ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - พนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว คดี 22 รีสอร์ตเขาแผงม้า รุกป่าสงวนฯ เรียกขอหลักฐานเพิ่มเติมจากป่าไม้ประกอบสำนวนเพื่อเดินหน้าคดี ด้านป่าไม้พร้อมให้ข้อมูลเร่งประสานส่วนกลางส่งถึงมือตำรวจ เผยหากเจ้าของ 22 รีสอร์ตยังมุดหัวไม่มาแสดงตัวภายใน 15 วัน เตรียมลุยใช้ กม.ป่าไม้ ม.25 เข้าปักป้ายสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างใน 45 วัน ชี้หากรู้ตัวเจ้าของชัดพร้อมฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายเพิ่ม
วันนี้ (17 ส.ค.) นายชัยยงค์ ฮมภิรมย์ นายอำเภอวังน้ำเขียว ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีรีสอร์ตบ้านพัก 22 แห่ง บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หลังจาก นายไพโรจน์ ชุ่มเพ็งพันธุ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ผู้ชำนาญงาน หัวหน้าป้องกันรักษาป่าไม้ที่ 4 นครราชสีมา (เขาภูหลวง) กรมป่าไม้ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว ว่า ขณะนี้การดำเนินการสืบสวนอยู่ในระหว่างขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ของผู้ร้อง ในการเข้าให้รายละเอียดข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบสำนวนคดี โดยพนักงานสอบสวนจำเป็นที่ต้องรับทราบข้อมูลทุกอย่างโดยละเอียด ทั้งในส่วนของจุดพิกัดที่ ตั้ง รายละเอียดพื้นที่ที่มีการบุกรุก และการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกในครั้งนี้ ของรีสอร์ตบ้านพัก ทั้ง 22 แห่ง
ขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนได้รับข้อมูลเพียงแค่สถานที่ตั้งของรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่งเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นยังไม่ได้รับข้อมูล จึงต้องเชิญ นายไพโรจน์ ผู้กล่าวหาลงพื้นที่พร้อมกับพนักงานสอบสวนเพื่อชี้จุดที่ตั้งรีสอร์ต บ้านพักทั้ง 22 แห่ง ให้รู้จุดพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนที่แน่ชัด ล ส่วนรายละเอียดต่างๆ ที่จะนำมาประกอบสำนวนคดียังคงต้องรอข้อมูลจากผู้ร้อง ที่จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวนต่อไป
“ล่าสุด พนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว ได้ทำหนังสือไปถึงหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่ 4 นครราชสีมา เพื่อให้เร่งนำข้อมูลหลักฐานทั้งรายละเอียดที่กล่าวข้างต้น ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อนำไปประกอบสำนวนจัดเตรียมไว้ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งควบคู่ไปด้วย” นายชัยยงค์ กล่าว
พ.ต.ท.โชติ ตระกูล รองผู้กำกับการ สภ.วังน้ำเขียว ผู้ควบคุมการสอบสวนคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ต.วังน้ำเขียว เปิดเผยว่า ในส่วนของกระบวนการดำเนินคดีนั้นถึงแม้ทางตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว จะรับแจ้งความดำเนินคดีกับรีสอร์ตทั้ง 22 แห่งแล้ว แต่ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนขณะนี้ยังเป็นไปค่อนข้างลำบาก เนื่องจากข้อมูลที่ทางพนักงานสอบสวนได้รับมาจากทางผู้กล่าวหานั้น ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีเพียงพิกัดที่ตั้งของรีสอร์ตทั้ง 22 แห่งที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ทั้งผู้ครอบครองพื้นที่ รายละเอียดพื้นที่ที่ทางหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่ 4 นครราชสีมา ระบุว่า ถูกบุกรุก และมูลค่าความเสียหายนั้นยังไม่มีการแจ้งข้อมูลเข้ามา ซึ่งในส่วนนี้ตนได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่ 4 นครราชสีมา ให้นำข้อมูลเหล่านี้มาแสดงต่อพนักงานสอบสวนอย่างเร่งด่วนแล้ว
สำหรับการสืบสวนหาตัวผู้ครอบครองพื้นที่หรือเจ้าของรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่งที่ถูกกล่าวหานั้น ขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการดำเนินการสืบสวนสอบสวนฝ่ายปกครองในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ที่น่าจะมีส่วนรับรู้ในการอนุญาตให้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งทางผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อติดตามตัวเจ้าของรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่ง มารับทราบข้อกล่าวหา และเชิญมาให้ปากคำ พร้อมกับให้โอกาสนำหลักฐานในการถือครองพื้นที่มาแสดงกับทางพนักงานสอบสวนอีกทางหนึ่งด้วย
“การสอบสวนดำเนินคดีจะสรุปผลออกมาได้เมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลหลักฐานที่ทางพนักงานสอบสวนต้องการประกอบสำนวนคดีจากทางผู้กล่าวหา และการติดตามหาตัวเจ้าของรีสอร์ตบ้านพักมาให้ปากคำ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าของรีสอร์ตบ้านพักที่ถูกกล่าวหามาแสดงตัวกับทางพนักงานสอบสวนแม้แต่รายเดียว” พ.ต.ท.โชติ กล่าว
ขณะ นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) กล่าวถึงการเตรียมข้อมูลหลักฐานเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียวดำเนินคดีกับเจ้าของรีสอร์ต บ้านพักทั้ง 22 แห่งที่บุกรุกป่า ว่า ขณะนี้ทางกรมป่าไม้ อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการโดยใช้อำนาจ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2524 มาตรา 25 ในการตรวจสอบรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่งดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองพื้นที่และเจ้าของสิ่งปลูกสร้างทั้ง 22 แห่งนำหลักฐานเอกสารการถือครองพื้นที่มาแสดงกับทางเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน ซึ่งกระบวนการนี้ได้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา และหากครบระยะเวลา 15 วันยังไม่มีผู้ใดนำหลักฐานมาแสดงกับทางเจ้าหน้าที่ ทางกรมป่าไม้ก็จะติดประกาศสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 45 วัน และหากไม่ปฏิบัติตามทางกรมป่าไม่จะดำเนินการเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเองทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมป่าไม้ที่มีอยู่
ส่วนการดำเนินคดีทางกฎหมายในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ นั้น ทางกรมป่าไม้ มีนายไพโรจน์ ชุ่มเพ็งพันธุ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่ 4 นครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งหากตำรวจต้องการข้อมูลหลักฐานต่างๆ ดังที่ระบุมานั้น นายไพโรจน์ คงต้องแจ้งไปยังกรมป่าไม้เพื่อขอข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ถูกบุกรุก รวมถึงรายละเอียดมูลค่าความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นจากรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่งที่ชัดเจนนั้นขณะนี้ทางกรมป่าไม้เองยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเพื่อความแน่ชัด โดยอยู่ในห้วง 15 วันของการให้โอกาสผู้ครอบครองพื้นที่ มาแสดงหลักฐานเอกสารสิทธิกับทางเจ้าหน้าที่เพื่อดูว่ามีหลักฐานอะไร ที่ระบุความเป็นเจ้าของ แต่หากไม่มีใครมาแสดงก็จะติดป้ายสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 45 วัน หากไม่รื้อทางกรมป่าไม้ก็จะเข้าไปรื้อสิ่งปลูกสร้างเองทั้งหมด
“หากครบกำหนดการรื้อถอนแต่ผู้ประกอบการยังนิ่งเฉย ทางกรมป่าไม้จำเป็นต้องเป็นผู้สำรองออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่ไปก่อน เพื่อรอผลการสอบสวนหาตัวผู้เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างและผู้ครอบครองพื้นที่รีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่งของพนักงานสอบสวน หากสามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ชัดเจน ทางกรมป่าไม้ก็เตรียมฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงเรียกค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทางกรมป่าไม้สำรองค่าใช้จ่ายไปก่อนด้วยเช่นเดียวกัน” นายสุเทพ กล่าว