xs
xsm
sm
md
lg

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘หาดเก้าเส้ง-หาดชลาทัศน์’ ?!

เผยแพร่:

โดย...ศิริภัทร วิสุทธิพันธุ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่


 วิกฤตการณ์ของหาดทราย

หลายคนคงได้พบเจอเหตุการณ์แบบนี้มา เมื่อคุณเดินทางไปทะเล เพื่อไปพักผ่อน (ทะเลฝั่งอ่าวไทย) คุณอาจจะเคยพบเจอเขื่อนหิน ทั้งที่มีอยู่ในทะเลและที่สร้างเป็นเขื่อนใกล้ๆ ฝั่ง และคุณพบว่าสภาพชายหาดบริเวณนั่นไม่ได้เป็นชายหาดที่เป็นแนวยาวและเรียงตัวกันเหมือนในอดีต แต่กลับเป็นหาดทรายที่มีลักษณะเป็นโค้งเว้า บางส่วนมีผืนทราย แต่บางส่วนกลับเกิดการกัดเซาะ

คุณคงคิดว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงจะกำลังทำการป้องกันชายหาดจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งด้วยในปัจจุบันกระแสสังคมและกระแสข่าวได้บอกกล่าวกับคุณว่า พายุที่รุนแรงขึ้น น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากปัญหาโลกร้อน

แต่เมื่อคุณคิดเช่นนี้ คุณคิดผิดไปโดยถนัด !!

ความเข้าใจผิดที่ว่า เมื่อช่วงฤดูมรสุมมาถึง ซึ่งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยช่วงฤดูมรสุมจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ หาดทรายจะเกิดการสูญเสีย

แต่แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างทะเลและหาดทรายมีความซับซ้อนมาก การสูญเสียหาดทรายในช่วงมรสุมเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของช่วงเวลาหนึ่ง โดยธรรมชาติแล้วในช่วงเวลาที่คลื่นลมปกติทรายจะเคลื่อนที่ตามแรงพัดพาของกระแสลมและกระแสคลื่น นั่นเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า สมดุลของหาดทรายมีลักษณะไม่หยุดนิ่ง

ในช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรง ทรายบนหาดจะถูกหอบออกสู่ทะเล แล้วไปกองกันเป็นสันดอนใต้น้ำ สังเกตได้จากยอดคลื่นที่แตกนอกชายหาดก่อนจะเข้าสู่ฝั่ง สันดอนใต้น้ำนี้เองจะเป็นตัวช่วยลดความแรงของคลื่นก่อนจะเข้าสู่ฝั่งอีกครั้ง
และเมื่อคลื่นลงสงบ “คลื่นเดิ่ง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “คลื่นแต่งหาด” จะทำหน้าที่พัดพาทรายที่สันดอนใต้น้ำกลับมาทับถมขึ้นฝั่งอีกครั้ง และเกิดเป็นหาดทรายดังเดิม นี่คือวัฏจักรตามฤดูกาลของคลื่นและลม

และความเข้าใจที่ว่า คลื่นเป็นตัวทำลายหาดนั้น ก็เป็นความคิดที่ผิดเช่นกัน ?!


หากคุณได้มีโอกาสไปสำรวจที่ดินที่อยู่ถัดเข้ามาจากทะเล เช่น พื้นที่แถวปากพนัง จะพบว่าดินชั้นล่างนั้นเป็นดินเหนียวที่ถูกทับถมด้วยทรายที่มีคุณลักษณะเดียวกับทรายที่อยู่บริเวณชายหาด ตัวอย่างที่ดีคือ แหลม

เช่นแหลมตะลุมพุกก็เกิดจากคลื่นที่พัดพาตะกอนทรายเรียงตัวจนทำให้เกิดแผ่นดินที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไป นั่นเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า คลื่นไม่ได้เป็นตัวทำลายหาด แต่คลื่นเป็นตัวที่สร้างหาด และสร้างแผ่นดิน

หน้าที่ของหาดทราย

หาดทรายทำหน้าที่เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นดินกับทะเล เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างสองสถานะที่ต่างกันคือ แผ่นดินซึ่งเป็นของแข็ง และน้ำซึ่งเป็นของเหลว
ทั้งสองสถานะสามารถอยู่ร่วมกันได้ก็เพราะมีหาดทราย ซึ่งสถานะเป็นกึ่งแข็ง กึ่งเหลว เป็นตัวเชื่อมประสานนั่นเอง

หาดทรายยังทำหน้าที่เป็นกำแพงกันคลื่นที่ดี สามารถมีความยืดหยุ่นเคลื่อนไหวได้และหนักแน่นในตัว

หาดทรายมีประโยชน์มากมายต่อมนุษย์ หาดทรายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่นันทนาการ เป็นแหล่งประกอบอาชีพประมง ใช้เป็นสถานที่จอดเรือของเรือประมงขนาดเล็ก อีกทั้งชายหาดยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตบริเวณชายหาด

ดังนั้นแล้ว หาดทราย จึงเป็นรอยต่อที่เชื่อมโยงชีวิตมากมาย หาดทรายเป็นสมบัติของทุกคน และเป็นสมบัติของโลก

ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมาหาดทรายตามธรรมชาติของเราได้ถูกการแทรกแซงสมดุลจนถึงขั้นวิกฤติ ชายฝั่งทางด้านอ่าวไทยถูกกัดเซาะเสียหาย ซึ่งล้วนเกิดจากการสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายหาด และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างไม่ถูกต้องในระยะแนวถอยร่น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนกันคลื่นที่มีลักษณะขนานกับฝั่ง เขื่อนกันทรายที่มีลักษณะตั้งฉากกับฝั่ง กำแพงกันคลื่นที่อยู่บนหาด และการสร้างถนนที่ประชิดกับแนวหาดทราย

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า ในปี 2551 ชายฝั่งอ่าวไทยทางภาคใต้ตอนล่างทั้ง 4 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี สงขลาและนครศรีธรรมราช ถูกกัดเซาะเป็นระยะทางถึง 218 กิโลเมตร
 เกิดอะไรขึ้นกับชายหาดที่สงขลา

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างปัญหาการกัดเซาะของชายหาดที่ “หาดเก้าเส้ง” และ “หาดชลาทัศน์” ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

หาดเก้าเส้ง และหาดชลาทัศน์ มีผู้คนเดินทางมาผักผ่อนทำกิจกรรมต่างๆ ที่หาดนี้เป็นจำนวนมาก พื้นที่บริเวณชายหาดเป็นสถานที่ที่ผู้คนใช้เป็นพื้นที่สันทนาการ เล่นกีฬา เป็นสนามเด็กเล่นของเด็กๆ

แต่การแก้ปัญหาการกัดเซาะของหน่วยงานที่รับผิดชอบ กลับเป็นการแก้ปัญหาด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่น หินทิ้งริมฝั่ง กระสอบทรายใยสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เกิดประโยชน์ใดขึ้นมา

มีแต่จะกลับทำให้สูญเสียหาดทรายที่เป็นธรรมชาติของตัวมันเอง เสียพื้นที่ที่จะให้ผู้คนมาใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังทำให้ชายหาดที่อยู่บริเวณทางเหนือขึ้นไปเกิดการกัดเซาะกันไปเป็นลูกโซ่ เพราะตะกอนทรายเคลื่อนที่จากทางทิศใต้ไปยังทางทิศเหนือ

อีกทั้งยังเสียงบประมาณ ซึ่งแทนที่จะเอางบประมาณนั้นมาพัฒนาชุมชน แต่กลับนำเงินนั้นไปถมทะเลทำลายชายหาด ซึ่งก็ไม่ได้เกิดผลดีขึ้นมา

สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นมาก็ใช่ว่าจะสู้แรงธรรมชาติได้ กลับเสียหายขึ้นมากกว่าเดิม ผลคือไม่เกิดประโยชน์ แต่กลับเกิดผลเสีย

เป็นที่น่าคิดว่า หากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังคงสร้างสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำชายหาดไปจนถึงหาดสมิหลา จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่เดินทางมาใช้ประโยชน์ ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจขนาดใหญ่ จะแก้ปัญหากันอย่างไร

หากช่วงฤดูมรสุมมาเยือน สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นจะสามารถทนแรงคลื่นได้ดีกว่าหาดทรายธรรมชาติหรือไม่ นี่เป็นเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผลจะเป็นอย่างไร ก็ต้องคอยลุ้นกันต่อไป

อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หาดทรายเป็นคุณสมบัติของทุกคน และเป็นสมบัติของโลก หากคนรุ่นเราไม่ช่วยกันดูแลแล้ว เราจะเหลืออะไรให้ลูกหลานได้ชม ??
กำลังโหลดความคิดเห็น