xs
xsm
sm
md
lg

คำชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุดค้านการปล่อยผ่านโครงการทีโอซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

O คำชี้แจง
คดีหมายเลขดำที่ อ.๙๑๐ /๒๕๕๓
(วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา)

ศาลปกครองสูงสุด

วันที่ ๑๗ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ระหว่าง   สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๓ คน ผู้ฟ้องคดี

           คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม ๘ คน ผู้ถูกฟ้องคดี

ข้าพเจ้า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ซึ่งประกอบด้วย
นายวีระ ชมพันธุ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓
นายเกียรติภูมิ นิลสุข ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงที่ ๑๐
น.ส.อมรรัตน์ โรจนบุรานนท์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงที่ ๒๐
นายสำนวน ประพิณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๒๑ ถึงที่ ๓๐
นายธนวัฒน์ ตาสัก ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๓๑ ถึงที่ ๓๕
นายโชคชัย แสงอรุณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๓๖ ถึงที่ ๔๐
นางวนิดา แซ่ก๊วย ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๔๑ ถึงที่ ๔๓
ที่อยู่ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ เลขที่ ๗/๘๙ อาคาร ๑๐ ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ โทร. ๐๒-๖๒๙-๑๔๓๐ ต่อ ๑๔๗ โทรสาร ๐๒-๒๘๐-๖๒๘๕

ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งเรียกให้ทำคำชี้แจงจากศาลฉบับลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ โดยชอบแล้ว ผู้ฟ้องคดีใคร่ขอกราบเรียนชี้แจงมายังศาลปกครองสูงสุด ดังนี้

ข้อ ๑ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๔๓ คนได้ยื่นฟ้องเป็นประเด็นพิพาทต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีละเว้นเพิกเฉยต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวในมาตรา ๖๖ และ ๖๗ วรรคสอง และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ด้วยเช่นกัน
 
ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีเมตตามีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราว ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ โดยสั่งให้โครงการต่าง ๆ จำนวน ๗๖ โครงการ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ระงับการดำเนินโครงการไว้เป็นการชั่วคราวก่อน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ยืนยันตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง แต่ให้มีการยกเว้น ๑๑ ประเภทโครงการที่ศาลเห็นว่าไม่น่าที่จะเข้าข่ายโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓ สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิกรรมตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ที่เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยยึดหลักประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ฉบับลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก่อนหน้าที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาเพียง ๒ วัน อย่างผิดสังเกต ถึงความรวดเร็ว ฉับไว ของกระบวนการทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี ที่แสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือ เกื้อกูล หรือเอื้อเฟื้อภาคเอกชน ผู้ประกอบการอย่างรุกรี้รุกรนจนน่าเกลียด จนมองข้ามสิทธิของชุมชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ ไปย่างไม่ละอาย
 
ทั้ง ๆ ที่ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง ต้องมาเจ็บป่วย เป็นโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ บางครอบครัวต้องมาป่วยเป็นโรคมะเร็งเสียชีวิตเกือบทั้งบ้าน โดยมูลเหตุมาจากการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิ้น แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับมิได้ใส่ใจที่จะเร่งรีบจัดการแก้ไข เยียวยา ให้ฉับไวเหมือนช่วยผู้ประกอบการเช่นนี้ไม่ สะท้อนให้เห็นการปฏิบัติหน้าที่แบบ ๒ มาตรฐานในการดำเนินงานทางปกครองที่ชัดแจ้ง

ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมิได้ระบุว่าโครงการหรือกิจกรรม ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ของผู้ฟ้องคดีมีโครงการใดบ้างที่ไม่เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ และยังไม่มีผู้ใด หรือหน่วยงานใด ออกมาวินิจฉัยว่าโครงการหรือกิจกรรม ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ของผู้ฟ้องคดีมีโครงการใดบ้างที่ไม่เข้าข่ายโครงการตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เพราะโครงการและกิจกรรมส่วนใหญ่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ของผู้ฟ้องคดีล้วนแล้วแต่เป็นปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง ที่มีสารก่อมะเร็งกลุ่ม ๑ และกลุ่ม ๒ A ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งสิ้น และสารก่อมะเร็งดังกล่าวก็มีนับร้อยนับพันชนิดหรือประเภท
 
โดยเฉพาะทุกโครงการล้วนแล้วแต่มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายหรือ VOCs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มหนึ่งที่มีมากกว่า ๑๐๐ ชนิดขึ้นไป นอกจากนั้นก็ยังมีโรงไฟฟ้ามลพิษขนาดใหญ่ การถมทะเล การทำท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ รวมทั้งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมลพิษ ฯลฯ

เห็นจะมีก็แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้นที่ทึกทักเอาเองว่าโครงการส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ต้องด้วยต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว ซึ่งโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวหากฝ่าฝืนคำสั่งศาล โดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ วรรคสอง เสียก่อนดำเนินการแล้ว ผู้ฟ้องคดีจะรวบรวมนำข้อมูลมากราบเรียนแจ้งศาลถึงการละเมิดคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลต่อไป ทั้งในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องและพนักงานอัยการที่รับมอบอำนาจมาโดยไม่กลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องก่อนมาเสนอคำร้องต่อศาล

ข้อ ๒ กรณีที่โครงการโรงงานผลิตเอทีลีนออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ ลำดับที่ ๑๐ นั้น ผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ฉบับลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ จึงจำเป็นที่จะต้องกลับไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสองเสียก่อน นั่นคือ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ความเห็นเสียก่อน

ศาลที่เคารพ หลักกฎหมาย ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง หลักคือ การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เพราะจะไปกระทบสิทธิของบุคคลที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคแรกกำหนดไว้ คือ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

เมื่อรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง ในตอนท้ายได้เปิดช่องทางออกไว้เพื่อให้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่รอบด้านเสียก่อน เพื่อนำไปสู่การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการได้หรือไม่นั้น โดยต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะกล่าวอ้างว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จึงได้มีคำขอมายังศาลเพื่อให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาในส่วนของโครงการโรงงานผลิตเอทีลีนออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ ลำดับที่ ๑๐ เสียนั้น ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นชอบด้วย ด้วยเหตุผล ดังนี้

-โครงการดังกล่าวเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ทั้งนี้ตามความเห็นขององค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ชัดเจนว่า “ไม่เห็นชอบให้อนุมัติ / อนุญาต โครงการโรงงานผลิตเอทีลีนออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ดำเนินการต่อไปได้” เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ด้วยเหตุผล ๑๒ ประการ ปรากฏตามสำเนาจดหมายของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ที่ กอสส. ๓๘๑/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ เอกสารแนบ หมายเลข ๑ และ ๒

ซึ่งการได้มาซึ่งความเห็นดังกล่าวของ กอสส. ได้มาจากการศึกษาจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) ของโครงการดังกล่าวที่ว่าจ้างให้บริษัท คอนซัลแทนท์ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้จัดทำ ซึ่งได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ แต่งตั้งขึ้นแล้ว โดยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาโครงการ การเชิญผู้แทนโครงการมาให้ข้อมูล การลงพื้นที่สำรวจสถานที่ตั้งโครงการ การประชุมรับฟังข้อมูลและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปเป็นความเห็น ที่มีน้ำหนักและเป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่า หากอนุมัติ / อนุญาต ให้โครงการดังกล่าวดำเนินการต่อไปได้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพตามมา

ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียสำหรับโครงการดังกล่าว ตามขั้นตอนของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาตินั้น ข้อสรุปเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะขาดความมั่นใจและขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวในหลาย ๆ ด้าน ปรากฏตามเอกสารรายงานของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ชัดแจ้งแล้ว
 
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ ๘ กลับพยายามที่จะฝ่าฝืนมติมหาชน หรือประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งความเห็นขององค์การอิสระฯ โดยพยายามที่จะดำเนินการหลับหูหลับตาอนุมัติ / อนุญาตให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการโครงการดังกล่าวให้จงได้ ทั้ง ๆ ที่ข้อมูล และหลักฐานที่คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ได้นำเสนอในรายงานความเห็นที่ส่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๘ ทราบแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ก็มิสนใจในในข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวเลย ซึ่งจะให้ผู้ฟ้องคดีตีความไปอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกเสียจากหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดี โดยเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ เห็นกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) เป็นเพียงแค่เศษกระดาษ หรือใบเบิกทางที่จะผลักดันให้โครงการใด ๆ หรือกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาขอใช้ซื้อ/เช่าพื้นที่บริการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของตนให้จงได้เท่านั้น มิได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการที่ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) เลยว่าเพื่อต้องการให้เป็นเครื่องมือในการกรองปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่อาจจะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไม่ได้ โดยการไม่อนุมัติ / อนุญาต ให้โครงการใด ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ในพื้นที่นั้น ๆ เมื่อศึกษาและประเมินแล้วว่า “เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ”

ข้อ ๓ เมื่อพิจารณาตามตรรกะข้อมูลที่ผู้ฟ้องคดีได้นำเสนอและชี้แจงต่อศาลตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ข้างต้นแล้ว โครงการโรงงานผลิตเอทีลีนออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ ลำดับที่ ๑๐ ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ขอศาลได้โปรดให้ความเมตตาต่อชาวบ้านมาบตาพุด-บ้านฉางพิจารณา ให้คงระงับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวต่อไป เพื่อคุ้มครองและเห็นแก่ประโยชน์ต่อบุคคลและชุมชนในการที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนต่อไป ตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ให้การคุ้มครองไว้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

(นายศรีสุวรรณ จรรยา)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ผู้ฟ้องคดีที่ ๑

(นายวีระ ชมพันธุ์)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓

(นายเกียรติภูมิ นิลสุข)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงที่ ๑๐

(น.ส.อมรรัตน์ โรจนบุรานนท์)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงที่ ๒๐

(นายสำนวน ประพิณ)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๒๑ ถึงที่ ๓๐

(นายธนวัฒน์ ตาสัก)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๓๑ ถึงที่ ๓๕

(นายโชคชัย แสงอรุณ)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๓๖ ถึงที่ ๔๐

(นางวนิดา แซ่ก๊วย)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๔๑ ถึงที่ ๔๓
กำลังโหลดความคิดเห็น