ศรีสะเกษ - แขวงการทางศรีสะเกษ แฉป้ายฉาวบอกทาง “ปราสาทเขาพระวิหาร” เขียน ภาษาอังกฤษ “Preah Vihear ” หรือ “เปรี๊ยะ วิเฮียร์” ตามก้นเขมร เป็นป้ายของ “ททท.” จัดทำขึ้น ระบุประสานให้แก้ไขด่วนแล้ว ขณะนายก อบต.เสาธงชัย ใกล้เขาพระวิหาร ประสานเสียง ปธ.หอค้าศรีสะเกษ จี้ปลดป้ายภาษาเขมรหนุนใช้ “ Phra wihan” ตามเดิมชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระทบความรู้สึกคนไทยและชาวศรีสะเกษ ขณะนักธุรกิจอีกรายสวนทางควรใช้ตามเขมรอ้างเป็นสากลฝรั่งรู้จักดี
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีป้ายบอกเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว “ปราสาทเขาพระวิหาร” ทุกป้ายตามถนนเส้นทางที่มุ่งไปสู่ปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย - กัมพูชา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของแขวงการทางจังหวัดจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักทางหลวงที่ 7 (อุบลราชธานี) ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษใหม่ จากเดิมเคยใช้ทับศัพท์ภาษาไทยว่า “ Khoa Phra wihan”เปลี่ยนเป็น “Khao Preah Vihear Sanctuary ” ตามแบบเขมร โดยนำมาติดตั้งใหม่ประมาณ 30 จุด ตลอดเส้นทางที่มุ่งไปสู่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุด นายวิเชษฐ์ วัฒนโสภณ ผู้อำนวยการแขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า กรณีป้ายบอกเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว “ประสาทเขาพระวิหาร” ที่ตัวหนังสือภาษาอังกฤษไม่ตรงกับภาษาไทยนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการควบคุมดูแลของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้สั่งให้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นป้ายบอกสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศ และได้นำเอามาติดตั้งไว้ในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จำนวนทั้งสิ้น 29 ป้าย ซึ่งป้ายใหม่ที่จัดทำขึ้นมานั้น ตัวหนังสือภาษาอังกฤษ คำว่า “Phra wihan” หรือ “พระวิหาร” เปลี่ยนเป็น “Preah Vihear” หรือ “เปรี๊ยะวิเฮียร์” ไม่ตรงกับของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งใช้คำว่า “Phra wihan” มาโดยตลอด
“ขณะนี้ได้ประสานงานไปยังผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง พร้อมทั้งขอให้ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศได้ประสานงานกับอธิบดีกรมทางหลวง เพื่อให้จัดทำป้ายใหม่ให้ถูกต้องต่อไปโดยด่วนแล้ว” นายวิเชษฐ์ กล่าว
นายวิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับป้ายบางทางของกรมทางหลวง นั้น จะเป็นป้ายพื้นสีเขียว ตัวหนังสือสีขาว บอกชื่อเส้นทางสถานที่ หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ส่วนป้ายของ ททท. นั้น เป็นป้ายพื้นสีน้ำเงิน ตัวหนังสือสีขาว เป็นป้ายที่บอกสถานที่ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย
สำหรับป้ายที่ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 ดังกล่าวเป็นป้ายที่ ททท. ได้จัดทำขึ้นและขอความร่วมมือมาในการติดตั้งป้ายในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกรมทางหลวง ซึ่งในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ โดยที่แขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ ไม่ได้จัดทำป้ายขึ้นมาแต่อย่างใด
ด้าน นายโชคชัย สายแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นคนท้องถิ่นอยู่ใกล้กับเขาพระวิหารเห็นว่า การเขียนชื่อเขาพระวิหารเป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้านภูมิซรอล และชาวไทยที่อยู่ติดกับแนวชายแดนไทย - กัมพูชาด้านเขาพระวิหารเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรื่องนี้ตนได้เคยนำเข้าประชุมหารือกับผู้นำหมู่บ้านและผู้นำชุมชนที่อยู่ตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับเขาพระวิหารแล้วมีความเห็นว่า ไม่ควรที่จะเขียนและเปลี่ยนชื่อตามแบบของกัมพูชา เนื่องจากคำว่า “Khao Preah Vihear ” เป็นภาษาของกัมพูชาไม่ใช่ภาษาไทยที่ชาวบ้านเคยชินและใช้มานานแล้ว
ดังนั้น จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปลี่ยนป้ายใหม่ให้ถูกต้อง โดยการใช้เป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษทับศัพท์ภาษาไทยว่า “ Khoa Phra wihan” แบบเดิมจะดีกว่า เพราะเขาพระวิหารเป็นชื่อเฉพาะอยู่แล้วและภาษาอังกฤษก็ไม่มีชื่อใดที่มีความหมายว่า เขาพระวิหาร ดังนั้น ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเขียนชื่อเขาพระวิหารว่า “Khao Preah Vihear ” ตามภาษาของกัมพูชาแต่อย่างใด
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ประธานหอการค้าศรีสะเกษ กล่าวว่า หากจะเปลี่ยนป้ายภาษาอังกฤษชื่อเขาพระวิหาร“ Khoa Phra wihan” เป็นคำว่า “Khao Preah Vihear ” ก็ควรมีการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ก่อน เนื่องจาก ชาวไทยทั่วประเทศมีความคุ้นชินกับคำว่า “ Khoa Phra wihan” มานานแล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนกับความรู้สึกของคนไทยและชาว จ.ศรีสะเกษ เป็นอย่างมาก ตามความเห็นของตนนั้น น่าที่จะใช้คำว่า “ Khoa Phra wihan” เช่นเดิมดีกว่าในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความรู้สึกของคนไทยและชาว จ.ศรีสะเกษทุกคน
ขณะที่ นายโกวิท โกมณเฑียร อายุ 35 ปี นักธุรกิจชาวศรีสะเกษคนหนึ่งกล่าวว่า ตนเห็นว่า เรื่องนี้ควรใช้ตามหลักสากลจะถูกต้องกว่า เพราะคำว่า “Khao Preah Vihear”เป็นคำที่รู้จักกันทั่วไปในทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะรู้จักคำว่า “Khao Preah Vihear” เมื่อนักท่องเที่ยวฝรั่งต้องการไปเที่ยวชมเขาพระวิหาร หากทำป้ายชื่อตามหลักสากลจะไม่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความสับสน ตนเห็นว่าควรที่จะใช้ชื่อว่า “Khao Preah Vihear” ตามหลักสากลจะเป็นการถูกต้องที่สุด