ศูนย์ข่าวขอนแก่น - 4 องค์กรภาคธุรกิจในขอนแก่นเตรียมเปิดเวทีใหญ่ถกผลดีผลเสียปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อธุรกิจ SMEs ก่อนประมวลความเห็นผู้ประกอบการเสนอต่อรัฐบาล ย้ำไม่ได้ค้านขึ้นค่าจ้างแต่ต้องการเสนอข้อเท็จจริงจากกลุ่มผู้เจ้าของกิจการที่รับผลกระทบโดยตรง
นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ก.ย.ที่จะถึงนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมจังหวัดขอนแก่น สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น และสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำหนดจัดงานเสวนาครั้งใหญ่ในประเด็น “ค่าแรง 300 บาท SMEs จะอยู่รอดหรือไม่” ขึ้นที่โรงแรมโฆษะขอนแก่น
โดยจะเชิญผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ทั้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และใกล้เคียงในภาคอีสานรวมสื่อมวลชนแขนงต่างๆเข้าร่วมงานราว 150-200 คน
การจัดเสวนาครั้งนี้ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกรณีนโยบายของรัฐบาลในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทว่า มีผลดีและผลเสียต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเด็นใดบ้าง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยผลสรุปที่ได้จากเวทีเสวนาครั้งนี้จะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการดำเนินตามนโยบายดังกล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ทางกลุ่มองค์กรภาคธุรกิจเอกชนที่ร่วมกันจัดงานเสวนาครั้งนี้ต่างเห็นด้วยกับนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล แต่ในเบื้องต้นจากการสุ่มสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในขอนแก่นและอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่พนักงานหรือแรงงานในห้วงนี้
โดยส่วนมากยังวิตกกันมากว่า หากต้องจ่ายค่าจ้างตามที่รัฐบาลประกาศบังคับจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอีก และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการบริหารจัดการได้ก็อาจจำเป็นต้องลดจำนวนแรงงาน หรือลดขนาดธุรกิจ เพื่อให้ประคองกิจการให้อยู่รอด ไม่มีใครปฏิเสธที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างให้พนักงานเพราะเมื่อรายรับของแรงงานเพิ่ม คุณภาพชีวิตของแรงงานและคนในครอบครัวก็จะดีขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็จะเพิ่มตาม
“จากการพูดคุยหารือในกลุ่มผู้ประกอบการด้วยกันเอง อยากให้รัฐบาลทบทวนแนวนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใหม่ ไม่ต้องประกาศบังคับให้ทุกพื้นที่ทุกขนาดธุรกิจถือปฏิบัติพร้อมกัน พื้นที่จังหวัดใดที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมก็นำร่องขึ้นค่าแรงไปก่อน ส่วนพื้นที่ใดเสียงส่วนใหญ่ของเจ้าของกิจการไม่พร้อมก็ชะลอไปก่อน อยากให้ยึดฐานข้อมูลค่าครองชีพความพร้อมของแต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์” นายวิฑูรย์กล่าว และว่า
การจัดสัมมนาในประเด็นค่าแรง 300 บาท SMEs จะอยู่รอดหรือไม่ ที่จะจัดขึ้นครั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านนโยบายของรัฐบาล โดย 4 องค์กรภาคเอกชนที่เห็นพ้องร่วมกันจัดขึ้น ก็เพื่อต้องการเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อนโยบายดังกล่าวได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้าน และสะท้อนจากความเห็นของผู้ประกอบการโดยตรง
ถือเป็นหน้าที่บทบาทของผู้นำองค์กรธุรกิจที่ดีที่ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกในองค์กรได้แสดงความเห็นผ่านเวทีสาธารณะ ไม่ต้องใช้ความเห็นของตัวเองไปสรุปแทนผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกองค์กร
สำหรับวิทยากรที่จะร่วมถกบนเวทีเสวนาในวันดังกล่าวประกอบด้วย ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ประธานสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย