เชียงราย - พบศิลาจารึกเมือง “เวียงฮุ้ง” ยุคต้นอยุธยา สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา องค์ที่ 9 ราชวงศ์เม็งราย พร้อมโบราณวัตถุอีกเพียบ บางส่วนเป็นสังคโลกสมัยจักรพรรดิเจิ้งถุง และจักรพรรดิเทียนซุ่น ในราชวงศ์หมิงของจีนด้วย เชื่อในอดีตเคยเป็นเมืองท่าเชื่อมล้านนา-จีน นักวิชาการเตรียมเปิดเวทีเสวนาร่วม 20 กันยาฯนี้
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ขณะนี้พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าศึกษาพื้นที่เมืองโบราณภายในวัดเวียงเชียงรุ้ง เขตหมู่บ้านห้วยเคียน ม.10 ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง วัดป่าที่มีต้นไม้หนาแน่น เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ห่างจากถนนสายเวียงชัย-เวียงเชียงรุ้ง ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เนื่องจากพบว่าบริเวณดังกล่าวชาวบ้านได้พบโบราณวัตถุต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งถ้วยชาม อิฐที่มีอักษรโบราณ ของใช้ต่างๆ บ่งชี้ว่าเคยเป็นเมืองที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีต
ล่าสุด คณะศึกษานำโดย ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ ได้รับแจ้งจากพระโกเมศ สุเมธโส (ขุนศรี) เจ้าอาวาสวัดว่า ชาวบ้านได้ค้นพบโบราณวัตถุ 3 ชิ้นที่มีอักษรโบราณ ที่อาจบ่งบอกที่มาของเมืองโบราณแห่งนี้ได้
คณะจึงได้เข้าไปศึกษาพบว่า เป็นหลักศิลาจารึกแผ่นยาวบาง สลักจากหินทรายมีความยาว 109.5 ซม. กว้าง 48.5 ซม. และหนา 5.5 ซม. ด้านหน้ามีตราอักษรฝักขาม และไทยยวนโบราณอยู่เต็ม
จากการศึกษาพบสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2019 และ 2021 ซึ่งคณะศึกษาได้แปลและสรุปเนื้อหาว่าเป็นศิลาจารึกที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์อาณาจักรล้านนา องค์ที่ 9 ราชวงศ์เม็งราย ซึ่งครองอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่ พ.ศ. 1952-2030 โดยมีดวงตราคล้ายตราประจำตำแหน่งของกษัตริย์เชียงใหม่ประทับอยู่บนศิลาจารึกด้วย
เนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ พ.ศ. 2019 หรือเมื่อประมาณ 535 ปีก่อน ของนายร้อยก้อนทอง ซึ่งได้รับตำแหน่งหมื่นขวา และได้ครองเมืองในขณะนั้น
ส่วนโบราณวัตถุที่พบอีก 2 ชิ้น เป็นแท่งคล้ายอิฐและมีอักษรเช่นกัน ทางคณะศึกษาอยู่ระหว่างนำไปแปลต่อไป
ดร.พลวัฒกล่าวว่า จากการศึกษาและแปลอักษรจากศิลาจารึกทำให้ทราบว่าในอดีตได้มีเมืองคือเวียงเชียงรุ้ง หรือเวียงฮุ้ง ณ สถานที่นี้ เป็นเมืองท่าที่มีกำแพงล้อมรอบสองชั้น ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลาว ซึ่งเชื่อมโยงกับแม่น้ำกกและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ซึ่งคนโบราณใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางน้ำที่สะดวกที่สุดในการเชื่อมโยงด้วยแม่น้ำสายต่างๆ ที่ในอดีตคงจะกว้างมากกว่าปัจจุบัน สามารถเชื่อมโยงไปถึงเมืองใหญ่ๆ ในอาณาจักรล้านนาสมัยพระเจ้าติโลกราช
ด้วยความเป็นเมืองท่าดังกล่าวจึงทำให้มีเรือสินค้าแวะเวียนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าจากอาณาจักรจีนที่ล่องเรือมาตามแม่น้ำโขงทางทิศใต้ และติดต่อกับเมืองในล้านนา ขณะเดียวกัน ทางทิศใต้ก็สามารถเชื่อมไปถึงเวียงกาหลงซึ่งเป็นแหล่งสังคโลกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้ด้วย ในอดีตจึงเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองยุคเดียวกับช่วงต้นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ราวรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
“วันที่ 20 ก.ย.54 นี้ โครงการจะจัดกิจกรรมสุดปลายฟ้าสายรุ้งที่เวียงเชียงรุ้ง ณ วัดเวียงเชียงรุ้ง โดยเชิญชาวบ้านไปร่วมกิจกรรมกันที่วัด เพื่อเสวนาร่วมกับปราชญ์ที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เพื่อให้ได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของเวียงเชียงรุ้ง โดยจะขอให้ชาวบ้านนำโบราณวัตถุที่พอจะมีอยู่หรือเก็บเอาไว้มาแสดงด้วยในลักษณะของพิพิธภัณฑ์วันเดียว เพราะหลังจากดูแล้วก็จะให้นำกลับไปเช่นเดิม” ดร.พลวัฒกล่าว
ด้าน นายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเวียงเชียงรุ้ง กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองโบราณแห่งนี้ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อภายนอกมากนัก และทราบว่าทางกรมศิลปากรก็เคยเข้าไปสำรวจเมื่อหลายปีมาแล้ว ดังนั้น ทางอำเภอจะได้ติดตามและสนับสนุนการศึกษาอย่างใกล้ชิด และเมื่อมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการ ก็จะส่งเสริมให้เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์และสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งจะได้จัดระบบการดูแลรักษาโดยร่วมกับข้าราชการในพื้นที่ อาสาสมัครฝ่ายต่างๆ เพราะเมื่อมีของโบราณก็ย่อมต้องดูแลให้ดีมากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะสูญหายไปเรื่อยๆ
พระโกเมศกล่าวว่า วัดเวียงเชียงรุ้งได้รับการยกฐานะเป็นวัดเมื่อปี 2531 จากเดิมก็เป็นวัดร้างหรือโบราณสถานอยู่แล้ว ซึ่งก็พบว่าที่ผ่านมาเมื่อไม่มีการดูแลก็มีคนเข้าไปขุดหาสมบัติของเก่ากันอย่างเอิกเกริก จนโบราณวัตถุถูกนำเอาไปเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันจึงเหลือถ้วยโถโอชามและวัตถุต่างๆ ที่คนอาจจะเห็นไม่มีค่าทิ้งเอาไว้ จึงได้ร่วมกับชาวบ้านเก็บสะสมของที่พอจะเหลืออยู่เอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นภายในวัด กระทั่งมาพบหลักศิลาจารึกที่คนหาของเก่าทิ้งเอาไว้ ซึ่งบ่งบอกที่มาดังกล่าว และเมื่อมหาวิทยาลัยเข้าไปทำการศึกษาก็เชื่อว่าในอนาคตจะได้รับบูรณะมากขึ้นกว่าเดิมต่อไป
ทั้งนี้ วัดโดยพระโกเมศได้จัดทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ชาวบ้านเก็บได้เอาไว้กว่า 1,000 ชิ้น ทำให้คณะศึกษาสามารถเข้าศึกษาได้โดยสะดวกมากขึ้น และหนึ่งในความแปลกใหม่ที่คณะได้ค้นพบ คือ เครื่องสังคโลกต่างๆ ที่ค้นพบซึ่งนอกจากจะมาจากแหล่งต่างๆ ในพื้นที่เดียวกัน เช่น เวียงกาหลง ฯลฯ ยังเป็นเศษเครื่องสังคโลกจิ่งเตอเจิ้น ที่อยู่ในสมัยจักรพรรดิเจิ้งถุง และจักรพรรดิเทียนซุ่น ในราชวงศ์หมิงของจีนด้วย