บุรีรัมย์ - สสจ.บุรีรัมย์ ร่วมกับสถาบันกัลยาราชนครินทร์ และรพ.จิตเวชนครราชสีมา ติวเข้มหลักการและเทคนิคการเจรจาต่อรองช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤตเสี่ยงฆ่าตัวตายและการใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต ให้กับบุคลากรสาธารณสุข และตำรวจ หลังพบแนวโน้มอัตราเสี่ยงคิดฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
วันนี้ (16 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ ร่วมกับสถาบันกัลยาราชนครินทร์ กองบังคับการฝึกอบรมตำรวจกลาง โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเจรจาต่อรอง เพื่อช่วยเหลือบุคคลในภาวะวิกฤตและการใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรม ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรสาธารณสุขจากหน่วย EMS ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและเทคนิคการเจรจาต่อรอง รวมถึงสามารถประเมินภาวะจิตใจ และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤต ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายให้ได้พ้นจากภาวะวิกฤตและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
หลังพบแนวโน้มผู้มีอัตราเสี่ยงคิดฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จากข้อมูลพบว่า จ.บุรีรัมย์ มีจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จากปี 2548-2553 คิดเป็น 4.98, 7.01, 6.05, 5.20, 40.74 และ 50.59 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งจะเห็นว่าปัญหาการฆ่าตัวตายยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และมีความรุนแรงมากขึ้น
ด้าน นางวัลลี ธรรมโกสิทธิ์ นักจิตวิทยา สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ยอมรับว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแทบทุกกลุ่มอาชีพ และกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตของประชาชน บางรายที่ไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ อาจมีภาวะซึมเศร้าท้อแท้ ผิดหวัง ความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุคคลกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายบุคคลอื่นร่วมด้วย เช่น การกระโดดจากที่สูง การทำร้ายเด็กและสตรี หรือจับเป็นตัวประกัน เป็นต้น
“ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว และสังคมซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤตเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายให้พ้นจากภาวะวิกฤตและสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข” นางวัลลีกล่าว