กาฬสินธุ์ - อิทธิพลแก๊งรีดล้นฟ้า ประชุมครูศูนย์รับร้องทุกข์ไร้คนร้องทุกข์ แต่ร้องเรียนเพียบ ด้านรองผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ เร่งชี้แจงให้เหยื่อครูชี้เป้า ย้ำ ผู้แจ้งเบาะแสไม่มีความผิด เพราะตกเป็นเหยื่อกลโกง ยันไม่มีมวยล้มหากมีหลักฐานจับติดคุกทันที พร้อมเปิดช่องเขียนจดหมายถึงศูนย์ดำรงธรรม ด้านท้องถิ่นจังหวัดแฉช่องทางทุจริตเกิดจากกฎหมายท้องถิ่นให้อำนาจผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.อบต.มีอำนาจบรรจุเชื่องานนี้ไม่มีข้าราชการเอี่ยว
จากปัญหาการเรียกรับสินบนจากครูศูนย์เด็กที่ จ.กาฬสินธุ์ ตำแหน่งละ 3-5 แสนบาท ที่โยงใยไปถึงเครือข่าย ก.อบต.ผู้ทรงคุณวุฒิและนายก.อบต.บางคน ซึ่งทางจังหวัดพบว่ามีมูลความผิดเนื่องจากแก๊งสินบนได้ลงมือทำกันเป็นกระบวนการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งสืบสวนเพื่อทำการกวาดล้างขบวนการนี้ให้สิ้นซาก
ล่าสุด วันนี้ (4 ต.ค.) เวลา 10.00 น.ที่หอประชุมธรรมาภิบาลเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายธีระชัย แสนภูวา ท้องถิ่นจังหวัด และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เปิดประชุมครูผู้ดูแลเด็กทั่วทั้งจังหวัด เพื่อทำการชี้แจงความเข้าใจในการสอบคัดเลือกกรณีพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขันในตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็กเป็นข้าราชการ
หลังจากตกเป็นเรื่องอื้อฉาวในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 364 ตำแหน่ง มีการเรียกรับสินบนเพื่อรับราชการในตำแหน่งนี้ถึงรายละ 3-5 แสนบาท
เมื่อเริ่มประชุม นายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการร้องเรียนซึ่งมีการเรียกรับสินบน จากครูผู้ดูแลเด็กเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งมีปัญหาการร้องเรียนจริง พร้อมกับได้แจกเอกสารหลักเกณฑ์ในการดูแล โดยยืนยันว่า โครงการนี้ซึ่งเกิดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีเจตนาในการเรียกรับบรรจุอย่างเด็ดขาด พร้อมกับได้เปิดเวทีให้ครูผู้ดูแลเด็กทำการซักถามและร้องเรียน แต่ปรากฏว่า กลับไม่มีใครขึ้นมาซักถามแม้แต่คนเดียว
นายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ไม่พบว่ามีใครร้องเรียนแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้เชื่อว่าเกิดจากความกลัวที่จะให้ข้อมูลหรือซักถาม ซึ่งการประชุมก็จะมีอยู่ 2 วันคือวันที่ 4-5 ตุลาคมนี้ และหากไม่กล้าก็ขอให้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ได้เขียนบันทึกเป็นรายลักษณ์อักษรเพื่อชี้เป้าไปถึงบุคคลที่บงการ ซึ่งทางศูนย์ดำรงธรรมฯก็จะทำการสอบสวนในทันที
และยืนยันว่า ผู้เสียหายไม่ใช่คนผิด แต่จะต้องเอาผิดกับคนที่เข้าไปเรียกรับ ทั้งนี้ ข้อมูลในทางลับมีผู้เสียหายทยอยเข้ามาแจ้งข้อมูลไว้กับทางจังหวัดมากกว่า 20 ราย ซึ่งยืนยันว่า ปัญหานี้มีมูลความผิดจริง
“ผมจะไม่ปล่อยให้แก๊งสินบนเดินลอยหน้าลอยตาในสังคมแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าละอายน่ารังเกียจ การไปเรียกรับเงินกับ ครูศูนย์เด็ก ซึ่งมีเงินเดือนที่น้อยนิดบางคนรับเป็นแค่ค่าตอบแทนเดือนละ 2-4 พันบาทเค้าเหล่านี้จะไปหาเงินที่ไหนได้ อีกทั้งหากมีการกู้ยืมก็เป็นการตัดอนาคตกันชัดเจน”
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการบรรจุครูศูนย์เด็กเล็กจังหวัดกาฬสินธุ์ 364 อัตรา ก็จะยังคงดำเนินการต่อไปและจะให้แล้วเสร็จกันในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพราะในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาทุจริตจะเสียประโยชน์ แต่การดำเนินการลาดคอแก๊งรีดก็จะดำเนินการต่อไป เพราะสิ่งที่ทางจังหวัดต้องการคือผลการกวาดล้างขบวนการรีดไถ่ให้หมดไป จึงต้องการให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้ออกมาให้ข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อที่จะสาวให้ถึงตัวผู้บงการและขอยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่มีปัญหามวยล้มต้มคนดูแน่นอน เพราะหลักฐานที่ชัดเจนขนาดนี้หากไม่ดำเนินการก็ถือว่าเป็นการปล่อยปละละเลย
ด้าน นายธีระชัย แสนภูวา ท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาการร้องเรียนเรียกรับสินบนหัวละ 3-5 แสนบาทนั้นเกิดขึ้นจริง ซึ่งขณะนี้กำลังทำการชี้แจงไม่ให้ครูศูนย์เด็กตกเป็นเหยื่อ เพราะเท่าที่ทราบเส้นทางการเรียกรับจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริหาร อบต.บางแห่ง ที่จะได้รับการจัดสรรโควตาจากจำนวนการบรรจุ 364 อัตรา บาง อบต.ได้ 2 คน แต่มีครูผู้ดูแลเด็กถึง 6 คน ในจำนวนนี้บางคนที่ทุจริตก็จะทำการเรียกรับบางแห่งข่าวออกมาว่าก็มีการประมูลตำแหน่งใครให้สูงคนนั้นก็จะได้รับการเสนอชื่อ
“แต่ในเรื่องนี้แก้ไขได้ไม่ยากเพียงแต่ทุกคนไม่หลงกลไปตกเป็นเหยื่อ เพราะการจัดสรรตำแหน่งครูศูนย์เด็กเป็นข้าราชการ นโยบาย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำการบรรจุให้ทุกคนอยู่แล้ว แต่จะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ยกตัวอย่างหากไม่จบปริญญาตรี แต่มีอายุงานมากกว่า 3 ปีก็จะสามารถบรรจุได้เช่นกัน ดังนั้นหากไม่ได้ปีนี้ก็จะมีตำแหน่งเข้ามาในปีหน้าซึ่งก็จะได้บรรจุแน่นอนไม่ต้องเสียเงินเพราะการบรรจุจะต้องดูความอาวุโสกันการทำงานเป็นหลัก”
ท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการ ก.อบต.และผู้บริหารท้องถิ่น ตกเป็นเป้ากลายเป็นข้อครหาว่าเป็นผู้มีเอี่ยวในการรับสินบนครั้งนี้ แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็ขอเตือนให้ยุติความคิดเช่นนี้เพราะการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นบาปที่ไม่สามารถให้อภัยได้
นางเปรมใจ พิสุราช ผู้นำเครือข่ายผู้ดูแลเด็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นจริงในปี 2551 โดยกลุ่มเครือข่าย ผู้ดูแลเด็กทั้งประเทศเป็นตัวแทนในแต่ละจังหวัดได้ไปร้องขอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยที่ผ่านมา ทำการบรรจุครูผู้ดูแลเด็กเป็นข้าราชการ เพราะต้องการให้ครูผู้ดูแลเด็กรับราชการเพราะเราถือว่าเราก็เป็นครูเช่นกัน
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการโอนย้ายมาจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ครูศูนย์เด็ก มีรายได้เป็นค่าตอบแทนบางแห่ง อบต.ให้คนละ 2-3 พันบาทที่ไม่เพียงพอกับภาระค่าครองชีพ ขณะที่ความเป็นจริงครูศูนย์เด็กนับเป็นครูที่จะปลูกฝังให้กับเด็กได้มีพัฒนาการก่อนที่จะเข้าไปสู่ชั้นประถมศึกษา
เมื่อปรากฏข่าวเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าตกใจและไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ซึ่งก็ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กระชากหน้ากากออกมาประจานให้สังคมได้รับรู้ว่าใครเป็นคนที่ทุจริตกินสินบนตัวจริง