xs
xsm
sm
md
lg

เกลี้ยง! งบฉุกเฉิน 50 ล้าน พิษณุโลกต้นแบบ “บางระกำโมเดล” จ่ายค่าน้ำมัน 33 ล้าน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ผู้ว่าฯพิษณุโลก แจงข้อมูลกรรมาธิการตรวจน้ำท่วมสองแคว ก่อนส่งไม้ให้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เผยต้นแบบ “บางระกำโมเดล”’ งบน้ำท่วม 50 ล้านบาท เป็นค่าน้ำมัน-กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 33 ล้านบาท ขณะที่ผู้ว่าฯพิจิตร-พิษณุโลก ลั่นขอปลูกป่า 5 หมื่นไร่แลก “แก่งเสือเต้น”

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก กรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการ นำโดย นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมคณะ ได้เดินทางมารับฟังและติดตามการทำงานตามโครงการ “บางระกำโมเดล” ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยมี นายปรีชา เรืองจันทน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ นายสุวิทย์ วัชโรยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ร่วมบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

โดยระบุว่า ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของจังหวัดพิษณุโลกตามวงเงินทดรองราชการ 50 ล้านบาทนั้น กชภ.จ.อนุมัติ ครั้งที่ 9 (23 ส.ค.) ดังนี้

1.อาหาร ที่อยู่อาศัย (สร้างที่พัก 26 หลัง) จัดการศพจำนวน 1,332,820 บาท
2.การสาธารณสุข 467,636 บาท
3.ปศุสัตว์ 87,000 บาท
4.กำจัดสิ่งกีดขวาง เปิดทางน้ำ น้ำมันเชื้อเพลิง 33,258,864 บาท
5.ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน 164,320 บาท รวม 35,310,640 บาท
กชภ.จ.อนุมัติ ครั้งที่ 10 (2 ก.ย.) เป็นค่ากำจัดสิ่งกีดขวาง 14,689,360 บาท รวม 50,000,000 บาท

ทั้งนี้ ตามรายงานแก้ไขอุทกภัยของจังหวัดพิษณุโลก มีผลกระทบ 6 แสนไร่ 9 อำเภอ 80 ตำยล 652 หมู่บ้าน เสียชีวิต 4 ราย โดยอพยพราษฎรที่ถูกน้ำท่วม 153 ครัวเรือน และสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวจำนวน 26 หลัง พร้อมสนธิกำลังตำรวจ อส., อปพร.กว่า 5,000 นาย เพื่อเตรียมการ พร้อมเปิดศูนย์ call 24 ชั่วโม ซึ่งในระดับจังหวัดได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 95 ครั้ง สนับสนุนเรือแก่ผู้ประสพอุทกภัยเพื่อใช้สัญจรไปมาจำนวน 314 ลำ สนับสนุนถุงยังชีพจำนวน 23,357 ชุด (ณ 1 ก.ย.) โดยประชาชนได้รับอย่างน้อย 1 ชุด

อย่างไรก็ตาม งบประมาณ 50 ล้านบาทดังกล่าว ยังไม่สามารถช่วยเหลือราษฎรเต็มที่ ซึ่งในการประชุม กชภ.จ.ครั้งที่ 10 ข้างต้น (2 ก.ย.) ได้มีการขยายวงเงินทดลองราชการเพิ่มเติม ด้านอาหาร ที่อยู่ จัดการศพจำนวน 5,000,000 บาท สังคมสงเคราะห์ 6,372,000 บาท กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 46,437,700 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าตอนแทน 2,000,000 บาท รวมขอขยายวงเงิน 59,809,700 บาท

นอกจากนี้ ยังได้มีขอขยายวงเงินเพิ่มเติมจากเงินทดรองราชการ 50 ล้านบาท เพื่อของบกลาง ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คือ นาข้าว 44,524.50 ไร่ พืชไร่ 829 ไร่ พืชสวน 1,267.50 ไร่ เป็นเงิน 108,006,504 บาท เกษตรกรจำนวน 2,699 ราย

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ระบุอีกว่า โดยสรุปการแก้ไขอุทกภัยของจังหวัดพิษณุโลก ตาม “บางระกำโมเดล” ที่ดำเนินการไปแล้ว คือ ให้ถุงยังชีพครบทุกครัวเรือน การใช้งบ 50 ล้านบาท ส่วนสิ่งที่กรม กระทรวง ควรดำเนินการ คือ บรรจุโครงการ Water way สร้างอ่างเก็บน้ำเข้าไปในแผนชลประทาน

และสุดท้าย คือ สิ่งรัฐบาลส่วนกลางจะต้องดำเนินงานเร่งด่วน คือ อนุมัติขยายวงเงินให้จังหวัด 50 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาประชาชน, แก้ไขลุ่มน้ำทั้งระบบ, สนับสนุนเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกร, ปรับลด งด ขยายหนี้ของสถาบันการเงิน, ทำโครงการขนาดใหญ่เชื่อมหลายจังหวัด, เช่าพื้นที่เกษตรกรเพื่อทำแก้มลิงในพื้นที่ชุ่มน้ำและสร้างเขื่อนลุ่มน้ำยม

ด้าน นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการนำเสนอของผู้ว่าฯ ซึ่ง รมว.เกษตรฯ สั่งให้ชะลอการสร้างแก่งเสือเต้น ให้ทำเขื่อนขนาดกลาง บน-ล่าง ลุ่มน้ำยมแทน ส่วนการใช้เม็ดเงินข้างต้นวุฒิสภาจะช่วยผลักดันนำเสนอต่อรัฐบาล

สำหรับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ทราบว่า ประธานศึกษาแก่งเสือเต้น ระบุว่า สมควรสร้างเขื่อนแม้จะกระทบผืนป่าสักจำนวน 25,000 ไร่ และ 1,000 ครอบครัวที่เดือดร้อน เพราะว่า ในแต่ละปี รัฐบาลจะต้องสูญเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลืออุทกภัย 6-7 หมื่นล้านบาท

นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ชบประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 1 แห่ง ความจุ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ 12,972 ล้านบาท พื้นที่ป่าเสียหาย 41,738 ไร่ ส่วนเขื่อนยมบน-ล่าง ความจุ 500 และ 166 (รวม 666) ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ 14,728 ล้านบาท พื้นที่ป่าเสียหาย 21,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ นายสุวิทย์ วัชโรยางกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และ นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ต่างให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรต้องสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมเพื่อให้ชลประทานบริการจัดการน้ำ ซึ่งถ้าพื้นที่ป่าสัก 25,000 ไร่เสียหาย ทั้ง 2 จังหวัด ขอเสนอว่า จะปลูกป่าสัก ทดแทนบริเวณสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดละ 2.5 หมื่นไร่ รวมเป็น 5 หมื่นไร่จะดีกว่า

“จะต้องมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เพราะประเทศไทยคือ แหล่งผลิตข้าว”

ทั้งนี้ หลังจากกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการรับฟังการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจากจังหวัดพิษณุโลก และพิจิตร แล้วได้ลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำท่วมที่ อ.บางระกำ พร้อมทั้งจะรายงานให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น