xs
xsm
sm
md
lg

พอช.หนุน 9 ต.6 จว.เหนือล่าง ทำแผนที่ 1:4 พันนำร่องแก้ปัญหาที่ดินยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหนุนท้องถิ่น 9 ตำบลเขต 6 จังหวัดเหนือล่าง จัดทำแผนที่ 1 : 4,000 แก้ไขปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน เหตุพื้นที่ทำกินประชาชนอยู่ในเขตป่าสงวน เชียร์ “ยิ่งลักษณ์”เดินหน้า “โฉนดชุมชน-ตั้งกองทุนฯ-ธนาคารที่ดิน”

รายงานข่าวจากจังหวัดพิษณุโลกแจ้งว่า คณะกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ดินภาคเหนือร่วมกับเครือข่ายที่ดินภาคเหนือตอนล่าง, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ร่วมจัดเวที “การบันทึกความร่วมมือการแก้ไขปัญหาที่ดินภาคเหนือตอนล่าง” ที่วัดศรีบุญเรือง ต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ 23 ส.ค.54 จนถึงวันนี้ (24 ส.ค.) โดยมีตัวแทนเครือข่ายที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์จำนวน 150 คนเข้าร่วมเวที พร้อมกับลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน

นายปฏิภาณ จุมผา ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) กล่าวว่า อพช.ได้อนุมัติงบประมาณวงเงิน 5,400,000 บาทให้กับ 9 ตำบลใน 6 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบไปด้วย ตำบลบ้านดง ตำบลวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก/ตำบลหลักด่าน ตำบลวังกวาง ตำบลปากช่อง จังหวัดเพชรบูรณ์/ตำบลขุนฝาง จังหวัดอุตรดิตถ์/ตำบลโป่งแดง จังหวัดตาก/ตำบลบ้านตึก จังหวัดสุโขทัย/ตำบลท่าไม้ จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้มีการวางแผนร่วมกันระหว่างคณะทำงานในพื้นที่ ในการปฏิรูปปัญหาที่ดิน

ภายใต้เป้าหมาย ทำระบบข้อมูลทั้งตำบลในการจัดทำแผนที่ทำมือและทำแผนที่ 1:4000 โดยเครื่องมือ GPS ใช้สำหรับเป็นแผนที่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหางานที่ดิน 81 ตำบลทั่วภาคเหนือ

นายปฏิภาณ ยังระบุอีกว่า ถามว่า ทำไมปัญหาที่ดิน ในประเทศไทยจึงแก้ไม่จบ คำตอบคือ 1.คนไทยใช้ ที่ดิน หรือโฉนด เป็น “สินค้า”แลกเปลี่ยน หากใช้เป็น “ที่ดินทำกิน”ปัญหาก็จบ 2.มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้พัฒนาสิทธิทำกิน 3.เน้นระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4.รัฐบาลรวมศูนย์ในการจัดการที่ดิน

ดังนั้น จะต้องแก้ปัญหา โดยเริ่มมาคุยกันใหม่ ว่าด้วยความเป็นจริง เปลี่ยนความคิด ที่ดิน ของปัจเจกบุคคล เป็นที่ดินทำกินโดยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หรือจัดการด้วย “โฉนดชุมชน” และตามด้วยการจัดตั้งกองทุนที่ดิน หากสิทธิในที่ดินของคนในชุมชนมีปัญหา ต้องการใช้เงินหรือเอาไปเป็นหลักประกัน ซึ่งต่อไป จะต้องไปกู้เงินกับ “ธนาคารที่ดิน”ที่ควรจัดตั้งขึ้นมาใหม่

ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับ นายณัฐวัฒิ อุปปะ เครือข่ายทรัทพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง ที่ระบุว่า โฉนดชุมชนอยากให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ เพราะโฉนดชุมชนไม่ใช่นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นสิ่งที่คนในชุมชนต้องการ สิ่งที่ ปชป.ทำไปแล้ว คือ นำที่ดินราชพัสดุไปจัดสรรเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ที่ภาคใต้ และ แม่อาว จ.เชียงใหม่ โดยการออกโฉนดชุมชุมเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด เพราะไม่ได้ทำในเขตที่ดินทำกินของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ ที่ดินในป่าสงวนโซน C

“หากรัฐบาลชุดนี้ดำเนินการออกโฉนดชุมชนได้ ก็เชื่อว่า เป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ดินทำกิน และที่ดินจะไม่ตกอยู่กับมือนายทุน”

นายสมบูรณ์ สังข์เครืออยู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง กล่าวว่า ต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก มีพื้นที่บางส่วนตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งประชาชนได้ครอบครองอยู่อาศัยทำกินสืบต่อจากบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันหลังมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนทำให้ประชาชนกว่า 300 ราย พื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ถูกคุกคาม ถูกเรียกเก็บเงิน ไม่กล้าลงทุน อยู่อย่าหวาดระแวง จากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม และเกือบทุกคนที่ทำกินในพื้นที่ป่าสงวน จำเป็นต้องปลูกข้าวโพดหรือมันสำปะหลังเท่านั้น ไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้

“เขาหวังว่า เวทีครั้งนี้ จะสร้างรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยองค์กรชุมชนในท้องถิ่นได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น