xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานอยุธยา แจ้งชาวบ้านรับน้ำท่วมสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - ชลประทานอยุธยา แจ้งชาวบ้านรับน้ำท่วมสูงอีก 40-50 ซม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้

เวลา 14.00 น.วันนี้ (31 ส.ค.) ชลประทาน จ.อยุธยา แจ้งชาวบ้านรับน้ำท่วมสูงอีก 40-50 ซม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับชาวนาบางส่วน ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันตามที่กรมชลประทาน แจ้งเตือนเมื่อวานนี้

ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15-20 เซนติเมตร โดยเฉพาะในคลองบางบาล และคลองบางหลวง อ.บางบาล อันเนื่องมาจากผลการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ถึง 2,149 ลบ.ม./วินาที จึงทำให้น้ำที่ท่วมอยู่แล้วในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มมากขึ้นอีก

นายไมตรี ปิตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในวันนี้เขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นอีกในช่วง 1 สัปดาห์นี้ เนื่องจากน้ำจากภาคเหนือ โดยเฉพาะท้ายเขื่อนสิริกิติ์ เริ่มมาถึง จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา แล้ว จึงอยากให้ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมอยู่แล้ว เตรียมรับมือน้ำระลอกใหญ่อีก อย่างไรก็ตาม ชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อีก เพราะแนวโน้มที่จะเกิดดีเปรสชั่นในประเทศไทยมีขึ้น

ส่วนกรณีที่กรมชลประทาน แจ้งเตือนไปยังชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง ให้เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนกลางเดือนกันยายน นี้ นั้น ล่าสุด นายวิเชียร พวงลำเจียก ประธานกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชาวนาหลายอำเภอใน จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว แต่มีบางพื้นที่ อย่างเช่น อ.ผักไห่ และ อ.บางบาล บางส่วนยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน เพราะชาวนาเปลี่ยนรอบการปลูกข้าวใหม่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวในช่วง 15 กันยายน ไปแล้ว แต่หากกรมชลประทานจะมีการระบายน้ำ เข้าไปยังพื้นที่การเกษตรเพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างเช่น ข้าว เสียหายแน่นอน

สำหรับกรณีการชดเชยนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมของรัฐบาล นั้น ตนเองมองว่ารับได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็ดีกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา แต่หากจะให้ดีชาวนา มองว่า การชดเชยเงินให้กับชาวนา และชาวสวน ที่ได้รับความเสียหายจากการระบายน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร นั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงอยากจะให้กรมชลประทาน คิดแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมซ้ำซาก ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ทุกปี

ด้าน นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า นายอำเภอ และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จะต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพราะไม่อยากให้มีการร้องเรียนเหมือนเช่นชาวบ้านที่ อ.บางบาล ซึ่งนายอำเภอ และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับชาวบ้าน ในการช่วยเหลือช่วงน้ำท่วมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น