xs
xsm
sm
md
lg

“ส่วยบางระกำโมเดล” โผล่ไม่หยุด ชาวนาแฉถูก จนท.รัฐรีดค่าชดเชยรายละ 4 พันถึง 3 หมื่นบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - “บางระกำโมเดล” ฉาวไม่หยุด ชาวนาบางระกำ เมืองสองแคว แฉถูกภาครัฐรีดหัวคิวค่าชดเชยน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรรายละ 2 ไร่ หรือต้องควักเงินจ่ายสดๆ ให้กับผู้นำท้องถิ่น 4,400-30,000 บาทโดยอ้างว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้กับเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ และจังหวัด เผย ถูกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโทรศัพท์เช็คเป็นรายตัวให้นำเงินมาไปจ่ายทุกคน ขณะที่ชาวบ้านบางรายไม่กล้าปริปากหวั่นอิทธิพลในพื้นที่ ด้านผู้ใหญ่บ้านยอมรับ “หักจริง” โดยใครปลูกข้าว 10 ไร่หัก 3 ไร่อ้างเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล

วันนี้ (27 ก.ย.) ที่ศูนย์บางระกำโมเดล หรือที่ว่าการอำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก นายวิรัตน์ แดงซิว อายุ 50 ปีชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.บางระกำ อ.บางระกำ พร้อมชาวบ้านหมู่ 6 ต.บางระกำ หมู่ 15 ต.บางระกำ หมู่ 5 และหมู่ 10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จำนวน 10 ราย ได้เดินทางเข้าพบ นายธงชัย ทุ่งโพธิ์ทอง นายอำเภอบางระกำเพื่อยืนหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่ผู้นำท้องถิ่นเรียกเก็บเงินค่าชดเชยน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านรายละ 4,000-30,000 บาท แต่เนื่องจากนายอำเภอติดภารกิจ จึงได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ หมกทอง ปลัดอำเภอฯหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวแทน

นายวิรัตน์ แดงซิว แกนนำผู้ที่นำหนังสือร้องเรียนมามอบให้นายอำเภอบางระกำ เพื่อผ่านเรื่องดังกล่าวไปถึงนายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนพร้อมชาวบ้านกำลังได้ความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ซ้ำร้ายยังถูกผู้นำชุมชนมาเรียกเก็บเงินค่าชดเชยน้ำท่วมอีก ตนจึงอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบพฤติกรรมของนายสมศักดิ์ ถิ่นวงศ์แย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.บางระกำ นายแจ้ง ชูวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 ต.บางระกำ และนายชวลิต ยังเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ต.ชุมแสงสงคราม

โดยพฤติกรรมมีการเรียกรับผมประโยชน์จากประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม กรณีที่ชาวบ้านเป็นเกษตรถูกน้ำท่วมนาข้าวเสียหาย โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 2,222 บาท โดยพฤติกรรมของผู้ใหญ่บ้านทั้ง 3 คน มีพฤติกรรมเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านรายละ 4,000-30,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้กับเกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล

ชาวบ้านบุกร้องศูนย์ดำรงธรรม
โวยถูกหักค่าหัวคิวเป็นเงินสด

ต่อมาวันเดียวกัน กลุ่มชาวบ้านประมาณ 5 คน จาก ต.บางระกำ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ได้เดินทางมาที่ศูนย์ดำรงธรรมศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอความเป็นธรรมในกรณีถูกหักค่าหัวคิวเป็นเงินสดดังกล่าว นำโดย นายเชาว์ พันเปี่ยม ชาวนาวัย 43 ปีบ้านเลขที่ 10/9 หมู่ 5 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ

โดย นายเชาว์ ได้ให้ถ้อยคำกับศูนย์ดำรงธรรมว่า ตนและชาวบ้านอีกหลายคนได้จ่ายเงินให้กับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งหลังจากที่ได้รับแจ้งจากผู้ช่วยว่าเงินค่าน้ำท่วมไรละ 2,220 บาท ได้โอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.แล้ว หลังจากนั้น ตนจึงไปเบิกเงินสดมา 47,000 บาท และได้จ่ายเงินให้กับผู้ช่วยไป 4,400 บาท หรือ 2 ไร่ เพราะผู้ช่วยโทรศัพท์เช็กเป็นรายตัวให้นำเงินมาจ่ายโดยอ้างว่าต้องนำไปจ่ายให้กับทางจังหวัด ทำให้ตนต้องจ่ายไป ทั้งๆ ที่ผ่านมาพวกตนก็ถูกผู้ใหญ่บ้านหักค่าหัวคิวค่าแจ้งที่นาน้ำท่วมไปแล้ว เพราะตนปลูกข้าวไว้ 46 ไร่ ถูกหักเหลือ 22 ไร่ ยืนยันว่า ไร่นาของตนถูกน้ำท่วมทั้งหมด แต่บังเอิญไม่ใช่พวกของผู้ใหญ่จึงถูกตัดไปเหลือครึ่งเดียว เงินชดเชยที่ได้รับก็แค่ 22 ไร่ วันนี้ทนไม่ได้ เพราะยังมีเพื่อนบ้านอีกหลายคนที่ยังไม่ได้จ่ายเงินได้มาร้องขอความเป็นธรรม

เช่นเดียวกับ นายเชษฐ ชาวนาหมู่ 10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ บอกลักษณะเดียวกันว่า ตนปลูกข้าวไว้ 43 ไร่ ถูกน้ำท่วมทั้งหมด แต่พอไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านหลับถูกหักเหลือ 25 ไร่ ทำให้ได้รับเงินน้อยกว่าความเป็นจริง แต่ตนยังไม่ได้จ่ายเงินสดที่ผู้ใหญ่บ้านเรียกเก็บคนละ 2 ไร่ หรือ 4,400 บาทถ้วน แม้กระทั่งได้ต่อรองลดเหลือเงิน 4,000 บาท เขาก็ไม่ให้เขาอ้างว่าจ่ายเป็นค่าดำเนินการที่คนปลูกข้าว เมื่อทุกคนได้รับเงินชดเชยจาก ธ.ก.ส.แล้ว ทันทีที่เงินโอนเข้าบัญชีในแต่ละคน จะมีคนโทรศัพท์ไปทวง

นางสุมาลี กลิ่นจันทน์ ชาวนาชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ที่เดินทางมาร้องเรียนครั้งนี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านทั้ง ต.ชุมแสงสงคราม ต.บางระกำ ต.คุยม่วง อ.บางระกำ ถูกหักค่าหัวคิดรายละ 2 ไร่ทุกคนเพียงแต่ไม่มีใครกล้าแสดงตัว เพราะทุกคนกลัวกันหมดไม่ให้ข้อมูลความเป็นจริง หากลองไปถามผู้ใหญ่บ้านจริงๆ เขาก็ไม่ตอบ แต่เขารับเงินจากลูกบ้าน เพราะทุกครั้งทุกสมัย ผู้ใหญ่บ้านก็เก็บค่าหัวคิวคนละ 1 ไร่เป็นประจำ แต่มาครั้งนี้ เหมือนถูกซ้ำเติม เพราะน้ำทวมหนักกว่าทุกปี ก็ยังดีหน่อยถ้าใครปลูกข้าวไม่ถึง 10 ไร่ ก็ไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิว มาร้องวันนี้ก็เพื่อให้ศูนย์ดำรงธรรมตรวจสอบว่า เงินที่จ่ายไปรายละ 4,400 บาทเข้าจังหวัดส่วนไหน

ชาวบางระกำแฉถูกหักหัวคิวแจ้ง

อย่างไรก็ตาม พลเมืองดีชาวบางระกำได้โทร.แจ้งผู้สื่อข่าวว่า คนบางระกำดูเหมือนว่าภาครัฐจะดูแลเป็นพิเศษด้วยวาทะกรรม “บางระกำโมเดล” แต่ความเป็นจริงชาวนาบางระกำถูกเอาเปรียบซ้ำ ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่หมู่ 5 ต.ชุมแสงสงคราม ตรวจสอบพบว่าหลายคนไม่กล้าให้ข้อมูลเชิงลึก เพราะหวั่นเกรงอิทธิพลในพื้นที่ เพียงแต่ยืนยันว่า ถูกหักหัวคิวจริง ตั้งแต่แจ้งยอดน้ำท่วมกับผู้ใหญ่บ้าน แต่การจ่ายเงินสดหลังรับเงินจาก ธ.ก.ส.แล้ว กำลังไปจ่ายแก่ผู้นำท้องถิ่น เปิดเผยน้อยมากเพราะหวั่นกลัวอิทธิพลในพื้นที่ พบชาวบ้านชุมแสงบางคน แสดงอาการไม่ค่อยสมอารมย์นักเมื่อถามว่า ข้าวน้ำท่วมและแจ้งรับเงินชดเชยหรือไม่ เขาบอกเพียงว่า ตนไม่จำเป็นต้องบอกก็เหมือนกับที่ผู้สื่อข่าวทราบ เชื่อว่า ไปถามใคร ก็ไม่มีใครบอกความจริง เพราะโดนทุกปี หมู่ 10 ต.ชุมแสงสงคราม ก็มีควรไปถามที่นั้นดีกว่า ไม่ต้องให้ผมพูดหลอก

นางลัดดา เขียวแจ่ม พร้อมสามีเกษตรกรชาวนาไทย บ้านเลขที่ 48/1 หมู่ 5 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ เผยว่า ภาวะน้ำท่วมบางระกำปีนี้ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐดี คือ มีถุงยังชีพถึง 3 ครั้งและเพิ่งได้รับเงินชดเชยค่านาข้าวเสียหายไร่ละ 2,220 บาท ซึ่งตนปลูกข้าว 20 ไร่ แต่ต้องแจ้งกับเกษตรอำเภอบางระกำ ไว้เพียง 18 ไร่ ถูกหัก (ตั้งแต่ตนทางหรือบ้านผู้ใหญ่) ไว้ 2 ไร่ ชาวบ้านทุกคนโดนหักเหมือนกันหมด ยิ่งถ้าใครปลูกพื้นที่มากๆ ก็จะถูกหักมากกว่า 2 ไร่เสียอีก ตนเพิ่งเช็คยอดเงินจาก ธ.ก.ส.เมื่อวันที่ 21 ก.ย.54 พบว่า มีเงินโอนเข้ามาในบัญชี 39,900 บาท และจึงได้นำเงินไปซื้อเรือพลาสติกสีฟ้าลำละกว่า 4,000 บาท ส่วนการจ่ายเงินสดกับผู้นำชุมชนนั้นไม่ขอตอบดีกว่า

นายโกเมน ยังเจริญ ชาวบ้านหมู่ 5 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ เปิดเผยกรณีเงินชดเชยค่าข้าวน้ำท่วมอีกว่า ตนถูกหักเกินกว่า 2 ไร่ เพราะตนปลูกข้าว 37 ไร่ แต่ถูกหักจนเหลือ 28 ไร่ ทางผู้ใหญ่บ้านและเกษตรตำบล บอกว่า เกษตรอำเภอหักในอัตราส่วน 10 ไร่ หัก 3 ไร่ เหลือแจ้งกับเกษตรตำบล 7 ไร่ ทำให้ตนเหลือที่ดินแจ้งปลูกข้าวน้ำท่วมเพียง 28 ไร่เท่านั้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ทราบว่า มีเงินโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.เรียบร้อยแล้ว วันนี้ได้เงินมาก็ซื้อน้ำมันดีเซลสูบน้ำออกเพื่อปลูกข้าวรอบใหม่ ส่วนที่ถูกหักค่าหัวคิวเป็นเงินสดหลังจากรับเงิน ธ.ก.ส.แล้วนั้นให้ไปถามผู้ใหญ่บ้านจะดีกว่า

ผู้ใหญ่บ้านแจงยิบอ้างเพื่อช่วยรัฐบาลเท่านั้น

ด้านนายชูชีพ วงศ์กันหา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า กรณีการแจ้งพื้นที่ค่าชดเชยน้ำท่วมข้าวนั้น ยืนยันว่ามีการหักออกจากพื้นที่ของลูกบ้านที่แจ้งไว้จริง เพราะเกษตรตำบล เกษตรอำเภอระบุว่า ต้องแจ้งให้ต่ำ ลักษณะหัก ”หัวไร่ปลายนา” เพื่อช่วยรัฐบาลเท่านั้น ยืนยันว่าเงินจำนวนไร่ที่หักออกไปนั้นก็ไม่ได้ไปไหน ตนก็ไม่ได้รับ เกษตรตำบลก็ไม่ได้รับ เพราะรัฐบาลเขาโอนเข้าบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.

“ตัวเลขพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งราษฎรแจ้งไว้จำเป็นต้องหักนั้นในอัตราส่วน 30% ยกตัวอย่างเช่น นาย ก.มีพื้นที่ปลูกข้าว 40 ไร่จะต้องหักออกเหลือไว้รับเงินชดเชยประมาณ 28 ไร่ ทั้งนี้ นาข้าวชาวบ้านที่แจ้งเป็นข้าวเพิ่งตั้งท้องออกรวง สีเขียว ยังไม่แก่พอเก็บเกี่ยว อีกทั้งข้าวในท้องนาก็ไม่เสียหายทั้งหมด เก็บเกี่ยวไปได้บ้าง ที่ผ่านมาชาวบ้านหมู่ 5 มีจำนวน 160 คน มีพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายที่แจ้งกับอำเภอบางระกำ แล้ว 4,700 ไร่ ส่วนตัวเลขที่แจ้งให้กับเกษตรตำบล (เพื่อขอรับเงินชดเชย) จำนวน 3,300 ไร่

ประมวลข่าว “บางระกำโมเดล” แก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ!?


นายชูชีพ วงศ์กันหา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น