสนอให้ทางสมาคมฯ ได้นำไปผลักดันเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนเพื่อแก้ไข ปัญหาดังกล่าวต่อไป

กองกำลังผาเมืองชงสมาคมฯเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าครั้งนี้พบว่าได้มีตัวแทนจาก ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง และหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีการดูแลความปลอดภัยลุ่มแม่น้ำโขง ได้ชี้แจงว่าในเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเรือสินค้าจีนเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทยแต่เจ้าหน้าที่ไทยได้เข้าไปช่วยเหลือเรือหลังได้รับ แจ้งเหตุ ซึ่งก็พบว่าเรือได้ลอยคอมาอยู่แถวสามเหลี่ยมทองคำแล้วเมื่อตรวจค้นบนเรือก็ พบกองกำลังที่ยึดเรือได้หลบหนีไป ดังนั้นกรณีนี้ดูแลความสงบเรียบร้อยในภาพรวมจึงอยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้า หน้าที่ในพื้นที่จึงเห็นด้วยที่ทางสมาคมฯ จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป

ขณะที่นายชวลิต ฉัตรอุทุมพร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าการค้าไทย-จีน ที่ผ่านมาพบว่าจีนมีมาตรการสินค้าไทยถึง 20 มาตรการ แม้จะมีการลงนามความร่วมมือหรือเอ็มโอยูเชียงราย-จีนตอนใต้โดยเฉพาะคุนหมิงและเชียงรุ้งหรือจิ่งหงหลายสิบฉบับติดต่อกันมาหลายผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งถึงแม้จะไม่มีผลความคืบหน้าในเอ็มโอยูมากนัก แต่ก็ยังมีการค้าขายกันเพราะมีความ สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ดังนั้นตนจึงมองว่ากรณีความไม่สงบลุ่มแม่น้ำโขงเกิดจากการที่ 4 ชาติยังไม่มีการพูดคุยตกลงกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะไทย-จีน ที่แม้จะมีเอ็มโอยูจำนวนมากแต่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ส่งผลมากนัก กระนั้นตนก็เชื่อว่าแม้จะเกิดสิ่งใดจีนจะต้องพยายามส่งเสริมเศรษฐกิจลงภาค ใต้ตามนโยบายระดับประเทศอย่างแน่นอน เพราะปี 2558 กลุ่มประเทศอาเซียนจะเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของจีนในการขยายเศรษฐกิจลงใต้พอดี.
สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่าประชุมประจำปีครั้งที่ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น