เชียงราย - ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย ยันลงทุนซื้อสลากออมทรัพย์ขายไม่ผิด ที่ประชุมใหญ่ไฟเขียว แถมรับรองงบดุลแล้ว รับหากถูกเบี้ยวก็จะฟ้องร้องตามกระบวนการ ขณะที่รอง ปธ.สหพันธ์ครูเหนือ แฉเสี่ยงสูญเงินแน่ ล่าสุดพบขออนุมัติเบิกเงินสู้คดีแล้ว
หลังสหพันธ์ครูเชียงราย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เพื่อเรียกร้องให้ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย ตั้งอยู่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย แสดงความรับผิดชอบ กรณีสหกรณ์ได้ไปลงทุนร่วมกับบริษัทจัมโบ้ ซัพพลาย แอนด์เซอร์วิส จำกัด เพื่อทำธุรกิจจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2553 โดยมีการนำเงินทุนของสหกรณ์กว่า 556.95 ล้านบาท ไปค้ำประกันกับบริษัท ขณะที่บริษัทจ่ายคืนเงินมาในรูปของเช็คธนาคารโดยไม่ระบุวันที่ ซึ่งทางสหพันธ์ฯ ระบุว่าได้ส่งผลเสียอย่างหนัก
เพราะล่าสุดวันที่ 30 ก.ค.54 ที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้แจ้งยกเลิกสัญญาซื้อขายกับสหกรณ์ ซึ่งตามปกติบริษัทจะต้องคืนเงินค้ำประกันและเงินค่าสลากให้กับสหกรณ์ภายในกำหนด 60 วัน
แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันเอกชนยังไม่ชำระเงินที่คงค้างรวมทั้งหมด 478 ล้านบาทให้กับสหกรณ์แต่อย่างใด จึงมีการนัดกันไปชุมนุมเรียกร้องกันที่สำนักงานสหกรณ์ในวันเสาร์ที่ 1 ต.ค.54 นี้นั้น
ล่าสุดนายวิศิษฐ์ ศรีนุช ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย กล่าวว่า ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุนซื้อโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลทางคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 17 ก.ค.2553 ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการได้ เพราะทางสหกรณ์ได้ทำการสอบถามนายทะเบียนของสหกรณ์ไปแล้ว ซึ่งก็ได้มีการให้แนวทางว่าสามารถปฏิบัติได้ สหกรณ์จึงได้นำเงินไปลงทุนซื้อโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลในวงเงินดังกล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า จากนั้นได้มีการนำเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ได้ไปให้กับสมาชิกสหกรณ์เพื่อนำไปขายทำกำไร นอกจากนี้อีกส่วนจะมีคนมารับซื้อต่ออีกทอด ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือสมาชิกให้มีรายได้รวมทั้งมีผลกำไรเข้าสหกรณ์ฯ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.54 ก็ได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งที่ประชุมได้รับรองงบดุลทั้งหมดแล้วเช่นกัน ดังนั้นหากทางบริษัทฯ ไม่นำเงินทั้งหมดมาคืนทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงรายก็จะแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทฯ ดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์ จรุงจิตต์ รองประธานสหพันธ์ครู 16 จังหวัดภาคเหนือ และประธานสหพันธ์ครูเชียงราย กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่าทางสหกรณ์จะมีการขออนุมัติเพื่อนำเงินจำนวน 300,000 บาท ไปสู้คดีกรณีต้องฟ้องร้องบริษัทฯ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องปลายเหตุ เพราะผลของการกระทำได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว การไปสู้คดีจึงเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะออกเป็นเช่นไร
นอกจากนี้ พบพิรุธว่ากรณีการทำธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับบริษัทนั้น ทางสหกรณ์จ่ายเป็นเงินไปให้แต่บริษัทกลับจ่ายกลับมาเป็นเช็คธนาคารซึ่งไม่ระบุวันที่ลงในเช็คด้วย ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง