ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 ( บีโอไอ ชลบุรี) จัดสัมมนาผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ในพื้นที่ หวังให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิพิเศษเกี่ยวกับการขอรับส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นผู้ประกอบการตื่นตัวในการพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็งเพื่อรองรับการเปิดเสรีการเงินและธุรกิจกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนที่จะมีขึ้นในปี 2558 และรับมือการย้ายฐานผลิตภาคอุตสาหกรรม SMEs ของกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่จะเข้าไทยมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้
วันนี้ ( 20 ก.ย.) ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 ( บีโอไอ ชลบุรี) ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ “SMEs ลงทุนอย่างไร จึงจะได้รับ BOI” ณ ห้องประชุมชลบุรี ชั้น 2 ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเข้าร่วมกว่า 50 คน
จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน และการประสานความร่วมมือและความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีนายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 บรรยายในหัวข้อ SMEs ลงทุนอย่างไร จึงจะได้รับ BOI และมีนายนัยวินิต ชนะเสนีย์ ผู้จัดการส่วพัฒนาเข้าสู่แหล่งทุน 1 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม นายเฉลิมชัย ไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการอาวุโส ส่วนสนับสนุนกิจการสาขา ฝ่ายกิจการสาขา รักษาการ ผู้จัดการสำนักงานสาขาชลบุรี ร่วมเป็นวิทยากร
นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 กล่าวว่า นับจากช่วงต้นปี 2555 เป็นต้น ตนมีนโยบายที่จะนำเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ เดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ SMEs “ไทยโดยเฉพาะในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคตะวันออกจะได้รับจากการขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีอากรนำเข้าเครื่องจักร การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และการปรับสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นตามนโยบายใหม่เพื่อจูงใจนักลงทุน
ทั้งนี้ ก็เพื่อกระตุ้น SMEs ภาคตะวันออกหันมาให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิดังกล่าว เพื่อสร้างผลกำไรจากการลงทุนและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ สร้างความเข้มแข็งรองรับการเปิดเสรีการเงินและธุรกิจกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน ที่จะมีขึ้นในปี 2558 รวมทั้งรับมือกับการย้ายฐานผลิตภาคอุตสาหกรรม SMEs ของกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่จะเข้าไทยมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป
จากผลกระทบทางธรรมชาติภายในประเทศญี่ปุ่น และความกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม จนทำให้กลุ่มทุนญี่ปุ่นต้องมองหาลู่ทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
“ปัจจุบันการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ SMEs ทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออก และทั่วประเทศยังมีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระบบบัญชีที่ถูกต้อง และการขาดความรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และยังขาดถึงความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิพิเศษที่ SMEs ไทยจะได้รับ จึงเป็นหน้าที่ของบีโอไอ ที่จะต้งเร่งประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้ให้กับSMEs ไทยให้ได้มากที่สุด ”
ทั้งนี้ หาก SMEs ไทย ไม่เร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2558 ด้วยการมองหาแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็งก็จะทำให้ SMEs ไทยอยู่ได้ยาก จึงจำเป็นจะต้องเร่งผลักดันให้เกิดการปรับตัวของกลุ่มผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง