ฉะเชิงเทรา - มาถึงแปดริ้วแล้วน้ำจากพื้นที่รอยต่อนครนายก และ ปทุมธานี ที่ถูกชาวบ้านบุกพังประตูระบายน้ำเมื่อวาน ก่อนไหลลงพื้นที่ปลายน้ำเข้าท่วมพื้นที่สูงใกล้แนวเขตตัวเมืองแปดริ้วแล้ว หลังผสมโรงรวมกับน้ำที่ไหลมาจากหลายด้าน
วันนี้ (28 ก.ย.) เวลา 16.00 น.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นางน้อย ทองประเสริฐ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54/2 ม.10 ต.คลองนครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านที่ปลูกบ้านเรือน อยู่อาศัยบริเวณริมคลองนครเนื่องเขต ว่า ได้เกิดน้ำไหลเอ่อล้นออกมาจากลำคลองขึ้นมาท่วมบ้านเรือน ที่พักอาศัยของชาวบ้าน รวมทั้งถนน เส้นทางการสัญจรภายในหมู่บ้านแล้ว จนทำให้การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านเป็นไปอย่างยากลำบาก
โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่จำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้าน เพื่อเดินทางไปโรงเรียนซึ่งระดับน้ำที่ท่วมพื้นที่อยู่นั้น ได้ไหลออกมาจากลำคลองสูงประมาณ 25-30 ซม.ทั้งที่พื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่สูงกว่าชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมคลอง ในเขต ต.คลองอุดมชลจรคลองหลวงแพ่ง และคลองเปรง ที่มักเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านแบบซ้ำซากมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในทุกปีเนื่องจากเป็นเส้นทางการระบายน้ำออกทะเล ทั้งจากทางภาคเหนือ และจากในกรุงเทพฯ โดยที่ ต.คลองนครเนื่องเขต นั้น ไม่เคยเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านมานานแล้วในรอบ 28 ปี นับจากปี พ.ศ.2526
โดยน้ำที่ไหลลงมาท่วมในครั้งนี้ เชื่อว่า เป็นน้ำที่ไหลลงมาจาก จ.นครนายก หลังจากเกิดกรณีปัญหา ชาวบ้านใน อ.องครักษ์ ได้บุกเข้าไปรื้อกระสอบทรายกั้นเหนือประตูระบายน้ำในเขตรอยต่อกับ จ.ปทุมธานี จึงทำให้น้ำที่ถูกรื้อกระสอบทรายที่กั้นไว้ปล่อยออกมา ไหลบ่าลงมาท่วมในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราด้วย เพราะเป็นคลองที่เชื่อมต่อมารวมเป็นลำคลองในสายเดียวกัน นางน้อย กล่าว
ขณะที่ นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังจากน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ ทั้งสองแห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองระบม และสียัด เต็มความจุแล้ว ขณะนี้ได้เร่งประสานไปทางกรมชลประทาน ให้นำเครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นโป๊ะจำนวน 2 ชุด มาทำการเร่งผลักระบายน้ำออกจากปากคลองท่าลาดลงสู่แม่น้ำบางปะกงแล้ว ซึ่งจะเป็นโป๊ะที่ทำงานคล้ายกับการจอดเรือผลักน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเร่งดันระบายน้ำออกให้ทันกับสถานการณ์ในพื้นที่ ที่คาดว่า พายุไห่ถาง จะทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการเร่งระบายพร่องน้ำออกจากทั้งสองอ่าง เพื่อเตรียมการรอรับมือ
โดยล่าสุด ในวันนี้น้ำได้ล้นออกมาจากทั้งสองอ่างแล้ว โดยเฉพาะอ่างสียัดที่มีความจุ 420 ล้าน ลบ.ม.ขณะนี้มีน้ำอยู่ในอ่าง 419.5 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งยังถือว่ามีปริมาณน้ำอยู่ในอ่างเต็มความจุ โดยการระบายออกสามารถทำได้เพียง 1.8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น ขณะที่ยังมีน้ำป่าไหลลงสู่ภายในตัวอ่างมากถึงวันละเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม.