เชียงราย - ครูเชียงรายมาตามนัด รวมกลุ่มขอคำชี้แจงจากกรรมการสหกรณ์ครูฯ หลังนำเงินไปลงทุนซื้อหวย ส่อสูญเงินประกัน 478 ล้าน ที่ครบกำหนดสัญญาวันนี้ (1 ต.ค.) แต่ ปธ.ไม่อยู่ เจอแต่ ผจก.สหกรณ์ฯ ตัดสินใจรวมตัวขึ้นโรงพักแจ้งความเอาผิดระนาว ด้านประธานสหกรณ์ฯกลับโผล่โทร.แจงสื่อ ยันทำตามมติ-ไร้ผิด
วันนี้ (1 ต.ค.) คณะครูอาจารย์จากสมาพันธ์ครู จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย จำกัด นำโดยนายนิวัฒน์ จรุงจิตต์ รองประธานสหพันธ์ครู 16 จังหวัดภาคเหนือ และประธานสหพันธ์ครูเชียงราย และนายสมบัติ จักรสมศักดิ์ กรรมการสหพันธ์ฯ ได้พากันไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานของสหกรณ์ตั้งอยู่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการสหกรณ์ นำโดยนายวิศิษฐ์ ศรีนุช ประธานสหกรณ์ฯ ชี้แจงกรณีสหกรณ์ฯได้ไปลงทุนกับบริษัทจัมโบ้ ซัพพลาย แอนด์เซอร์วิส จำกัด ในการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ต่อมาบริษัทแจ้งยกเลิกสัญญา ซึ่งตามสัญญาระบุต้องคืนเงินที่สหกรณ์นำไปค้ำประกันกับสหกรณ์จำนวน 478 ล้านบาท ภายใน 60 วันซึ่งครบกำหนดในวันเดียวกันนี้
แต่ปรากฏว่า นายวิศิษฐ์ไม่อยู่สำนักงาน ทางคณะผู้ชุมนุมจึงเข้าไปสอบถามข้อมูลจาก น.ส.ศรีสงกรานต์ มณีรัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์ฯแทน ท่ามกลางบรรดาครูอาจารย์ที่ไปใช้บริการซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการชุมนุม ไม่แสดงท่าทีชัดเจน และบางคนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมโดยตะโกนร้องด่าด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควรด้วย
ขณะที่ น.ส.ศรีสงกรานต์ ระบุว่า เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเพียงประมาณ 3 เดือน แต่ก็ยอมรับว่าสหกรณ์ฯ ยังไม่ได้รับเงินค้ำประกันจำนวน 478 ล้านบาทคืนจริง แต่ทางคณะกรรมการสหกรณ์กำลังแก้ไขปัญหาอยู่ โดยรายละเอียดคงต้องรอคณะกรรมการสหกรณ์ฯเป็นผู้แจ้งให้ทราบต่อไป
น.ส.ศรีสงกรานต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยืนยันเช่นกันว่าเรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของสหกรณ์ฯ เพราะมีเงินหมุนเวียนอยู่กับสมาชิกร่วม 1.54 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินจากสถาบันการเงินอื่นๆ ประมาณ 7,000 ล้านบาท หุ้น 3,000 ล้านบาท เงินฝากประมาณ 3,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินที่เป็นปัญหาถือว่าน้อยมาก
รวมทั้งได้รับทราบว่าหลังลงทุนกับบริษัทดังกล่าวได้ทำให้สหกรณ์ฯได้กำไรเช่นกันจำนวนประมาณ 24 ล้านบาท แต่เรื่องเงินค้ำประกันที่ยังไม่ได้คืนยังคงให้คำตอบไม่ได้
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าเมื่อได้คำตอบดังกล่าวคณะครูอาจารย์ที่มารวมตัวชุมนุมได้พากันนำหลักฐานเป็นเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับบริษัท รวมทั้งลายมือชื่อสมาชิสหกรณ์ประมาณ 500 รายชื่อ ไปแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการสหกรณ์ฯที่นำโดยนายวิศิษฐ์ ศรีนุช ที่ สภ.เมืองเชียงราย สาขาย่อยบ้านดู่ โดยมี ร.ต.อ.พีรภัทร อุ่นนันกาศ ร้อยเวรรับเรื่องเอาไว้เพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไป
นายนิวัฒน์กล่าวว่า สาเหตุที่พวกเราดำเนินการดังกล่าวเพราะหากว่าดำเนินการตามแนวทางปกติคือแจ้งต่อคณะกรรมการสหกรณ์ฯให้แก้ไข ก็จะมีขั้นตอนยาวนานมาก ต้องใช้เวลาถึง 55 วัน เกรงว่าจะส่งผลต่อพยานหลักฐานต่างๆ และสหกรณ์ฯก็จะเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเห็นสมควรต้องถอดถอนคณะกรรมการชุดนี้ออกไปก่อน เพื่อให้ชุดใหม่เข้าไปบริหารโดยอยากให้ทางสหกรณ์จังหวัดในฐานะนายทะเบียนได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มงวดด้วย เพราะหลักฐานต่างๆ มีความชัดเจนมาก
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับข้อกล่าวหาที่ทางคณะครูอาจารย์ เข้าแจ้งความระบุว่าการนำเงินจากสหกรณ์ไปร่วมลงทุนกับเอกชนดังกล่าวไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ ปี 2542 และผิดข้อบังคับสหกรณ์ รวมทั้งยังมีการนำเงินของสหกรณ์ฯ ซึ่งมาจากสมาชิกร่วม 10,000 กว่าคนไปลงทุนชำระค้ำประกันการจองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับเอกชนเป็นจำนวนกว่า 556.95 ล้านบาท จากนั้นให้เอกชนโอนจ่ายเงินเป็นรายงวดตั้งแต่เดือน พ.ย.2553 ไปจนหมดสัญญาเดือน พ.ย.2555
แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาเอกชนโอนเงินให้เป็นเช็คธนาคาร และไม่ลงวันที่ด้วย จนเมื่อวันที่ 30 ก.ค.54 ที่ผ่านมา กลับถูกเอกชนแจ้งยกเลิกสัญญาและไม่คืนเงินที่คงค้างจำนวน 478 ล้านบาทจนสร้างความเสียหายขึ้น นอกจากนี้พบว่า การซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ส่อพิรุธ โดยซื้อมาฉบับละ 73.60 บาท และขายให้สมาชิก 83 บาทด้วย
ขณะที่นายวิศิษฐ์ ได้ชี้แจงทางโทรศัพท์ไปยังสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย ว่า โครงการดังกล่าวทางคณะกรรมการสหกรณ์ฯได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 17 ก.ค.2553 และมีมติให้ดำเนินการได้ เพราะนายทะเบียนของสหกรณ์ฯได้แจ้งแนวทางให้แล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำเช่นนั้นเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ฯนำไปขายทำกำไรและเป็นรายได้ รวมทั้งมีผลกำไรเข้าสหกรณ์ฯไปพร้อมๆ กัน
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2554 ก็ได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและที่ประชุมได้รับรองงบดุลทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตามนายวิศิษฐ์ ก็ยอมรับว่า หากไม่ได้เงินคืนก็จะแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทต่อไป
นอกจากนี้ระหว่างที่มีการชุมนุมวันนี้ สหกรณ์ฯได้ออกหนังสือชี้แจงสมาชิก โดยให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมและข้อกล่าวหาที่มีการแจ้งความดำเนินคดี โดยระบุว่า ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาฉบับละ 73.60 บาทจริง แต่ขายในราคา 74.60 บาท ทำให้ได้กำไรฉบับละ 1 บาท รวมทั้งระบุว่าเงินจำนวน 478 ล้านบาทคิดเป็น 3% ของทุนดำเนินการทั้งหมดจึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสถานะของสหกรณ์ด้วย