นครพนม-จนท.เร่งเยียวยาสุนัขที่เพิ่งยึดคืนจากแก๊งลอบค้ารายใหม่ หวั่นติดเชื้อตายเพิ่ม รองผู้ว่าฯนครพนมยันยังคุมเข้มสกัดขนส่งสุนัขขายเวียดนาม พร้อมเร่งประสานกระทรวงมหาดไทย ช่วยผู้ค้าสุนัขที่อ้างว่าเลิกอาชีพนี้ไม่ได้เพราะมีภาระหนี้สิน เล็งส่งเสริมอาชีพใหม่ทดแทนแก้ปัญหาระยะยาว
วันนี้(7 ก.ย.)ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีมีการจับกุมขบวนการค้าสุนัขข้ามชาติได้อีก จำนวน 2 คน พร้อมยึดสุนัขเตรียมนำส่งข้ามไปขายยังประเทศเวียดนาม จำนวน 114 ตัว วานนี้(6 ก.ย.)โดยมีสุนัขรอดชีวิต จำนวน 89 ตัว ตายไป 25 ตัว โดยพบว่ากลุ่มขบวนการค้าสุนัขข้ามชาติได้ปรับรูปแบบการขนส่ง จากขังใส่กรงเหล็ก เป็นการบรรจุใส่กระสอบปุ๋ยแทน
ภายหลังจากตรวจยึดจับกุมทางเจ้าหน้าที่ได้นำผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ้านแพง ดำเนินคดีตามกฎหมาย และนำส่งอัยการจังหวัด เพื่อส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนมต่อไป
ส่วนสุนัขที่มีการตรวจยึดเพิ่มทางเจ้าหน้าที่ได้นำไปดูแลรักษาไว้ที่ด่านกักกันสัตว์นครพนม ซึ่งได้มีการคัดแยกให้การรักษา เร่งฉีดวัคซีน ป้องกันการติดเชื้อโรคระบาด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาเกิดโรคไวรัส ไข้หัดสุนัขระบาด ทำให้สุนัขทยอยตายรายวัน
อีกทั้งยังประสบปัญหาสุนัขที่ด่านกักกันสัตว์นครพนม ไม่กินหัวอาหารสำเร็จรูปที่รับบริจาค จึงต้องซื้อข้าวมาต้มปรุงอาหารผสมกับ เนื้อ และหัวอาหาร โดยแต่ละวันมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเลี้ยงดู ทั้งค่าอาหาร รวมถึงเวชภัณฑ์ยา จำนวนประมาณ 50,000 บาท ขณะนี้มีสุนัขที่เหลือในด่านกักกันสัตว์ จำนวนทั้งสิ้น 828 ตัว ตายไปทั้งหมด 273 ตัว และตรวจยึดมาเพิ่มอีก จำนวน 89 ตัว รวมเป็น 917 ตัว มีสุนัขติดเชื้อเสี่ยงตายประมาณ 50 ตัว ส่วนยอดการบริจาคกองทุนช่วยเหลือสุนัขมีจำนวน 22 ล้านบาท
นายสมดี คชายั่งยืน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า หลังจากมีการตรวจยึดสุนัขเพิ่มอีกจำนวน 89 ตัว ที่รอดชีวิต พบว่ากลุ่มผู้ค้ามีการพยายามที่จะลักลอบขนส่งต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนวิธีการลักลอบขนส่ง โดยใช้วิธีการบรรจุใส่กระสอบปุ๋ยแทนการขังใส่กรง ทำให้ทาง นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ ฝ่ายปกครอง ร่วมกับตำรวจ ตั้งชุดเฉพาะกิจติดตามจับกุมต่อเนื่อง
ในการจับกุมทุกครั้งต้องยอมรับว่าได้เบาะแสจากชาวบ้านในพื้นที่ และยืนยันว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ในพื้นที่นครพนมจะไม่ปล่อยให้มีการลักลอบขนส่งสุนัขไปขายที่ประเทศเวียดนามแน่นอน
ส่วนกรณีมีกลุ่มผู้ค้าสุนัขที่เคยมาชุมนุมเรียกร้องให้เปิดเส้นทางขนส่งเพื่อการค้า อ้างว่ามีภาระหนี้สินและหาเลี้ยงครอบครัวนั้น ทางจังหวัดนครพนมได้มีการประสานกับทางกระทรวงมหาดไทย หารือกับจังหวัดที่มีกลุ่มผู้ค้าสุนัข เข้าไปตรวจสอบดูแลช่วยเหลือ
ในส่วนที่กลุ่มผู้ค้ามีภาระหนี้สินเงินกู้ ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ และส่งเสริมหาอาชีพทดแทนให้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือ และตัดปัญหาการค้าสุนัขในระยะยาว ในส่วนของนครพนมพบว่า มีผู้ค้าสุนัข ประมาณ 32 ราย ที่ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือ