ฉะเชิงเทรา - ลำน้ำบางปะกงล้นทะลักเข้าท่วมโครงการพัฒนาส่วนพระองค์บางแตน พังยับ แปลงผักไฮโดรฯ ปลอดสารพิษ มูลค่านับล้านลอยหายไปกับน้ำ เหตุจากรองรับการระบายจากรอบด้านเกินพิกัด ด้านชาวบ้านริมสองฝั่งระทม บ่อปลาหาย นาล่ม หนี้ท่วม
วันนี้ (5 ต.ค.) เวลา 11.00 น.ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้าน ในบริเวณพื้นที่รองรับการระบายน้ำจากรอยต่อ 3 จังหวัด ใกล้จุดของการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก ลงมารวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง ว่า หลังจากลำน้ำบางปะกงถูกเลือกให้เป็นลำน้ำสายหลัก ที่จะต้องรับการระบายมวลน้ำก้อนใหญ่จากทั่วทั้งภูมิภาค ออกสู่ทะเล ทั้งจากมวลน้ำจากทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำจาก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว และจากการระบายออกของเขื่อนขุนด่านปราการชล ใน จ.นครนายก
ทำให้น้ำจำนวนมากเหล่านี้ไหลออกลงสู่ทะเลไม่ทัน บ่าทะลักเข้าท่วมสู่พื้นที่โครงการส่วนพระองค์ บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี สูงถึงเกือบ 2 เมตร ทำให้พืชผลทางการเกษตรในโครงการต้นแบบลอยน้ำสูญหายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นโครงการตัวอย่างขึ้นชื่อของทางโครงการแห่งนี้ ที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากผู้บริโภค ได้ลอยสูญหายไปกับกระแสน้ำ และถูกน้ำท่วมเสียหายจนเกือบหมดทั้งโครงการ มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
ขณะที่ นางอารีย์ เกตุสวัสดิ์ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 ม.5 ต.บางโรง อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยยังด้านฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ของโครงการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำในแม่น้ำบางปะกงเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนอยู่อาศัยและนาข้าวจนได้รับความเสียหายกว่า 40 ไร่ กล่าวว่า ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าน้ำจะไหลออกมาจากแม่น้ำจนท่วมสูงมากถึงขนาดนี้ เนื่องจากไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน นับจากปี พ.ศ.2526 ที่เคยมีน้ำมาก ไหลเข้าท่วมพื้นที่มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ท่วมสูงมากถึงขนาดนี้
น้ำที่ไหลเอ่อล้นออกมานั้น แรกๆ มีความลึกไม่มากนัก เพียงแค่ระดับพื้นดินมีสภาพชุ่มแฉะ และเมื่อฝนตกลงมาก็จะท่วมสูงถึงระดับหน้าแข้ง ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.54 ที่ผ่านมา และจะท่วมอยู่ในลักษณะนี้หลายครั้ง จึงไม่ได้มีการเตรียมการเก็บข้าวของหนีน้ำ และยังไม่ได้เร่งรีบเก็บเกี่ยวข้าวก่อนกำหนด เนื่องจากไม่คาดคิดว่าจะถูกน้ำท่วมมาก่อน
แต่มาถึงสัปดาห์นี้ข้าวได้ครบกำหนดที่จะเก็บเกี่ยวพอดี จึงได้ไปว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวมา เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา จากนั้นจึงได้กำหนดนัดหมายให้รถเข้ามาเกี่ยวข้าวในวันพุธ แต่ไม่ทันที่จะได้นำรถลงเกี่ยวข้าว น้ำในปริมาณมากจากแม่น้ำบางปะกงได้ไหลล้นเอ่อออกมาท่วมบ้านเรือนและนาข้าวของคนทั้งหมู่บ้าน ระดับน้ำสูงจากพื้นดินจนถึงระดับเอว และมีบางหลังมีระดับท่วมสูงถึงลำคอ ข้าวของที่อยู่ในที่ต่ำที่เคยวางไว้ในใต้ถุนบ้านไม่ได้มีการจัดเตรียมเก็บรวบรวมเอาไว้ก่อนได้ลอยน้ำสูญหายไปจนหมด
สำหรับสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมหมู่บ้านในครั้งนี้ ทราบมาจากลูกๆ ว่า เป็นน้ำที่ถูกระบายออกมาจากทางภาคเหนือในตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไหลเข้าท่วมในกรุงเทพฯ
“ทำไมถึงห่วงนักห่วงหนาต่อคนกรุงเทพฯ ปล่อยให้ท่วมบ้างก็ได้จะปล่อยให้ชาวนาตายกันหมดหรืออย่างไร ตอนนี้บ่อปลา นาข้าวล่มเน่าเสีย ยังต้องเป็นหนี้สินกับร้านค้าที่ไปกู้ยืมเขามาลงทุน ทั้งค่ายาค่าปุ๋ยที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปจ่ายให้เขา” นางอารีย์ กล่าวในที่สุด
ด้าน นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงแห่งนี้ ได้ถูกเลือกให้เป็นลำน้ำสายหลักในการระบายน้ำออกสู่ทะเล จากพื้นที่ทางตอนเหนือของลำน้ำเจ้าพระยา และจากเขื่อนป่าสักชลสิทธ์ จริงโดยการระบายจะถูกส่งมาทางระบบของโครงการชลประทาน ผ่านมาทางคลองระพีพัฒน์ คลอง 13 และมาสูบระบายออกลงสู่แม่น้ำบางปะกง ตามสถานีสูบน้ำต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมลำน้ำบางปะกง
ทั้งสถานีสูบน้ำคลอง 6 วาสายล่าง ประตูน้ำสมบูรณ์ คลองบางขนาก ประตูน้ำท่าไข่ ประตูน้ำท่าถั่ว คลองพระองค์ไชยยานุชิต ประกอบกับยังมีน้ำในพื้นที่ ทั้งจากอ่างเก็บน้ำคลองระบม และสียัด ที่อยู่ในสภาพเต็มล้น จะต้องเร่งระบายพร่องน้ำออกลงสู่ทะเลเพื่อรองรับพายุที่จะขึ้นฝั่งเข้ามาอีกเป็นจำนวนมากหลายลูก ขณะที่ขีดความสามารถของลำน้ำบางปะกงในการระบายน้ำออกสู่ทะเลนั้น สามารถระบายน้ำออกได้ในปริมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงอาจระบายน้ำออกไม่ทันต่อปริมาณน้ำที่ถูกระบายผ่านเข้ามาในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง