xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.พิจิตรแจกเรือช่วยเหยื่อน้ำท่วม-ระดมทุกหน่วยร่วมวางแผน 9 ขั้นฟื้นฟูหลังน้ำลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร พร้อม ส.ส.ลุยแจกเรือช่วยเหยื่อน้ำท่วมต่อเนื่อง พร้อมระดมตัวแทนหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมสรุปบทเรียนวิกฤตน้ำท่วม วางแผน 9 ขั้นฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด

วันนี้ (15 ต.ค.54) นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ - นายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันมอบเรือพายจำนวน 62 ลำ ให้กับผู้นำชุมชนในเขตลุ่มน้ำยมและพื้นที่ อ.ตะพานหิน ที่ถูกน้ำท่วม ให้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาของประชาชน ซึ่งเป็นเรือที่จัดซื้อโดยเงินที่ได้รับบริจาคมาจากนักศึกษาวิทยาการตลาดทุน รุ่น13 ที่ผู้บริจาคเงินผ่าน อบจ.พิจิตร เพื่อให้นำไปจัดซื้อเรือ เครื่องยังชีพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ขณะนี้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำน่าน ปริมาณน้ำเริ่มลดลง แต่พื้นที่ในลุ่มน้ำยม น้ำยังคงท่วมสูง เพราะน้ำจากแม่น้ำปิง ได้ไหลย้อนเข้ามาจาก จ.กำแพงเพชร และเข้าไปยัง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จากนั้นน้ำจาก อ.บางระกำ ก็ไหลเข้ามาสมทบกับน้ำในแม่น้ำยม จึงยังทำให้ 5 อำเภอของพื้นที่ลุ่มน้ำยมของพิจิตร ได้รับความเดือดร้อนเป็นเวลานานกว่า 4 เดือนแล้ว อีกทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เรือพายเป็นพาหนะ

หลังจากมอบเรือเสร็จสิ้นนายชาติชาย ได้เปิดเผยผลการร่วมประชุมสรุปบทเรียนและรับฟังการแสดงความคิดเห็นจากเครือข่ายสมัชชาปฏิรูปจังหวัดพิจิตร ที่จัดเวทีเสวนาขึ้น โดยนายสุรเดช คุ้มวงศ์ ณ ห้องประชุมสภา อบจ.พิจิตร โดยมีบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพเกือบ 50 คน ที่มาร่วมถกปัญหาและแนวทางฟื้นฟูหลังน้ำลด

เช่น นายนพรัตน์ ตั้งกิตติถาวร ปลัดจังหวัดพิจิตร ,นายประเวศน์ ศิริศิลป์ ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดพิจิตร,นายเสรี เสียงวัฒนะ ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างจังหวัดพิจิตร ,นายธวัชชัย เลี้ยงประเสริฐ ท้องถิ่นจังหวัดพิจิตร ,นายสมศักดิ์ พรมชาติ นายก อบต.ดงป่าคำ และผู้นำชุมชนอีกหลายแห่ง ที่มาประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมว่า ที่ผ่านมาชาวพิจิตรได้มีความรักใคร่สามัคคีรวมพลังกันสู้กับวิกฤตน้ำท่วม อย่างไร เพื่อทำบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ที่จะใช้เป็นบทเรียนหากเกิดภัยพิบัติซ้ำขึ้นอีก

ทั้งนี้ พบว่าภาคประชาชน เช่น ตำบลดงป่าคำ ที่น้ำไหลท่วมถนนก่อนถึงวัดเขาปาช้าง ประชาชนมีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และเฝ้าระวังด้วยความเสียสละ ชาวอำเภอตะพานหิน พร้อมใจกันปกป้องย่านธุรกิจ มีส่วนร่วมในการแจ้งข่าวเตือนภัย

ชาวอำเภอโพทะเล เห็นเพื่อนบ้านตกทุกข์ได้ยากต่างออกมาร่วมกันเป็นอาสาสมัครทำแนวกระสอบทราย เพื่อกอบกู้ถนนให้ใช้สัญจรไปมาได้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก พร้อมทั้งตั้งโรงครัวดูแลกัน

เช่นเดียวกับประชาชนของตำบลไผ่หลวง ตำบลคลองคูณ ตำบลวังหว้า ที่แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ อย่างเช่น พระครูวชิรพุทธานุกูล หรือ “พระมหาวิรัช” รองเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร และ พระเมธีธรรมประนาท หรือ “ท่านเจ้าคุณปรีชา”เจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร วัดท่าหลวง ก็ยังออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน ในส่วนของ อบจ.พิจิตร ก็ตั้งโรงครัวหุงหาอาหารแจกชาวบ้านกว่า 20 แห่ง ทำให้ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 2 หมื่นคนอยู่ได้

ขณะที่ อำเภอโพทะเล ก็มีการระดมใช้รถแบ็กโฮ ทั้งของภาคเอกชนและภาคราชการ มาช่วยกันขุดแนวคันป้องกันน้ำท่วม ลงทุนค่า น้ำมันไปแค่ 4 แสนบาท แต่ปกป้องนาข้าวมูลค่า 200 ล้านบาทได้สำเร็จ แต่พอน้ำเข้าตลาดโพทะเล ชาวบ้านเริ่มแบ่งพรรคแบ่งพวกก็มี นายสุกิจ พรธาดาวิทย์ ปธ.สภา อบจ.พิจิตรและนายอนันต์ กิตติรัตนวศิน นายอำเภอโพทะเล ออกหน้าเจรจาขอความปรองดองสมานฉันท์จนสำเร็จ มีผู้ยอมเสียสละถึงแม้น้ำจะท่วมบ้านของตนเอง เพื่อให้วางแนวกระสอบทรายกอบกู้ถนนและตลาดโพทะเลให้สามารถทำมาค้าขายได้

นอกจากนี้ พ่อค้า คหบดี และนักการเมือง เช่น นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล หรือ “เฮียเซียะ” ประธานสภาอุตสหกรรม , นายบรรชา พงษ์อายุกูล หรือ “สว.ไก่” รวมถึง นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ หรือ “ลูกยอด” รมช.พาณิชย์ ก็ออกมารวมกลุ่มกันตั้งเป็นชมรม “เรารักพิจิตร”รวมถึงได้บริษัท อัครา ไมนิ่ง (เหมืองแร่ทองคำชาตรี)มาร่วมด้วยช่วยกันให้ทั้งสิ่งของและเงินสดรวมแล้วเกือบ 1 ล้านบาทให้มาตั้งโรงครัวรวมน้ำใจด้วย

นายชาติชาย ได้สรุปโดยย่อให้ผู้สื่อข่าวฟังได้ใจความว่า สิ่งที่ต้องทำทุกวันในภารกิจของ อบจ.พิจิตร แบ่งเป็นบันได 9 ขั้น คือ ให้ทำโรงครัวรวมน้ำใจให้พี่น้องที่ถูกน้ำท่วมได้มีข้าวกินอิ่มท้อง รวมถึงจัดยานพาหนะในการลุยน้ำเข้า-ออกหมู่บ้าน ,ต้องกระชับพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วมขยายวง - หาทางระบายน้ำออก

ขั้นที่สาม ประสานกับท้องถิ่นจัดเวรยามดูแลตรวจแนวกระสอบทรายและพนังกั้นน้ำมิให้เกิด ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบบ้านไผ่หลวงตะพานหิน หรือแบบตลาดนครสวรรค์ ขั้นที่สี่ ต้องกอบกู้ถนนเส้นทางคมนาคมและพื้นที่เศรษฐกิจ ขั้นที่ห้า ต้องดูแลให้ราษฎรมีอาหาร น้ำดื่ม ขั้นที่หก ติดตามเฝ้าระวังน้ำที่ท่วมขังนานๆแล้วเกิดเน่าเหม็น มีขยะ มียุง ต้องเร่งจัดการ

ขั้นที่เจ็ดได้ ขอความร่วมมือไปยังผู้นำชุมชน และ สจ.ทั้ง 30 เขต ให้สรรหาผู้ที่ว่างงานในยามที่ถูกน้ำท่วมทำบัญชีรายชื่อเตรียมไว้เพื่อ ประสานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงกระทรวงแรงงานให้บุคคลเหล่านี้เข้าฝึกอาชีพระยะสั้นซึ่งจะได้ทั้งความ รู้และเบี้ยเลี้ยง ขั้นที่แปดในยามที่น้ำเริ่มลดลงก็จะส่งหน่วยออกเก็บกวาดขยะและเก็บสิ่งของที่เสียหาย

ขั้นที่เก้า ซึ่งเป็นบันไดขั้นสุดท้าย คือ จะใช้งบประมาณของ อบจ.พิจิตร ในการฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิเช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ถนน ประปาหมู่บ้าน โดยจัดลำดับความสำคัญ จำเป็น เร่งด่วน เพราะ ทุกอย่างล้วนจำเป็นแต่บางครั้งก็ไม่สำคัญ บางอย่างสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน ซึ่งคงต้องทำให้ดีและให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้ได้มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น