ไม่ต้องเดินทางไปถึงทะเล นักผจญภัยชาวกรุงก็สามารถลุกขึ้นมาโต้คลื่นได้อย่างที่ฝันไว้ เพียงแค่ออมเงินในกระเป๋าให้ได้เดือนละ 3 บาทบวกกับแรงขยันอีกนิดหน่อย แล้วคุณจะเห็นตัวเองโลดแล่นอยู่บนผืนน้ำด้วยความรู้สึกผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ถ้าตัดการว่ายน้ำออกไป แทบไม่มีกีฬาทางน้ำชนิดไหนเลยที่สามารถลงเล่นได้ด้วยต้นทุนในกระเป๋าเพียงนิดเดียว นักผจญภัยทางน้ำหลายคนซึ่งทนแรงเสียดทานด้านการเงินไม่ไหว จึงต้องปิดโปรเจกต์ของตัวเองลงโดยปริยาย โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศชาวกรุงที่ต้องพยายามกวาดสายตาหาวันหยุดยาวในปฏิทินกันเลือดตาแทบกระเด็น กว่าจะหนีความวุ่นวายไปรับสายลมและแสงแดดกันได้
แต่อย่าเพิ่งส่ายหน้าด้วยความหมดหวัง เพราะดูเหมือนว่าหนทางการผ่อนคลายจะไม่ยากเย็นขนาดนั้นอีกแล้ว เพียงแค่แวะมายังผืนน้ำกลางกรุงขนาด 644 ไร่แห่งนี้ ทั้งเรือใบ เรือคยัค และวินเซิร์ฟ จะยกขบวนกันออกมาต้อนรับผู้มาเยือนในราคาเป็นมิตร จ่ายเพียง 40 บาท ก็สามารถเลือกเล่นได้ทุกอย่างตลอดปี
มาวันละกี่ครั้งไม่มีเรียกเก็บเพิ่ม และถึงจะไม่ได้แวะมาบ่อยๆ ก็ไม่ขาดทุน เพราะราคาค่างวดตกเดือนละ 3 บาทเท่านั้น เท่ากับว่าค่าแลกเปลี่ยนต่อวันไม่ถึง 1 สลึงด้วยซ้ำไป เรียกได้ว่าควักกระเป๋าออกมาครั้งเดียว ได้เติมพลังชีวิตแถมยังได้หอบรอยยิ้มกลับไปฝากตัวเองจนล้นตะกร้า คุ้มจนไม่รู้จะคุ้มอย่างไรแล้ว
พายไปไม่มีล่ม
ขอเริ่มกันที่กีฬาซึ่งครูผู้สอนทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าง่ายที่สุดแล้ว อย่าง “เรือคยัค” กันก่อน ปกติแล้วถ้าเลือกเล่นเรือใบหรือวินด์เซิร์ฟ ผู้เล่นจำเป็นต้องเข้าคลาสฟังเลกเชอร์จากคุณครูอย่างต่ำครึ่งชั่วโมงและฝึกตามขั้นตอนอยู่บนบกสักระยะ กว่าจะได้ลงน้ำเล่นกันจริงๆ แต่สำหรับเรือคยัค ครูพล พิพัฒพนธ์ มั่นเสมอ ยืนยันด้วยรอยยิ้มสบายๆ ไม่ต้องเรียนกันขนาดนั้นหรอก
ว่าแล้วผู้สอนก็เดินไปหยิบไม้พายที่โรงเก็บอุปกรณ์มาสองด้าม ด้ามหนึ่งครูพลถือไว้ ทำท่าทางสาธิตวิธีการพายให้ดู ส่วนอีกด้ามหนึ่งให้ทีมงานถือและลองทำตาม
“ท่าแรก เหยียดแขนตรงให้ได้ฉาก จำไว้ว่าใบพายด้านขวาต้องตั้งฉากกับผืนน้ำ เวลาพาย ไม้พายจะได้ช่วยกวาดน้ำมากที่สุด ทำให้เรือไปได้ไกลที่สุด จากนั้นตอนพายด้านซ้าย เพื่อให้ใบพายตั้งฉากกับผืนน้ำตอนพายเหมือนกัน ผู้พายจำเป็นต้องบิดข้อมือด้านขวาลงเพื่อให้ใบพายด้านซ้ายทำงานได้ตามปกติ แบบนี้ (สาธิตให้ดู)” คำอธิบายคล้ายจะเข้าใจยาก แต่ถ้าลองมาเรียนตัวต่อตัว เห็นหน้าเห็นท่าทางกันเป็นๆ จะรู้ว่าไม่ยากอย่างที่คิด
หลังจากหัดหมุนวงแขนจ้วงด้ามพายกันอยู่ไม่ถึง 5 นาที เมื่อเห็นว่าผู้เรียนพอจะเข้าใจแล้ว ครูพลก็ชี้ไปที่เรือหลากสีซึ่งเกยอยู่บนฝั่ง สั่งปิดคอร์สเรียนและบอกให้ลูกศิษย์ลงสนามจริงได้เลย ตอนแรกคิดว่าพูดเล่น แต่ครูพลยืนยันว่าพายเองได้แล้วจริงๆ พร้อมทั้งยืนยันให้ลูกศิษย์อุ่นใจอีกครั้งว่าพายอย่างไรก็ไม่มีล่มแน่นอน
“เพราะเรือคยัคที่บึงหนองบอนจัดเตรียมไว้ให้เล่นกัน เป็นเรือประเภท Touring ทุกคนสามารถพายได้ แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ไม่ใช่แบบ Racing อย่างที่นักกีฬาเขาเล่นกัน อันนั้นจะพายยากกว่าเยอะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวล่มครับ มันไม่ล่มแน่นอน สังเกตดูที่ท้องเรือจะมีรูเล็กๆ เจาะเอาไว้ให้น้ำเข้า รูนั้นแหละที่ช่วยให้เรือทรงตัวได้ดีกว่าเรือทั่วไป ถ้าพายให้ล่มได้แสดงว่าเก่งมากเลยล่ะ” ครูพลหัวเราะ
นักพายมือใหม่จึงไม่ต้องกังวลว่าเรือจะล่ม ที่ต้องกังวลมากกว่าคือเรื่องเปียก เพราะถึงแม้รูเล็กๆ ที่ท้องเรือจะช่วยให้เรือไม่ล่ม แต่น้ำที่เอ่อเข้ามาในรูนั้นก็ทำให้คนเล่นต้องก้นเปียกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไหนจะต้องพายสลับซ้ายขวา ปล่อยไม้พายยกน้ำขึ้นลงตามจังหวะการจ้วง น้ำที่ไหลลงมาจากพายจึงทำให้ชุดเปียกไปด้วยโดยอัตโนมัติ ดังนั้นถ้าจะเลือกเล่นคยัค แนะนำให้นำชุดมาเปลี่ยนทั้งชั้นในชั้นนอกยกเซตเลยจะดีกว่า ส่วนคนที่ขี้เกียจเปียก ขี้เกียจเปลี่ยนชุด ครูพลฝากบอกว่า
“เรือคยัคมีเสน่ห์ของตัวเองอยู่เหมือนกันนะ มันทำให้เราได้ออกกำลังกาย ได้ท่องเที่ยวและชมธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน แถมยังพายได้ทุกเพศทุกวัยด้วย ถ้าเครียดๆ ลองมาพายไปด้วย ร้องเพลงไปด้วย ทำให้สบายใจขึ้นเยอะเลย ต้องลองครับ (ยิ้ม)”
ในฐานะที่ได้ลองเล่นแล้ว ทีมงานขอพยักหน้าเห็นด้วยกับคำชักชวนของครูพลทุกประการ ทั้งบรรยากาศที่รายรอบ เสียงนกร้อง มองเห็นปลาผุดขึ้นจากน้ำใส อากาศบริสุทธิ์ ลมพัดเย็นชื่นใจ หรือแม้แต่ความเย็นจากก้นที่ชุ่มน้ำอยู่ในเรือ ยังให้ความรู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก
ฮิตที่สุด ชิลที่สุด
“เรือใบ” คือกีฬาทางน้ำยอดฮิตที่มีคนเลือกเล่นมากที่สุด คาดว่าที่ชนะขาดเรือคยัค คงเพราะมีอีกหลายคนที่ไม่พร้อมยอมเปียก และที่ได้รับความนิยมมากกว่าวินด์เซิร์ฟ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากเหนื่อย ไม่อยากออกแรง แค่ต้องการนั่งชิลๆ ดูท้องฟ้า มองผืนน้ำ ปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้า แต่ก่อนจะได้ผ่อนคลายกันอย่างที่วาดฝันไว้ ครูบอย ธราธร โพธิสัตย์ เตือนไว้ก่อนว่าถ้ารักจะเล่นเรือใบต้องมีวินัยและมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อน
“มาเล่นกีฬาที่นี่ก็เหมือนได้ฝึกวินัยของตัวเองไปด้วยในตัว เพราะคนที่มาเล่นต้องเลือกอุปกรณ์เอง ขนย้ายใบเรือจากโรงเก็บมายังโป๊ะเอง ใช้เสร็จแล้วก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาอุปกรณ์ ต้องล้างต้องเช็ดด้วยตัวเอง จะบอกว่าเป็นกีฬาที่ชิลมันก็ใช่ครับ แต่ถ้าเล่นจริงๆ มันเป็นกีฬาที่ต้องมีสติตลอดเวลานะ เพราะเรือใบที่ใช้แข่งจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ต้องเอาขาเกี่ยวไว้กับตัวเรือตอนเล่น ต้องคุมหางเสือ ปรับใบเรือเพื่อรับลมอยู่ตลอดเวลา"
"แต่แบบที่เอามาให้คนส่วนใหญ่เล่นคือแบบที่เล่นได้ง่ายที่สุดแล้ว บางคนนั่งกินขนม ฟังเพลง มองวิวไปเพลินๆ ก็เล่นได้ แต่ถ้าชิลเกินไปจนไม่คุมเรือเลยก็อาจจะต้องหนักใจเหมือนกัน บางคนนั่งเพลินไม่ดูทิศทางลม เรือหยุดอยู่กับที่ กลับเข้าฝั่งไม่ได้ ต้องเรียกให้ครูไปช่วยก็มีเยอะ”
ลูกศิษย์ที่ลงเรียนทุกคนจึงต้องมีพื้นฐานแน่นเสียก่อน เพราะครูบอยเชื่อว่าถ้ามีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ผู้เล่นจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญคือสามารถนำความรู้ไปต่อยอดกับกีฬาชนิดอื่น โดยเฉพาะวินด์เซิร์ฟ ถ้าเข้าใจทฤษฎีทิศทางลมจากคลาสเรือใบแล้ว จะช่วยให้กลายเป็นมือโปรได้เร็วยิ่งขึ้น
“ให้ทุกคนเริ่มจากการเรียนทฤษฎีเหมือนกันหมดครับ ผมจะให้การบ้านสมาชิก ให้กลับไปอ่านชีตมาก่อนจะเจอกันคลาสแรก คนเรียนจะได้มีพื้นฐานมาก่อน เวลาสอนจะได้คุยภาษาเดียวกันได้ เรียนได้เร็ว เข้าใจเร็วเท่าไหร่ ก็จะได้เล่นจริงเร็วเท่านั้น ถ้าคนเล่นควบคุมทุกอย่างเป็น เข้าใจทฤษฎีทั้งหมด ดูแลตัวเองได้แล้ว ต่อไปจะชิลขนาดไหน ก็ตามสบายเลยครับ (ยิ้ม)”
ผู้เล่นคนไหนแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง อาจมีโอกาสได้เล่นเรือใบแบบเดียวกันกับที่นักกีฬาใช้แข่ง ลำละ 8 หมื่นบาท! ผลิตจากไฟเบอร์อย่างดี แต่ต้องผ่านการทดสอบจากครูบอยก่อนว่า “ถ้าคนไหนเล่นแล้วไม่รักษาอุปกรณ์ คิดแค่ว่าอยากเล่นเพื่อความเท่ ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งๆ ขว้างๆ ใครก็ไม่อยากเสี่ยงด้วยครับ” ครูฝึกและนักกีฬาเรือใบวัย 32 ทิ้งท้าย
อยากเท่ต้องทน
ถึงแม้ “วินด์เซิร์ฟ” จะได้คะแนนความนิยมรั้งท้ายเป็นอันดับ 3 แต่เรื่องความเท่ ต้องบอกว่ากินขาดคายัคและเรือใบแน่นอน เพียงแต่ผู้เล่นต้องมีความอึดเป็นคุณสมบัติพื้นฐานเสียก่อน เพราะนอกจากจะต้องแบกตัวบอร์ดและใบวินด์เซิร์ฟซึ่งน้ำหนักไม่ใช่น้อยๆ ออกจากโรงเก็บลงไปเล่นด้วยตัวเอง
ตอนเล่นยังต้องฝืนใบต่อสู้กับแรงลมที่ถาโถมเข้ามา คอยทรงตัวอยู่บนบอร์ด อ่านทิศทางลมเพื่อปรับเปลี่ยนท่าทางให้เหมาะสม เมื่อใบวินด์เซิร์ฟตกน้ำก็ต้องใช้แรงยกขึ้นมาจากน้ำด้วยตัวเอง เมื่อเผลอพลัดตกลงไปในน้ำก็ต้องประคองตัวให้อยู่รอดให้ได้ งานนี้คนที่ว่ายน้ำไม่แข็งหรือไม่อยากมีกล้าม แนะนำให้เลือกเล่นกีฬาสองชนิดแรกจะดีกว่า
“หลังจากสอนทฤษฎีกันเรียบร้อยแล้ว ผมจะให้ลองฝึกแบบจำลองก่อน เริ่มตั้งแต่ให้ผู้เล่นไปขนอุปกรณ์เอง และลองเอามาหัดถือหัดทำท่าอยู่บนบก บางคนคิดว่าเป็นขั้นตอนที่ไม่สำคัญ ทำไมไม่ให้ลองฝึกจริงไปเลย แต่จริงๆ แล้วขั้นตอนนี้แหละทำให้รู้ว่าน้ำหนักของใบวินด์เซิร์ฟและตัวบอร์ดมันหนักขนาดไหน” ครูยุทธ ยุทธนา หงส์สุวรรณ อธิบาย ก่อนยกตัวอย่างให้เห็นชัดยิ่งขึ้น
“ผู้ปกครองบางคนพาลูกตัวเล็กๆ มาเล่น เพราะเห็นว่าทางบึงหนองบอนอนุญาตให้เด็กตั้งแต่ 8 ขวบเล่นได้ แต่เด็ก 8 ขวบแต่ละคนก็ตัวไม่เท่ากันนะ เราเห็นแล้วว่าน้องคนนี้ยังตัวเล็กเกินไป เลยบอกเขาว่าคงยังไม่ไหวหรอก พ่อแม่เขาก็ไม่เชื่อ ยืนยันว่าลูกเล่นได้แน่นอน ผมก็เลยให้เด็กไปขนอุปกรณ์มาเอง"
"ลองให้ถืออยู่บนบกสักพัก เท่านั้นแหละผู้ปกครองถึงเห็นว่าน้องยังมีแรงไม่พอ คิดดูว่าแบกบนบกยังไม่ไหว แล้วเวลาใบเปียกน้ำ จะมีแรงดึงขึ้นมาได้ยังไง หรือเวลาเด็กหล่นน้ำแล้วโชคร้ายโดนใบทับ เขาจะมีแรงช่วยตัวเองออกมาได้ไหม เราต้องมองความเป็นไปได้ไว้ทุกอย่างครับ เพื่อความปลอดภัยของคนเล่นเอง”
ฟังดูแล้ววินด์เซิร์ฟอาจเป็นกีฬาที่อันตรายอยู่ไม่น้อย แต่ครูยุทธยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าตั้งแต่เปิดศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอนมา ยังไม่เคยมีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น จะมีก็แต่เรื่องตกน้ำตกท่า ถลอกปอกเปิกกันไปบ้าง ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นมีไลฟ์การ์ดคอยขับเรือวนดูผู้เล่นทุกคนอยู่เป็นระยะ ด้านครูฝึกเองก็คอยดูแลสมาชิกอยู่ไม่ให้คลาดสายตา เมื่อเห็นว่าทีท่าไม่ดี จะเรียกผู้เล่นกลับขึ้นฝั่งทันที
“ถ้าฝนเริ่มตกหรือมีฟ้าแลบเมื่อไหร่ ผมจะรีบเรียกสมาชิกกลับเข้าฝั่งทันทีเพื่อความปลอดภัย เพราะสายล่อฟ้าที่ตั้งไว้มีรัศมีครอบคลุมได้แค่ 60 องศา คือถึงแค่บริเวณฝั่งแค่นั้น ถ้าเกิดฟ้าผ่าขึ้นมา ผิวน้ำจึงไม่ปลอดภัย ต้องขอให้เลิกเล่นกันก่อน ซึ่งทุกคนก็เข้าใจครับ” ครูฝึกวัย 42 อธิบาย
ครูยุทธบอกว่าวินด์เซิร์ฟไม่ได้ยากอย่างที่ใครๆ คิด ขอเพียงมีความเข้าใจและความพยายามเพียงพอ ทุกคนก็สามารถเป็นนักโต้คลื่นมือโปรได้ ถึงแม้ว่าการฝึกหัดในบึงหนองบอนแห่งนี้จะไม่เหมือนการเล่นในทะเล ไม่มีคลื่นเล็กคลื่นน้อยปะทะเข้ามาให้ท้าทายความรู้สึก แต่วินด์เซิร์ฟในบึงก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ผู้เล่นพัฒนาไปเล่นต่อในทะเลได้อย่างเชี่ยวชำนาญ
“การเล่นเซิร์ฟจะไม่มีคำว่าถนัด-ไม่ถนัด ไม่มีมือซ้ายมือขวา มีแต่มือหน้า-มือหลัง เท้าหน้า-เท้าหลัง ผู้เล่นต้องเรียนรู้ที่จะสมดุลทั้งซ้ายและขวา ทรงตัวอยู่บนบอร์ดให้ได้ทุกรูปแบบ แต่ถึงจะเป็นมือโปรในบึงหนองบอนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเล่นเซิร์ฟเก่งแล้วนะ เพราะการหัดที่บึงง่ายกว่าเล่นในทะเลเยอะ เพราะลมทะเลแรงกว่าลมในบึง คลื่นก็ใหญ่กว่า แต่ผมว่าการเล่นเซิร์ฟในบึงมันก็มีเสน่ห์ของมันเอง ถึงจะได้ความรู้สึกท้าทายน้อยกว่าในทะเล แต่ก็ได้ความสงบมากกว่าเหมือนกัน”
ส่วนเรื่องอายุไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะครูยุทธบอกว่ามีบอร์ดแบบพิเศษสำหรับผู้สูงอายุด้วย คำพูดที่ว่าศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอนสามารถมาผ่อนคลายกันได้ทุกเพศทุกวัย ดูเหมือนจะไม่ได้มีแค่ราคาคุยเสียแล้ว
---ล้อมกรอบ---
รู้หรือไม่?
- ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอนคือศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งแรกของกรุงเทพฯ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งกีฬาทางน้ำ ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สอดคล้องกับที่สภาโอลิมปิกนานาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์ “Merit Award” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2549 ทั้งนี้พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวร่วมกับการรับน้ำ ระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ด้วย
- แท้จริงแล้วกีฬาทางน้ำที่ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอนเปิดให้บริการ ไม่ได้มีแค่เรือคยัค เรือใบ และวินด์เซิร์ฟเท่านั้น แต่ยังมีเรือกรรเชียงและเรือ 5 ฝีพายด้วย ซึ่งทั้งสองอย่างหลังเปิดสอนเฉพาะนักกีฬาเท่านั้น หากใครสนใจอยากจะเรียน คงต้องลองต่อรองกับทางครูฝึกกันเอาเอง
- นอกจากกีฬาทางน้ำแล้ว รอบบริเวณบึงยังมีพื้นที่สำหรับกีฬาทางบกอย่างบาสเกตบอล, ฟุตซอล, เซปักตะกร้อ, ตะกร้อลอดห่วง และจักรยาน ให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- จากสถิติการใช้บริการของประชาชนตลอดปี กีฬายอดฮิตติดอันดับแรกในบึงหนองบอนคือ เรือใบ รองลงมาคือเรือคยัค และรั้งตำแหน่งท้ายสุดด้วยวินด์เซิร์ฟ เพราะได้ชื่อว่าเป็นกีฬาที่โหดหินที่สุดแล้วใน 3 อันดับ
ศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน
ตั้งอยู่บนถนนเฉลิมพระเกียรติ ซ.43 ลงรถไฟฟ้าอุดมสุขทางออก “ตลาดอุดมสุข” นั่งรถเมล์ไปลงซ.เฉลิมพระเกียรติ 43 แล้วต่อสองแถวเข้าไป
สอนภาคทฤษฎีแบ่งออกเป็นวันละ 3 รอบ คือ 11.00 14.00 และ 16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 17.00 น.
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ 08.30 - 18.30 น.
เบอร์ติดต่อ 0-2328-0236
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย... อดิศร ฉาบสูงเนิน