xs
xsm
sm
md
lg

ชาวลุ่มน้ำชีในร้อยเอ็ดจี้รัฐบาลแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

เผยแพร่:

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชาวบ้านลุ่มน้ำชี 3 ในจังหวัดร้อยเอ็ด 3 อำเภอโพธิ์ชัย อ.ทุ่งเขาหลวง อ.อาจสามารถ อ.เสลภูมิ เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้วิกฤตปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากยาวนานร่วม 12 ปี เผยสาเหตุหลักเพราะมีสิ่งกีดขวางทางเดินน้ำในแม่น้ำชี โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ท่วมขังทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตร โอดปีนี้เสียหายหนัก แม้แต่ข้าวก็เหลือนำไปเข้าโครงการรับจำนำของรัฐบาล

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ได้มีตัวแทนชาวบ้านกว่า 100 คนจากอำเภอ โพธิ์ชัย อ.ทุ่งเขาหลวง อ.อาจสามารถ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้ออกมาเคลี่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะไร่นาพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งมูลเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกว่า 10 ปีเกิดจากการสร้างเขื่อน สร้างฝายเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำชี ตามโครงการโขง ชี มูล

นายบัวสา โพนทัน ประธานกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ปีนี้ระดับน้ำในลุ่มน้ำชีเริ่มเพิ่มระดับขึ้นมากตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เขื่อนในลุ่มน้ำชีก็ไม่ระบายน้ำออกโดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธรพนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย พอมีฝนตกลงมาก็ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรทันที ตั้งแต่วันที่14 ส.ค 53 และก็ท่วมต่อมาจนปัจจุบันได้ขยายวงกว้างออกเป็นที่อยู่อาศัย และถนนหนทางเข้าหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องพากันอพยพขึ้นมาทำเพิงพักบนพนังกั้นน้ำ ต้นเหตุที่เกิดขึ้นตนมองว่าแม่น้ำชีมีสิ่งกีดขวางกั้นโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้น อยากสะท้อนปัญหาข้อเรียกร้องให้รัฐบาลได้รับทราบและช่วยเหลือเกษตรกรลุ่มน้ำชี

ข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการผันน้ำโขง ชี มูล เพื่อกลับมาทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำชีตลอดระยะ 12 ปี

2.ให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยและค่าสูญเสียโอกาสในพื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากโครงการโขง-ชี-มูล ให้กับกลุ่มผู้เดือดร้อนที่เกิดจากการสร้างฝายร้อยเอ็ด, ฝายยโสธร-พนมไพร, ฝายธาตุน้อย ลุ่มน้ำชีในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดยโสธร ทั้งในพนังและนอกเขตพนังกั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่ปี 2543-2547 เป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราไร่ละ 7,000 บาท 3.ให้รัฐบาลทำการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย เพื่อหามาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูในระยะยาว

นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ชาวบ้านบ้านดอนแก้ว ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ชาวบ้านต้องได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด ชาวบ้านจะเข้าออกในหมู่บ้านจะต้องใช้เรือแทน ส่วนพื้นที่นาของชาวบ้านถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลาเดือนกว่าแล้วต้นข้าวคงเน่าตายหมดแล้วปีนี้คิดว่าชาวบ้านคงไม่มีข้าวไปจำนำตามนโยบายรัฐบาลแน่นอน

ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะ เรือ ข้าวสารอาหารแห้ง และงบประมาณ เป็นต้น เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในปีนี้จะเข้าปีที่ 12 แล้ว

ด้าน นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำชีถือว่าวิกฤตอย่างมากโดยเฉพาะปีนี้ยิ่งเห็นได้ชัด เพราะน้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในช่วงเดือนสิงหาคม และค่อยไหลเอ่อเข้าท่วมที่อยู่อาศัย และถนนหนทาง ตนมองว่าสาเหตุเกิดจากการมีสิ่งกีดขวางทางเดินน้ำในแม่น้ำชี โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะในช่วงฤดูฝนชาวบ้านจะเรียกว่า”ฤดูน้ำหลาก”น้ำจะผ่านมาแล้วก็หายไปประมาณ 7-15 วันแค่นั้น

แต่ปัจจุบันหลังการสร้างเขื่อนเสร็จตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ทิศทางการไหลของน้ำกลับไม่ไหลเหมือนเดิมแต่เป็น “ฤดูน้ำท่วมขัง” และนาน 3-4 เดือนกว่าน้ำจะลด

นอกจากนี้ยังเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของเขื่อน เนื่องจากปีนี้ตามที่เฝ้าสังเกตดูน้ำในแม่น้ำชีหลังจากชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเสร็จ เขื่อนในแต่ละเขื่อนในลุ่มน้ำชีก็ไม่ “พร่องน้ำออกเพื่อรองรับน้ำใหม่ หรือน้ำฝน” กลับกักเก็บพอฝนตกลงมาก็ทำให้น้ำในลุ่มน้ำชีที่มีต้นทุนอยู่แล้วเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเร็วขึ้นและกลับกลายเป็นท่วมขัง

พื้นที่การเกษตรในจังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมในปีนี้ประมาณ 190,455 ไร่ ไม่รวมข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ดยังอยู่ระหว่างการสำรวจอีก และเชื่อว่าจะขยายวงกว้างไปอีกเนื่องจากเขื่อนลำปาวกำลังระบายน้ำลงมา
กำลังโหลดความคิดเห็น