ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดภาพประวัติศาสตร์บอกอดีตภูมิลักษณะสภาพที่ตั้งเมืองชลบุรี ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันแก้ไขได้หากเข้าถึงสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากรุกที่ดินปิดคลองสาธารณะให้แคบลง และทำให้หายไป มีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำไหล ท่อระบายน้ำอุดตัน เกิดกระแสชาวบ้านชื่นชมผู้ว่าฯวิชิตทำงานโดนใจ เตือนชาวชลเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนกับน้ำไหลหลาก แต่มีคำถามว่า อยู่กับทะเลแท้ๆ ทำไมน้ำท่วม..?
7 ภาพเก่าแก่ประวัติศาสตร์ที่นำเสนอนี้ บอกได้ถึงอดีตภูมิลักษณะสภาพที่ตั้งเมืองบางปลาสร้อย หรือชลบุรี จากภาพที่ 1 มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นบริเวณ 3 แยกที่ตั้งโรงพยาบาลชลบุรี จากถนนวชิรปราการไปบรรจบถนนสุขุมวิท ฝั่งตรงกันข้ามโรงพยาบาลเป็นที่ดินว่างเปล่า ปัจจุบันเป็นอาคารตึกใหญ่ๆ ของหน่วยราชการหลายหน่วยงานมาสร้างอยู่ในที่ดินผืนนี้
ภาพที่ 2 เป็นที่ตั้งหอพระพุทธสิหิงค์ ภาพที่ 3 บริเวณสี่แยกแต่เดิมเป็นที่ตั้งสถูปบรรจุอัฐิตำรวจ ชาวบ้านยุคนั้นเรียกว่าสี่แยกอนุสาวรีย์ตำรวจ ซ้ายมือเป็นโบสถ์เล็กๆ ที่เหลืออยู่ของวัดสวนตาลวัดโบราณเก่าแก่ อยู่ติดสำนักงานองค์การโทรศัพท์และศาลแขวง ปัจจุบันคือสี่แยกหอพระฯ ตรงไปขวามือ คือ ที่ตั้งสถานีตำรวจเมือง, กองกำกับ กองบังคับการ, กองบัญชาการภาค 2
เลยไปเป็นคลองบางปลาสร้อยขวามือ คือ ซอยนพรัตน์ในอดีตมีโรงแรมนพรัตน์ และร้านอาหารชื่อดัง อันคลองบางปลาสร้อยนั้นเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่สุนทรภู่กวีเอกของไทย ได้เดินทางมา และเผชิญมรสุมลูกใหญ่เมื่อเรือผ่านบางปะกง จะเข้าย่านบางปลาสร้อยจึงได้บนกับเจ้าเขาสามมุก (บนเจ้าแม่สามมุก) น่าอัศจรรย์เมื่อบนบานแล้วคลื่นลมก็เบาบางลง เกิดน้ำทะเลขึ้นจึงพายเรือเข้าฝั่งมาจอดที่คลองบางปลาสร้อยได้ ซึ่งสุนทรภู่ ได้พรรณนาไว้ในนิราศเมืองแกลง เมื่อคราเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่บ้านกร่ำเมืองแกลงระยอง
ตรงขึ้นไปเป็นโรงแรมบางปลาสร้อย ต่อไป คือ คลองโปษยานนท์ ปัจจุบันด้านขวามือเป็นตึกสูง มีอาคารที่พักอาศัย มีร้านอาหาร ถนนกับคลองโปษยานนท์นี้ ไปเชื่อมถนนพระยาสัจจาด้านใกล้ทะเล ตรงขึ้นไปเชื่อมสุขุมวิท ขวามือเป็นหน่วยงานสาธารณสุขครบวงจร ตรงข้ามเป็นร้านค้าที่พักอาศัยเป็นบริเวณที่น้ำท่วมมากเมื่อ 23 กันยายน 2554
ภาพที่ 4 เป็นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าถนนวชิรปราการ ศาลจังหวัดชลบุรี หอทะเบียนที่ดิน ขณะจัดงานประจำปีในปี 2490 มีที่ว่าการอำเภอเมือง โรงเรียนชลกันยานุกูล ที่ทำการไปรษณีย์ สำนักงานเทศบาลเมือง โรงเรียนอนุบาลชลหอกระจายข่าว
ภาพที่ 5 เป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรมน้ำปลาทั่งซังฮะ กับชุมชนสะพานท่าเรือพลี ซึ่งมีเรือประมงหาปลาจอดอยู่กับบ้านเรือน ด้วยชาวบ้านบางปลาสร้อยเมืองชลยุคนั้น ส่วนหนึ่งที่เป็นชาวประมงปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ในทะเล
ภาพที่ 6 เป็นบริเวณสี่แยกเฉลิมไทย จะเห็นที่ดินกลางตัวเมืองชลบุรีซึ่งเป็นที่ดินไร่,นา,สวน เป็นที่ดินอยู่สูงกว่าย่านชายทะเล ปัจจุบันตรงสี่แยกเป็นย่านธุรกิจศูนย์การค้า เป็นเส้นทางสัญจรไปมาทางรถยนต์ไปยังภาคต่างๆของประเทศ
ภาพที่ 7 เป็นภาพเขาสามมุกในอดีตที่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นสภาพเดิมล้วนๆ นับเป็นภาพที่หาดูได้ยาก ขณะที่เรือประมงทำการลงอวนจับปลาในทะเลหน้าอ่าวเขาสามมุก
ย้อนอดีตดูภูมิลักษณะสภาพที่ดินตั้งเมืองชลบุรี เปรียบกับปัจจุบันเมื่อความเจริญมีมากขึ้น มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารสำนักงานราชการ อาคารบ้านเรือนประชาชนเพื่อเป็นที่ทำการค้าขายเป็นที่พักอาศัยมากขึ้น
ดูตามภาพที่ 1 จะเห็นลักษณะสภาพที่ดินที่ตั้งโรงพยาบาลชลบุรี และที่ดินว่างเปล่าตรงข้ามในอดีต ซึ่งเป็นบริเวณน้ำไหลท่วมถนนสุขุมวิท 2 เลน และน้ำที่ไหลบ่าออกจากข้างโรงพยาบาล ซึ่งมีอาคารตึกแถวอาคารร้านค้าขวางทางน้ำไหล น้ำจึงไหลไปรวมกับที่มาจากถนนด้านบนท่วมสี่แยกชลชาย
หน่วยราชการต่างๆ ที่มาอยู่ก่อนเมื่อสร้างอาคารสำนักงานอยู่ในที่ดินว่างเปล่าผืนนี้นั้นก็ได้วางระบบท่อระบายน้ำไว้อย่างดีให้ไหลลงคูคลอง หน่วยราชการที่มาภายหลังก็สร้างถมที่ดินให้มีพื้นที่สูงขึ้นปิดทางน้ำไหล บางหน่วยได้ถมที่ดินปิดคูคลองระบาย ทำให้หน่วยราชการที่มาอยู่ก่อนถูกน้ำท่วมขัง ขณะนี้ต้นคลองเกลือ กลางคลองเกลือฝั่งบนถนนพระยาสัจจาถูกถมถาวร เหลือตัวคลองเกลือส่วนปลายด้านถนนพระยาสัจจาฝั่งล่าง ซึ่งคลองเกลือนี้สามารถรับสภาวะน้ำทะเลหนุนและรับน้ำฝนหลากได้ดี
ย้อนอดีตขึ้นไปครั้งเมืองบางปลาสร้อย หรือชลบุรีได้ผ่านการปกครองของเจ้าเมือง เดิมเรียกว่าผู้รักษาเมือง เริ่มที่พระยาชลบุรี (หวัง สมุทรานนท์) สมัยกรุงธนบุรี ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 และตระกูลเจ้าเมืองนี้ปกครองต่อๆ กันมาอีก ครั้นหลังปี พ.ศ.2437 มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำระบบเทศาภิบาลมาใช้ ชลบุรีจึงได้ผ่านการปกครองโดยตำแหน่งข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดอีกหลายท่าน นับถึงวันนี้เป็นเวลาเกินกว่า100 ปีขึ้นไป
ด้าน นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนคนแรก คือ หลวงบำรุงราชนิยม (สูญ สิงคาลวณิช)เมื่อปี 2479-2483 ท่านผู้นี้ทำงานด้านสาธารณะประโยชน์ไว้ให้กับชาวชลบุรี เช่น การสร้างท่อรับน้ำของถนนฝั่งบนตลอดสายวชิรปราการ วางแนวและปรับทางเดินเท้า 2 ฝากให้เป็นระเบียบ ถมหินและราดยางในถนนวชิรปราการ มอบที่ดินในท้องที่ ต.บ้านสวน ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนจั่นอนุสรณ์ แล้วมอบให้เป็นสมบัติของทางราชการ ร่วมมือกับ น.พ.สง่า วิชพันธ์ ย้าย รพ.ชลบุรีจากที่เคยอยู่กับป่าแสมชายทะเลให้มาอยู่ที่ปัจจุบันนี้ หลวงบำรุงราชนิยมนี้เป็นบุคคลสำคัญของชลบุรี มีผลงานช่วยเกื้อกูลทั้งด้านศาสนาและการศึกษาอยู่มาก
ครั้นเดือนพฤศจิกายนปี 2502 ถึง 30 กันยายนปี 2513 นายนารถ มนตเสวี มาเป็น ผวจ.ชลบุรี นายนารถ ได้พัฒนาชลบุรีสร้างความเจริญขึ้น เริ่มต้นการถมที่ดินป่าชายเลนด้านฝั่งตะวันตกของถนนวชิรปราการจำนวนหลายสิบไร่ เพื่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้นปี 2508 สร้างเสร็จมีพิธีเปิดใช้ 30 มีนาคม ปี 2510 ส่วนราชการฝ่ายปกครองสรรพากร อัยการ ป่าไม้ สรรพสามิต อุตสาหกรรม คลังจังหวัด สำนักงานการศึกษามาอยู่รวมกันเป็นศูนย์รวมปฏิบัติราชการขึ้น ต่อมาศาลจังหวัดชลบุรีมาสร้างอยู่ด้วย
จากนั้น นายนารถ ได้สร้างถนนพระยาสัจจา คู่ขนานไปกับถนนสุขุมวิท เป็นถนนริมชายทะเล และเริ่มต้นโครงการถมที่ดินป่าชายเลน ซึ่งเป็นป่าแสมป่าโกงกางเพื่อสร้างเมืองใหม่ในที่ดินตำบลเสม็ดกว่า 3,000 ไร่ นำเสนอโครงการไปยังกระทรวงมหาดไทยขอออกพระราชกฤษฎีกาแปรสภาพที่ดินน้ำลบ เพื่อใช้เป็นที่ส่วนราชการ เป็นการขยายชุมชนให้ประชาชนที่อยู่กันแออัดในตัวเมือง ได้มีที่ดินอยู่อาศัยที่เมืองใหม่แห่งนี้ เป็นส่วนที่ตั้งสำนักงานการไฟฟ้า โรงเรียน ที่ตั้งหน่วยตำรวจ เป็นสวนสาธารณะ เป็นสนามกีฬา เป็นที่ทำการด้านสาธารณสุข ผลงานการพัฒนาเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว ทำให้มีความเจริญเป็นอาคารการค้า หมู่บ้านที่อยู่อาศัย ที่ทำการธนาคารพาณิชย์ตลาดสด เกิดขึ้นบน 2 ฝั่งถนนพระยาสัจจา จนถึงเมืองใหม่ตำบลเสม็ดไปเชื่อมถนนอ่างศิลา ซึ่งเชื่อมต่อไปชายหาดบางแสนได้ในวันนี้
นายนารถ ได้พัฒนาโครงการสำคัญๆ สถานที่สำคัญๆ ไว้มาก โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนชาวชลบุรี เช่น สร้างพระพุทธสิหิงค์เนื้อเงินบริสุทธิ์ จำลองเท่าองค์จริง สร้างหอพระซึ่งเป็นพุทธสถานสำคัญยิ่งของชาวชลบุรีมาตราบเท่าทุกวันนี้ โดยผนึกพลังกับพลตรี ศิริ สิริโยธิน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ชลบุรี โดยมี นายอธึก สวัสดีมงคล นายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรีขณะนั้น เป็นคณะผู้ทำงานประสานด้านการพิธีทางศาสนาเป็นแรงสำคัญ
นายนารถ ได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ประดิษฐานไว้ หน้าศาลากลางหลังใหม่ มีพิธีเปิด 15 พฤศจิกายน 2511 เป็นศูนย์รวมดวงใจชาวชลบุรีชาวภาคตะวันออก และได้สร้างถาวรวัตถุอื่นสร้างค่ายลูกเสือวชิราวุธที่ศรีราชา สร้างตึกศรีสวรินทิรา ตึกศรีสังวาลย์ ตึกบรมราชเทวี โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา สร้างสถานสงเคราะห์คนชราภาคตะวันออกขึ้นที่อำเภอบางละมุง สร้างอาคารหลังใหม่ให้โรงเรียนชลกันยานุกูลและโรงเรียนชลราษฎรอำรุง สร้างตึกอำนวยการและตึกคนไข้พิเศษชลาธร รพ.ชลบุรี รวมถึงสถานตรวจโรคปอดชลบุรี
ทั้งราชการยุคนายนารถ และต่อๆมา ได้รักษาสภาพคลองระบายน้ำหลักๆไว้ ให้เป็นที่รับน้ำฝั่งตะวันออกให้ไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นคลองสังเขปบ้านโขด คลองบางปลาสร้อย คลองโปษยานนท์ ซึ่งบางคลองได้รับการบูรณะให้ดีขึ้นทำ 2 ข้างคลองด้วยคอนกรีตและเทคอนกรีตเสริมพื้น
ต่อไปก็คือ คลองเกลือ คลองยี่รัดเขตบ้านสวน จนถึงคลองข้างวัดเมืองใหม่ข้างหมู่บ้านริมทะเล เมื่อครั้งตัดถนนพระยาสัจจาผ่านลำคลองเหล่านี้ก็จะสร้างสะพานข้ามไป แต่เวลานี้ต้นคลองหลักๆได้หายไป มีการรุกพื้นถมที่คลองทำให้คับแคบลงทั้งด้านฝั่งบนและฝั่งล่างถนนสุขุมวิท
ด้านปัญหาน้ำท่วมเดือนกันยายน 2554 เป็นต้นมา การที่ นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.ชลบุรี เดินไปท่ามกลางสายฝนตกพรำๆ ท่องจ่อมน้ำท่วม เข้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านแต่เช้าตรู่ ดูสภาพน้ำท่วมสอบถามปัญหาจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองพัทยาหรือที่ตัวเมืองชล แล้วสั่งการให้อำเภอทุกอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติเป็นนโยบาย ตามแนวทางป้องกันและบรรเทาอุทกภัยร่วมกันทำงาน ผู้ว่าฯวิชิต ทำงานฉับไวทันใจทันเวลา จึงเกิดกระแสชื่นชมผู้ว่าฯวิชิต โดนใจประชาชนขึ้น ด้วยความเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้รับบรรเทาลง ทั้งขณะนี้เทศบาลบ้านสวนได้ลงมือลอกคลองเกลือไว้ระบายน้ำแล้วด้วย
แต่ 7 ตุลาคม 2554 ยังคงมีภาวะฝนตกหนักน้ำท่วมเมืองท่องเที่ยวพัทยา-นาเกลือ เกิดขึ้นอีก สัตหีบก็มีภาวะน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนให้ผู้สัญจรไปมา ทำให้สังคมตั้งคำถามกันมากว่า อยู่ติดกับทะเลแท้ๆ ทำไมน้ำท่วม? ได้บ่อยๆ เกิดอะไรขึ้นกับเมืองเหล่านี้ และสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้น้ำท่วมฉับพลันนั้นคืออะไร ท่อระบายน้ำอุดตัน หรือมีคนไปสร้างหมู่บ้าน ไปสร้างอาคารขวางทางน้ำไหล อะไรคือสาเหตุ
ล่าสุด 10 ตุลาวันนี้ มีฝนตกต่อเนื่องกันมาจากเมื่อคืนจนถึงรุ่งเช้าเวลา 08.30 น. นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ออกข่าวทางสื่อเรื่องเตือนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมว่าเพื่อแก้ไขสภาวะน้ำท่วม จึงขอให้ประชาชนชาวชลบุรีเฝ้าระวังและเตรียมรับน้ำทะเลหนุน น้ำบ่าไหลหลาก รวมถึงปัญหาการจราจรติดขัดพื้นที่ควรหลีกเลี่ยงเดินทางขณะมีฝนตกบนถนนสุขุมวิทแยกบ้านบึง แยกบางแสน บริเวณหน้า รพ.ชลบุรี-ชลชาย
ส่วนพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง มีพนัสนิคม พานทอง และ บางละมุง ผู้ที่อยู่ตามพื้นที่ราบลุ่มและตามชายฝั่งทะเล ส่วนข้อมูลน้ำทะเลหนุนท่วมนองถนนจาก ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้นำเสนอไปเมื่อปีกลายถึงต้นปีนี้ได้เกิดขึ้น 3-4 ครั้ง เดือดร้อนกันถ้วนหน้าในเขตเทศบาลเมือง บริเวณถนนตำหนักน้ำและย่านใกล้เคียง
สำหรับภาพถ่ายเก่าแก่มีอายุ 50-64 ปี อันเป็นภาพประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้ดีเหล่านี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทายาทของคุณฮุยหรือนายฮุย แซ่เตียว ห้องภาพเอกศิลป์ ที่ได้บันทึกภาพไว้ขณะมีอายุ 30 ปีและข้อมูลบางประเด็น (ที่นำมาอ้างอิง) จากหนังสือรวมเรื่อง “เมืองชล” ซึ่ง นายอธึก สวัสดีมงคล อดีตนายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ผู้ล่วงลับไปแล้ว กับนายธีรชัย ทองธรรมชาติ นายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรีคนปัจจุบันได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์ขึ้น
ที่เขตอำเภอเมืองชลบุรี วันนี้ ยังมีป่าชายเลนติดต่อกัน 3 เขตเทศบาลอยู่ มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีต้นแสมจำนวนมาก มีต้นลำพู ต้นโกงกางขึ้นอยู่ เสมือนหนึ่งเป็นกันชนไว้ป้องกันวาตภัย จากพายุคลื่นลมแรงหรือเมื่อมีมรสุมลูกใหญ่ๆเกิดขึ้น จากภาพเมฆทะมึนมืดครึ้มมีพายุฝนตั้งเค้า พร้อมภาพพายุฝนขณะตกหนักเป็นภาพถ่าย ซึ่งบันทึกไว้จากในเขตเวิ้งน้ำตื้นนั้น ซึ่งต่อมาได้เกิดกระแสน้ำไหลบ่าท่วมแถวบ้านสวนซอย9 และตามถนนสุขุมวิท ทั้งก่อนหน้า และ 23 กันยายน 2554
ภาพเช่นนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้ที่รุกพื้นที่คลองสายหลักๆ ด้านฝั่งบนสุขุมวิทหรือฝั่งล่างลงมาถึงถนนพระยาสัจจา ไม่ว่าจะเป็นที่ต้นคลองบางปลาสร้อย หรือต้นคลองโปษยานนท์หรือต้นคลองอื่นๆที่มีอยู่ทำให้พื้นที่ระบายน้ำมีน้อยลง คงเตือนใจว่าหากไม่หยุดการกระทำดั่งนี้แล้ว สักวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะเกิดเรื่องของอุทกภัยหนักกว่าที่เป็นอยู่
ปัญหาน้ำท่วมถนนในตัวเมืองบางอำเภอบางจุดที่เป็นอยู่นี้ ถ้ารู้จักเข้าใจสภาพพื้นที่จะแก้ไขได้ไม่ยาก ยิ่งได้ทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ภูมิลักษณะ ความเป็นมาของบรรพบุรุษชาวเมืองบางปลาสร้อยหรือชลบุรี หลายชั่วอายุคนที่ได้อยู่อาศัยร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองนี้ โดยมีคนไทยรักชาติทุกเชื้อชาติ ได้เข้าร่วมกับกองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินขณะเป็นพระยาวชิรปราการ เหมือนเช่นคนไทยรักชาติทุกคนกับคนไทยรักชาติภาคตะวันออกทุกจังหวัดในปี พ.ศ.2309-2310 เมื่อ 244 ปีมาแล้ว และสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีที่ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านในค่าย, สะพานหัวค่ายปัจจุบันคือซอยกลป้อมค่าย และช่วงที่เดินทัพผ่านบางพระเรือไปตั้งค่ายอยู่ที่วัดบางละมุง อ.บางละมุง ไปรบทัพจับศึกทำสงครามกู้ชาติทำการรบพุ่งขับไล่พวกพม่าจนได้ชัยชนะขับไล่ทัพพม่าแตกกระเจิงไป ซึ่งต่อมาต่างก็ได้ทำมาหากินอย่างเป็นปกติสุข
ชลบุรี หรือเมืองปลาสร้อย จึงมิได้เคยปรากฏมาก่อนว่ามีภัยพิบัติธรรมชาติจากอุทกภัย ที่มีฝนตกหนัก หรือจากวาตภัยมีลมพายุมรสุมพัดแรงถล่มบ้านพักอาศัยประชาชนพังพินาศ หรือมีผู้บาดเจ็บล้มตายเสียชีวิตแต่ประการใด จะมีก็แค่น้ำท่วมเจิ่งนองสร้างความเดือดร้อนรำคาญดังที่เป็นอยู่ แต่ถ้าจะมีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างแท้จริงแล้วต้องให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมนั้น ออกมาร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาก็ยิ่งจะทำให้น้ำท่วมมีแต่ลดน้อยลง
“ธรรมชาติจะไม่ลงโทษผู้คน ถ้าผู้คนรู้จักเรียนรู้เพื่อเข้าใจธรรมชาติ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ” เช่นอย่าถมที่ดินรุกริมคลองอันเป็นสมบัติสาธารณะไปเป็นของตัวเอง อย่าปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำไหลเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ช่วยกันรักษาปกป้องรักษาสภาพป่าชายเลนให้คงไว้ ก็จะไม่มีปัญหาน้ำท่วมประเภททำลายสิ่งของให้เสียหายหรือมีโศกนาฏกรรม จากวาตภัยพายุมรสุมคลื่นลูกใหญ่ๆมีกระแสลมแรงพัดบ้านเรือนพังหรือมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น แต่ขอว่าอย่าได้ประมาท
.........................................
โดย สุรัตน์ บัณฑิตย์ ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก E-mail : pj82@windowslive.com