ศูนย์ข่าวศรีราชา - แด่ “ปรีชา” นัก นสพ.ภูธรผู้ผนึกกำลังสู้จนยกเลิก ปร.42 ปลดโซ่ตรวนมัดมือมัดตีนคนทำข่าว!
นายปรีชา พบสุข เป็นนักหนังสือพิมพ์นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนในส่วนภูมิภาคของประเทศ โดยการเสนอข่าวความคิดเห็นหนังสือพิมพ์ของเขาเท่านั้น และไม่ลงเล่นการเมืองด้วยการสมัคร ส.ส. เขาเป็นหนึ่งในจำนวนนักข่าวนักหนังสือ พิมพ์ชลบุรี ที่เข้าร่วมสู้กับพวกเผด็จมาทุกสมัย ผลงานล่าสุดก็คือในปี 2532 กับ 2533 ขณะเขาเป็นแกนนำองค์กรซึ่งเขาเป็นนายกสมาคมฯอยู่เข้าร่วมการต่อสู้ร่วมผนึกกำลังกับองค์กรผู้ประกอบอาชีพสื่อในส่วนกลางและผู้รักเสรีภาพทั้งหลาย ปลดโซ่ตรวนที่พันธการคนทำข่าวออกมาได้ในที่สุด
วันนี้ ร่างของนายปรีชา พบสุข ในวัยชราอายุ 85 ปี ได้สิ้นลมหายใจด้วยโรคชรา และมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก ศพของเขาตั้งบำเพ็ญกุศลศพอยู่ที่วัดนอกในตัวเมือง แต่ผลงานของนักหนังสือพิมพ์ภูธรคนนี้ การต่อสู้ของเขาเป็นตำนานในชลบุรีและจังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งนายปรีชา ได้เขียนไว้ในสาสน์จาก นายกสนพท.(สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย) ในปี 2533 ว่า..ในนามของสมัชชานักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเพื่อร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คณะ ปฎิรูปการปกครอง ฉบับที่ 42 (ปร.42) ที่กดขี่หนังสือพิมพ์และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กดขี่เสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน(ตามภาพถ่าย)
จากการผนึกกำลังร่วมรณณรงค์ดังกล่าว ในที่สุดรัฐบาลประชาธิปไตยของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศพระราชกำหนดยกเลิก ปร.42 สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้กลับคืนมาอีกครั้ง..นี่คือผลงานของนายปรีชา พบสุข ขณะเป็นนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในปีนั้น ร่วมผนึกกำลังกับสมาคมสื่อฯ ในกรุงเทพฯ ร่วมกันปลดโซ่ตรวน ปร.42 ซึ่งกดขี่เสรีภาพของสื่อสารมวลชนมาเป็นเวลาช้านาน ได้เป็นผลสำเร็จ
สำหรับชลบุรี เป็นเมืองของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพสำคัญๆมากมายทั้งเคยถูกจับกุมขังในช่วงรัฐบาลทหารก็มีหลายคน มีนักหนังสือพิมพ์-นักเขียนหรือนักคิดดังๆหลายท่าน ซึ่งขณะนี้ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นส่วนใหญ่หรือที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ล้วนวัยสูงอายุเกินอายุ 67 ถึง 70 ปีขึ้นไป แต่นักคิดนักเขียนหรือผู้สื่อข่าวเหล่านั้นเป็นคนที่รักเสรีภาพได้ใช้ปากกาต่อสู้กับสิ่งที่จะเป็นภัยกับเสรีภาพของสื่อของประชาชนมาเป็นลำดับ เริ่มจากนายสหัส เกษตรศิริบรรณาธิการเจ้าของ นสพ.ตะวันออก ได้เสียชีวิตไปนานมากแล้วและเจ้าของนามปากกา “กำนันชัย” กับนายสนิท เอกชัยเป็นตัวอย่าง
รวมทั้งหลวงพ่อพระครูประวัติ วัดป่าชลบุรี ซึ่งได้เป็นคณะบรรณาธิการ นสพ.ตะวันออก เมื่อ นสพ.ปิดตัวเองลง ท่านได้บวชแล้วไม่สึกและเสียชีวิตในขณะที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ หลวงพ่อพระครูประวัติบุญกัลยา (อัตตะสะระโณ) ชื่อจริงก่อนบวชคือนายประวัติ บุญกัลยา เกิดเมื่อ ก.พ.ปี 2457 เสยชีวิตปี 2546 อายุ 89 ปี และพระครูปลัดประวัติท่านนี้มีส่วนร่วมสำคัญๆ ในการสร้างพระปิดตาวัดป่า (ผงหลวงพ่อแก้ว) ชลบุรี ที่มีชื่อเสียงหลายพิมพ์ด้วยกัน
ส่วนนายสนิท เอกชัย ซึ่งก็คือนักหนังสือพิมพ์เมืองชลคนน้ำเค็มเข้าไปอยู่เมืองกรุงฯเจ้าของนามปากกา“เรือใบ”เตรียมธรรมศาสตร์รุ่น4และเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ นสพ. “เดลินิวส์” ยุคสี่พระยาโดยใช้ฤกษ์ขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้นวันเสาร์ห้าในเดือนมีนาคมสร้างเดลินิวส์ให้โด่งดังขึ้นมา ส่วน“ กำนันชัย” นั้นมาทราบกันภายหลังว่า ก็คือนายอธึก สวัสดิมงคล ผู้ซึ่งเป็นคนดีของสังคมของประเทศ เป็นอดีตนายกสมาคมยุวพุทธิสมาคมผู้ล่วงลับไปแล้ว เขียนคอลัมน์ในนามกำนันชัยที่มีชื่อเสียงในวงการหนังสือพิมพ์ยุคนั้น ที่เอ่ยมานี้เป็นนักหนังสือพิมพ์ รุ่น 1 พิมพ์1ของจังหวัดชลบุรีในยุคนั้น ทั้งท่านทั้งหลายนี้ได้เขียนบทความดีๆในหนังสือพิมพ์ตะวันออกไว้มาก กระทั่งหนังสือพิมพ์ตะวันออกปิดตัวเองลงในที่สุดเพราะคำสั่งของราชการอันเข้มงวด การแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นในเรื่องสิทธิเสรีภาพถูกจำกัด
ส่วนนายปรีชา พบสุข ถือว่าเป็นผู้นำรุ่น 2 พิมพ์ 2 ของวงการนักหนังสือพิมพ์วงการสื่อที่ชลบุรีและยังผู้มีชีวิตที่เคยทำงานในช่วงปี 2508 นั้นอยู่อีก 3 คน
สำหรับนายปรีชา ผู้ซึ่งเสียชีวิตจากโลกนี้ในวัยอันคุ้มค่า 85 ปีนั้น วันหนึ่งเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เขาถูกพวกคนดังเมืองชล ส่งพวกมาทำร้ายด้วยการดักชกต่อยเอาถึงเลือดที่หน้าสมานมิตรไนท์คลับถนนสุขุมวิท ผู้เขียนถามนายปรีชาว่า..“จ่าไม่โกรธเขาหรือ..” นายปรีชาหรือจ่าปรีชาบอกว่า บอกเพียงว่า ถ้าเราไม่ลงข่าวแล้วเราจะทำหนังสือพิมพ์ไปทำไม ถ้าเขามาชี้แจงก็จะแก้ข่าวให้ แต่เขาเลือกวิธีนี้ไปแล้วก็ไม่ว่าอะไร การทำหนังสือพิมพ์ก็คือการเสนอข่าว เสนอความจริง นี่คือนายปรีชา พบสุขในวันนั้นปีนั้น ซึ่งถ้าวันนั้น หากพวกคนดังเลือกใช้อาวุธปืน นายปรีชาคงเสียชีวิตไปแล้ว นี่คือชีวิตเสี่ยงอันตราย ของ บก.หนังสือพิมพ์กับการนำแสนอความจริงที่เกิดขึ้น ข่าวคือข่าว ทำให้ถูกทำร้าย
จังหวัดชลบุรีนั้น ในอดีตมีนักหนังสือพิมพ์นักข่าว-ช่างภาพก็แค่เป็นคนข่าวภูธรหาข่าวโรงพักและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งข่าวให้ นสพ.รายวัน ส่วนกลางและทำงานกับ นสพ.ท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย ครั้งนั้น ชลบุรี มีหนังสือพิมพ์ชื่อตะวันออกรายสัปดาห์ของนายสหัส เกษตรศิริ รายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ชื่อบางแสนรายสัปดาห์ของนายปรีชา พบสุข หนังสือพิมพ์ไทยนครของนายประดิษฐ์ ลิ้มประเสริฐ และ นสพ.ชื่อไทยไทย ซึ่งหนังสือพิมพ์ในชลบุรียุคนั้นส่วนหนึ่งจะออกขายพร้อมกับข่าว พิมพ์จำหน่ายเป็นรายล็อตเตอร์รี่รัฐบาลออก ถ้าหวยออกราย 10 วันหนังสือพิมพ์ก็ออกราย 10 วัน หากออกราย 2 ครั้งต่อเดือนก็ออก 2 ครั้งเป็นต้น
ยุคนั้นชลบุรี มีผู้สื่อข่าวก็คือ นายสายัณห์ คนข่าว นายประกิจ จำเนียร (ช่างภาพ) นายณรงค์ ศิริวงค์ เป็นผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ทีวีช่องหนึ่ง และได้ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่จันทบุรี นายพายัพ วิรัชกุล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ (เสียชีวิตแล้ว) รวมทั้งพี่ใหญ่ของคนวงการหนังสือพิมพ์คือนายบรรจบ แก้วศิลป์ (เสียชีวิตแล้ว) อดีตหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งนสพ.พิมพ์ไทยรายวัน ที่กรุงเทพฯขณะอยู่ที่สี่แยกดินแดงกทม.เมื่อพิมพ์ไทยปิดตัวเองลง ก็มาทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์เสียงตะวันออก ฉบับแทบบลอยด์รายสัปดาห์
นอกนั้นมีนายอรุณ ศิริสุวรรณ ผู้จัดการสำนักงานเดลินิวส์ชลบุรี คุมงานข่าวภาคตะวันออก(เสียชีวิตแล้ว ) นายฉอ้าน วุฒิกรรมรักษา หัวหน้าข่าวประจำสำนักงานเดลินิวส์ชลบุรี(เสียชีวิตแล้ว) ขณะเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นายฉอ้าน เป็นนักศึกษาจากอินเดีย ต่อมาได้ศึกษาต่อขณะทำงานอยู่ที่เดลินิวส์กรุงเทพฯและจบได้ปริญญาถึง 3 ใบ ด้วยกัน
ส่วนอีกคนก็คือนายสุรเทพ ทุมมานนท์ ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ประจำชลบุรี(เสียชีวิตแล้ว)และสิบตำรวจเอกณรงค์ นกแสง หรือจ่าชด ชัชวาล นักจัดการรายการวิทยุข่าวอาชญากรรมกับข่าวทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งมาก เพราะเอาข่าวสดๆ ที่เกิดประจำวันมานำเสนอมิใช่อ่านจากหนังสือพิมพ์เท่านั้น(เสียชีวิตแล้ว)ร่วมกับนายสุรัตน์ บัณฑิตย์และนายอาทิตย์ มิตรเมืองชล ทางสถานีวิทยุ ปวถ.4
แต่..ก่อนที่นายปรีชา จะไปเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภูมิภาคและต่อมาเป็นนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคนั้น นายสุรัตน์ บัณฑิตย์ขณะเป็นคนข่าวของ นสพ.เดลินิวส์ สำนักงานภาคตะวันออก ได้รวบรวมพลพรรคจัดตั้งชมรมผู้สื่อข่าวชลบุรีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพราะว่าสถานการณ์ขณะนั้นมีอันตรายมีภัยคุกคามกับคนทำงานด้านข่าวและก็ลงมติกันเลือกนายปรีชา พบสุข เป็นประธานชมรมฯเป็นคนแรกในปีนั้นราว ๆ ปี 2511 เมื่อราว 43 ปีผ่านมาแล้ว
ที่ชลบุรีผู้ที่เคยร่วมงานและทำข่าวเป็นแนวร่วมกันในยุคปี 2508 เป็นต้นมายังมีชีวิตอยู่ปัจจุบัน มีนายสุรัตน์ บัณฑิตย์ ในวัย 73 ปี นายลออ อินทรพร ซึ่งเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ย้ายจากชลบุรีไปอยู่ทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ยังมีชีวิตอยู่อายุกว่า 74 ปี รวมทั้งนายวิวัฒน์ คชินทร เจ้าของ บก.หนังสือพิมพ์แดนสยาม นายเรืองศักดิ์ กิติมานนท์ศิริ “เสี่ยเนี้ยว” อายุ71ปี สังกัดค่ายเสียงตะวันออกเป็นที่ปรึกษา นายโสภณ สหายา ช่างภาพสังกัดเสียงตะวันออกรายวัน นายนิพนธ์ ศรีสุข นักเขียน นวนิยายและกวีสังกัดค่ายไทยนคร ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มไก่อยู่ที่อำเภอบ้านบึงซึ่งทั้ง6คนนี้ยังมีชีวิตอยู่
นายเรืองศักดิ์ มีอาชีพหลักทำร้านอาหารชื่อชายหาดมีชื่อเสียงอยู่ริมทะเลข้างที่ว่าการอำเภอเมืองขณะนั้น เป็นร้านที่ดาราภาพยนตร์นักแสดงต้องมาแวะทานอาหารหากมาตั้งกองถ่ายทำภาพยนตร์ในภาคตะวันออก เพราะ เขามีกิจการเป็นสายหนังภาคนี้ด้วยคือชายหาดฟิล์ม ซึ่งนายเรืองศักดิ์กับเสี่ยเชน บอสใหญ่ของไฟว์สตาร์ฯผู้บริหารอีกคนหนึ่งของทีวี.สีช่อง 3 สนิทสนมกันมาก นายเรืองศักดิ์ผู้นี้ได้ชักนำนายสมชาย คุณปลื้ม (กำนันเป๊าะ) ไปเป็นพระเอกหนังเรื่อง เหนือนักเลงแล้วต่อมาก็ไปสร้างหนังทองผาภูมิ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนั้นทำรายได้ดี ปัจจุบันนี้นายเรืองศักดิ์ วางมือทุกอย่างพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ขณะที่เขาทำกิจการสายหนังนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่กำลังบินเข้าเขมรที่เป็นข่าวโด่งดัง ก็เป็นสายหนังทางภาคเหนือเช่นกัน
เรื่องของคนข่าวคนหนังสือพิมพ์ เรื่องของชีวิตที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการในภูมิภาคนั้น ไม่ค่อยจะได้มีใครได้เขียนถึง ครั้นพอข่าวของนายปรีชา พบสุข เสียชีวิตในวัย 85 ปีเป็นข่าวในเวปไซด์ ASTV-ผู้จัดการ ก็มีเพื่อนร่วมอาชีพ พรรคพวกเก่าทราบกันมากลูกหลานที่อยู่ต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในวัย 68 ปีถึง 70 ปีขึ้นไป เมื่อได้อ่านข่าวจากเวปไซต์ ASTV-ผู้จัดการนี้นั้นก็ให้ความสำคัญกับข่าวชิ้นนี้ และก็มาเคารพศพกัน
แต่..อดีตของนายปรีชา พบสุข ก่อนหน้าวัย 85 ปี ก่อนจะเสียชีวิตนั้น เขาได้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเพื่อแสวงหาเสรีภาพให้กับสื่อให้กับคนหนังสือพิมพ์และต่อสู้ให้กับเสรีภาพของประชาชนมาแล้วอย่างโชกโชน ยังไม่เป็นที่ทราบกันของสังคมไทยวันนี้ สำหรับผู้เขียนเคยเป็นคนข่าวที่ นสพ.บางแสนของนายปรีชา พบสุข ในปี พ.ศ.2511 ช่วงสั้นๆ แล้วก็เข้ากรุงเทพฯไปโลดแล่นใช้ชีวิตทำข่าวอยู่ที่ เดลินิวส์ค่ายสี่พระยาแล้วจนถึงเดือนตุลาคมปี 2516
ขณะนี้งานบำเพ็ญกุศลศพของนายปรีชา พบสุขนั้น สมาพันธ์หนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชลแห่งชลบุรี ที่นายปรีชา ก่อนเสียชีวิตเป็นประธานที่ปรึกษาอยู่นั้น โดยมีนายณ ภัทร ขุนนากลัด เป็นประธานสมาพันธ์หนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนแห่งชลบุรี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานบำเพ็ญกุศลศพของนายปรีชา พบสุขโดยมีบุตรสาวคนโตคือ นางพิไลลักษณ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นเจ้าภาพซึ่งในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้ หลังสวดพระอภิธรรมศพแล้วหลัง2ทุ่มจะมีพิธีเก็บศพของนายปรีชา พบสุขไว้ที่วัดนอกด้วย
นายปรีชา คือตำนานชีวิตจริง ของนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคคนหนึ่งที่มีผลงานมากมาย แต่ก็ขอยกมาเรื่องเดียวก็คือการนำเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคเข้าร่วมต่อสู้จนยกเลิก ปร.42 ที่เป็นกฎหมายพันธนาการเป็นโซ่ตรวนผูกมัดคนทำสื่อได้ ดังนั้นชีวิตการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนทำสื่อเช่นนายปรีชา พบสุข ที่จากโลกนี้ไปแล้วในวัย85ปี..สมควรที่จะถูกเขียนถึงและบันทึกไว้!?
......................................
โดย สุรัตน์ บัณฑิตย์ E-mail pj82@ windowslive.com