xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดีกรมชลฯ เผย หากฝนไม่ตกช่วงนี้จะระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - รองอธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับหากไม่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้จะมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,700 ลบ.ม./วินาที จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.พร้อมยอมรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบายน้ำจนทำให้พระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วม ไม่ได้ลักลั่น หรือช่วยเหลือสุพรรณบุรี แต่อย่างใด

วันนี้ (17 ส.ค.) นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล พร้อมผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช และผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินทางไปยังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ม.1 ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วม โดยพบว่าจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่บ่อดูดทรายเก่า มีร่องน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างบ่อทรายกับแม่น้ำ โดยทางเทศบาลตำบลบางบาล มีการทำแนวคันดิน ป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว โดยในจุดนี้เทศบาลตำบลบางบาล เสนอแนวทางในการทำประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งรองอธิบดีกรมชลประทาน รับว่าจะนำไปเสนอกรมชลประทานให้

จากนั้นคณะทั้งหมดเดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำบางกุ้ง ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วม โดยพบว่า จุดดังกล่าวระดับน้ำหน้าประตูระบายน้ำสูงกว่าในคลองบางกุ้ง ถึง 2.50 เมตร ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะต้องรอข้าวในทุ่งบางบาลของชาวนาเก็บเกี่ยวช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ก่อน จึงจะระบายน้ำเข้าทุ่งได้ นอกจากนี้ยังพบว่าที่ประตูระบายน้ำแห่งนี้ชำรุด ไม่สามารถยกเพื่อระบายน้ำได้ในช่วงนี้ โดยรองอธิบดีกรมชลประทานสั่งให้เร่งซ่อมแซมโดยเร็ว เพราะหากถึงหน้าแล้งจะไม่สามารถดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาเก็บกักไว้ได้

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวยอมรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กรณีที่ชาวบ้านใน จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งข้อสังเกตว่า น้ำท่วมอยุธยาทุกปี แต่ จ.สุพรรณบุรี น้ำไม่ท่วมนั้น ตนยืนยันว่า การระบายน้ำของกรมชลประทานไม่ได้มีการลักลั่นในการระบายน้ำแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ก็มีการระบายน้ำผ่านประตูพลเทพ เข้า จ.สุพรรณบุรี ในอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากระบายน้ำมากว่านี้น้ำจะท่วมพื้นที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เพราะพื้นที่ ต่ำกว่า จ.สุพรรณบุรี ประกอบกับแม่น้ำท่าจีน ตื้นเขินหากระบายน้ำมาเท่าไรก็จะไหลย้อนกลับมา จ.พระนครศรีอยุธยา มากเช่นกัน ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยา จำเป็นต้องระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพราะแม่น้ำใหญ่ และมีความกว้างมาก

นายวีระ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดขุดเจ้าพระยา 2 เพื่อระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย และเคยเสนอแนวคิด ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปแล้ว แต่เมื่อนำข้อมูลไปชี้แจงต่อกรรมมาธิการ กลับถูกตัดออกไป ด้วยเหตุผลว่าใช้งบประมารมาก ซึ่งหากมีการขุดเจ้าพระยา 2 จริง ก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ โดยการขุดแม่น้ำผ่านกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงในจุดที่มีการก่อสร้างทางด่วน ใช้การวางแนวท่อระบายน้ำใต้ทางด่วน แต่จะต้องมีการออกแบบระวิศวกรรม ให้รองรับน้ำหนักรถที่วิ่งบนทางด่วนได้ด้วย ซึ่งวิธีนี้จะประหยัดงบประมาณและใช้พื้นที่น้อยที่สุด

นอกจากนี้ กรมชลประทาน มีแผนการผลักดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าทุ่งในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.อ่างทอง แล้ว โดยมอบให้โครงการส่งน้ำฯ ของกรมชลประทานไปพูดคุยกับชาวบ้าน ในการจ่ายเงินชดเชย หรือการทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวช่วงน้ำท่วม หรือการปล่อยพันสัตว์น้ำ เพื่อให้ชาวบ้านที่ต้องแบกรับภาระมีอาชีพในช่วงน้ำท่วม รวมถึงการใช้พื้นที่บ่อทรายที่ไม่มีการทำธุรกิจ เป็นพื้นที่รับน้ำด้วย

สำหรับระดับน้ำท่วมในปีนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ชาวบ้านริม 2 ฝั่งเจ้าพระยา ในบางพื้นที่ จะถูกน้ำท่วม เพราะตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้จะมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่อง สูงสุดจะอยู่ที่ 1,700-1,800 ลบ.ม./วินาที แต่หากมีฝนตกจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่น ก็จะมีน้ำเพิ่มในภาคเหนือ ซึ่งชาวบ้านภาคกลางสังเกตได้จากหากมวลน้ำที่ จ.นครสวรรค์ มีมากถึง 2,300-2,500 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาก็จะระบายน้ำใกล้เคียงกันด้วย ซึ่งจะเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมาอีกเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น