พิจิตร - อบจ.พิจิตร ใช้เงินสะสม 3 ล้านบาท ตั้งโรงครัวแจกข้าวสวยอาหารสดเลี้ยงชาวบ้านวันละ 2 หมื่นคนใน 10 ตำบลที่ถูกน้ำท่วม
วันนี้ (22 ก.ย.) นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ ร่วมกับ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือราษฎรที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตร
โดยพบว่า ชาวบ้านลุ่มน้ำยมในเขต อ.ตะพานหิน และ อ.บางมูลนาก ชาวบ้านเริ่มขัดสนเรื่องอาหารการกินและน้ำดื่มสะอาด เนื่องจากน้ำท่วมทั้งหมู่บ้านและถนนหนทางก็ถูกตัดขาดจะไปไหนมาไหนต้องใช้เรือพาย หรือใช้รถสิบล้อของทหารที่มาให้บริการเท่านั้น ดังนั้น อบจ.พิจิตร จึงตัดสินใจจะใช้งบสะสมเบื้องต้น 3 ล้านบาท สนับสนุนให้กับผู้นำชุมชนใน 10 ตำบลๆละ 3 แสนบาท ให้ไปตั้งโรงครัวแจกข้าวสวยอาหารสด ให้ชาวบ้านได้มีข้าวกินอิ่มท้องอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ ซึ่งมีราษฎรเขียนคำร้องว่าจะมาอาศัยกินข้าวกับโรงครัวรวมน้ำใจอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ 2 หมื่นคน ที่จะไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องหาอาหาร ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่ส่งตรงถึงปากท้องของชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมใหญ่อยู่ในขณะนี้ดังกล่าว
นายชาติชาย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนที่จะตัดสินใจควักเงินสะสมของอบจ.พิจิตร มาทำโครงการดังกล่าวข้างต้นนั้นได้เกิดแนวคิดมาจาก นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ ได้แนะนำและรวบรวมเงินจากผู้ใจบุญให้เป็นทุนตั้งต้นมา 100,000 บาท พร้อมทั้งให้ตั้งกองทุนรับบริจาคเงินและสิ่งของจากบริษัท ห้างร้าน
จากนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนระดมทุนบริจาคเงิน 100,000 บาท, นายบรรชา พงศ์อายุกูล ส.ว.พิจิตร ร่วมกับ นายบรรจง ตั้งจิตวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวแห่งประเทศไทย มอบข้าวสารมูลค่า 1 แสนบาท, นายพิศ วิริยะอารีธรรม ส.อบจ.เขตสากเหล็ก บริจาคเงินสด 20,000 บาท, นายต่อศักดิ์ วีระพจนานันท์ ส.อบจ.เขต อ.ตะพานหิน บริจาคเงินสด 50,000 บาทและผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามอีกหลายท่านที่บริจาคทรัพย์มาช่วยเป็นกองทุนถึง 500,000 บาท อีกทั้งได้พระเมธีธรรมประนาท หรือ “ท่านเจ้าคุณปรีชา” เจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตรก็ได้ออกบอกบุญกับลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นพ่อค้า-คหบดี ได้สิ่งของมามากพอสมควร
จากนั้นจึงทำโรงครัวน้ำใจแจกข้าวสวย-อาหารสด ที่ปรุงใหม่ร้อนๆจากเตาทำทุกวันโดยทดลองทำที่ อบต.ไผ่หลวง อ.ตะพานหิน ซึ่งก็ปรากฏว่า มีชาวบ้านมาอาศัยฝากท้องวันละกว่าพันคน จึงเห็นว่ามีต้นแบบจึงได้ขยายผลต่อไปลองทำต่อที่ อบต.ไผ่หลวง อบต.คลองคูณ ซึ่งก็ได้ผลในลักษณะเดียวกัน โดยทดลองทำแห่งละ 7 วัน โดยใช้เงินจากกองทุนซื้อผัก-ซื้อหมู-ซื้อไก่และเครื่องปรุงส่วนค่าแรงกลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม.ก็สมัครใจมาทำโดยไม่คิดค่าตัว ซึ่งแต่ละวันซื้อเฉพาะกับข้าวใช้เงินวันละ 2-3 พันบาท แต่ถ้าวันไหนมีเมนูถูกใจอย่างเช่น ก๋วยจั๋บ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น ผัดเผ็ดปลาดุก ลาบหมู หรือแกงส้มชะอมทอด ชาวบ้านก็จะแห่มาล้อมวงกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งถือเป็นการกินข้าวหม้อเดียวกันและได้พูดคุยปรับสารทุกข์ สุกดิบ เป็นการคลายความเครียดอีกทั้งก็มีหน่วยแพทย์จากสสจ.พิจิตรมาคอยให้บริการตรวจสุขภาพด้วย
ดังนั้น นายชาติชาย นายก อบจ.พิจิตร และสภา อบจ.พิจิตร เมื่อเห็นว่า ทั้งสองเห็นประสบความสำเร็จจึงได้พิจารณาอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมก้อนแรก 3 ล้านบาทสนับสนุนให้ อบต.ไผ่หลวง, ทต.วังกรด, อบต.ท่าหลวง, อบต.ดงป่าคำ, อบต.งิ้วราย, ทต.บางไผ่, ทต.เนินมะกอก, อบต.หอไกร, อบต.บางลาย, ทต.หนองพยอม, ทม.ตะพานหิน ซึ่งทั้ง 10 แห่งล้วนเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนักให้ได้ทำโรงครัวหุงหาอาหารทำกับข้าวเลี้ยงชาวบ้านดังกล่าว