xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ฯสั่งจำคุก ผอ.กองคลัง ทม.พิจิตร ไม่รอลงอาญา/ผิด ม.157

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ผอ.กองคลัง เทศบาลเมืองพิจิตร เหตุไม่ขายแบบให้ผู้รับเหมา ผิดตามมาตรา 157

วันนี้ (17 ส.ค.) ศาลจังหวัดพิจิตร อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คดีหมายเลขดำที่1494/52 คดีหมายเลขแดงที่ 819/53 ในคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.48 ซึ่งเทศบาลเมืองพิจิตร ได้มอบหน้าที่ให้นางจรรยา สุขเจริญพงษ์ อายุ 56 ปี ผอ.กองคลังเทศบาลเมืองพิจิตร และ นางจิราพร ตุ้มประสิทธิ์ อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่พัสดุ 6 ว. เป็นผู้ขายเอกสารสอบราคาจ้างเหมาติดตั้งไฟสัญญาณจราจรและป้ายจราจร

วันเกิดเหตุได้มีผู้เสียหายที่ 1 ได้แก่ หจก. DRT Treadingโดยนางสาวสมศรี ด่านรุ่งโรจน์, ผู้เสียหายที่ 2 ได้แก่ หจก.ก้อนเพชร โดย นางวรรณธิดา สหธรรมรังสี, ผู้เสียหายที่ 3 ได้แก่ หจก.พ.วิริยะก่อสร้าง โดย นายพงษ์ศักดิ์ หงษ์ดวงภู่, ผู้เสียหายที่ 4 ได้แก่ หจก.โรจนากร โดยนายภิญโญ ตั้งพานิช, ผู้เสียหายที่ 5 ได้แก่ หจก.วงศ์สระหลวงก่อสร้าง โดยนายนิภาพร เพ็ชรสลุด ไปขอซื้อแบบและเอกสารสอบราคา เพื่อจะเสนอราคาตามประกาศ

ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองคน คือ นางจรรยา สุขเจริญพงษ์ อายุ 56 ปี ผอ.กองคลังเทศบาลเมืองพิจิตร และนางจิราพร ตุ้มประสิทธิ์ อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่พัสดุ 6 ว.ปฏิเสธการขายแบบสอบราคางานรับเหมาก่อสร้างดังกล่าว โดยให้ข้อมูลอันเป็นเท็จกับผู้รับเหมา ว่า ไม่มีการขายเอกสารหรือมีการสอบราคาแต่อย่างใด

แต่ผู้รับเหมาทั้งหมดมีประกาศของทางเทศบาลเมืองพิจิตรอยู่ในมือเป็นหลักฐาน จึงได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองพิจิตร เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.54 จากนั้นตำรวจรับแจ้งความและมีการสอบสวนทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล และรวบรวมความผิดจนส่งฟ้องศาลยุติธรรม และใช้เวลาต่อสู้คดีซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองรายให้การปฏิเสธมาโดยตลอดในศาลชั้นต้น แต่พอถึงขั้นสืบพยานโจทก์สำเร็จกลับถอนคำให้การ และให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ในศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 2 หมื่นบาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 1 หมื่นบาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษมาก่อน พฤติกรรมแห่งคดีเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิเสธการขายแบบโครงการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรและป้ายจราจร ส่วนแบบโครงการอื่นๆที่มีการประกาศขายพร้อมกันนั้นจำเลยก็ยังคงขายให้แก่ผู้เสียหาย กรณีสภาพแห่งความผิดยังคงมีเหตุอันควรปราณี เห็นควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตนเป็นพลเมืองดีโทษจำคุกให้รออาญาจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และ มาตรา 30 โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ส.ค.54 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้ส่งคำพิพากษามายังศาลยุติธรรมจังหวัดพิจิตรเพื่ออ่านคำพิพากษา โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตรวจสำนวนและประชุมรวมถึงพิเคราะห์มูลแห่งคดีแล้วว่า จำเลยทั้งสองต่างเป็นผู้สูงด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิศึกษาต่างรับราชการมานานจนมีตำแหน่งในหน้าที่การงานระดับสูง นับได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ผิดชอบชั่วดีการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่กีดกันผู้ประกอบการไม่ให้มีโอกาสแข่งขันกันในการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม และมีผลให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตลอดถึงประชาชนที่อาจต้องได้รับสินค้าหรือผลงานที่ด้อยคุณภาพและหรือด้วยราคาที่สูงเกินสมควร ซึ่งนับว่าเป็นการเสียหายของสังคมและประเทศชาติโดยรวมที่สูงสุดยิ่ง

เฉพาะจำเลยที่ 1 คือ นางจรรยา สุขเจริญพงษ์ อายุ 56 ปี ผอ.กองคลังเทศบาลเมืองพิจิตร เคยกระทำความผิดและเคยถูกลงโทษทางวินัยมาแล้ว แต่ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมายุ 80 พรรษา เมื่อ พ.ศ.2550 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงพิจารณาว่าเป็นกรณี “ไม่สมควรรอการลงโทษ” จึงมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือให้จำคุก 1 ปี โดยไม่ให้มีการรอลงอาญา

ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างกับข้าราชการอื่นสืบไป สำหรับข้ออ้างต่างๆ ตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุผลและน้ำหนักพอที่จะให้รอการลงโทษแก่จำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 6 อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองและไม่รอการลงโทษจำเลยทั้งสอง ดังกล่าว

ซึ่งหลังจากจำเลยฟังคำพิพากษาแล้วได้ยื่นขอประกันตัว และจะขอต่อสู้ยืนยันในความบริสุทธิ์ของจำเลยในชั้นศาลฎีกาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น