xs
xsm
sm
md
lg

นกน.เตรียมยื่น “ปู 1” แก้กองทุน กชก.ที่ช่วยเฉพาะเกษตกรกรที่สิ้นเนื้อปะดาตัวเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นกน.เตรียมยื่น “ปู 1”แก้กองทุนกชก.ที่ช่วยเฉพาะเกษตกรกรที่สิ้นเนื้อปะดาตัวเท่านั้น
เชียงราย - กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือประชุมเครือข่ายทั้งหมดกว่า 400 คน เพื่อรวบรวมปัญหา และข้อมูลทั้งหมดของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ที่มีปัญหาในขณะนี้โดยเตรียมเสนอข้อเรียกร้องทั้งหมดให้รัฐบาลปู 1 ช่วยเหลือในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ส่วน ผอ.กชก.ระบุกองทุนนี้มีข้อแม้จะช่วยเฉพาะเกษตกรที่สิ้นเนื้อประดาตัวเท่านั้น

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ห้องประชุมคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ได้จัดประชุมเครือข่าย “กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน” (กชก.) ขึ้น โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 100 คน ซึ่งนายประนอม เชิดชัยภูมิ กรรมการการเมืองภาคประชาชน จ.เชียงราย และประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ.เชียงราย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการประชุมเครือข่าย ว่าเกิดจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนยังคงมีฐานะยากจนอยู่เป็นจำนวนมากและปัญหาใหญ่เกิดจาก 2 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องปัญหาหนี้สินและปัญหาที่ดินทำกิน โดยพบว่าจากที่ดินทั้งประเทศ 320 ล้านไร่ พบว่า มีที่ดินเพื่อการทำกินประมาณ 40% แต่ในจำนวนนี้ พบว่า อยู่ในมือของคนรวยที่มีอัตราส่วนแค่ 10% ของประชากรทั้งหมดเฉลี่ยรายละกว่า 100 ไร่ ขณะที่ชาวนาจนๆ มีอัตราเฉลี่ยที่ดินรายละเพียงประมาณ 1.5 ไร่เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อปี 2528 จึงมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดตั้ง กชก.ขึ้น โดยมีการแก้ไขระเบียบ 2 ครั้ง คือ ในปี 2537 และ ปี 2552 แต่ปรากฏว่า เงื่อนไขที่อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนนั้น กลับทำให้เกษตรกรและคนยากจนเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือหรือไม่เอื้อต่อกันเลย เช่น มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นเกษตรกรที่มีรายได้สุทธิปีละไม่เกิน 87,000 บาท เมื่อไปกู้ก็ต้องมีหลักค้ำประกันและให้ทางธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ประเมิน ผู้กู้ต้องเป็นหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ เท่านั้น ต้องเป็นลูกหนี้ที่ถูก ธ.ก.ส.ปฏิเสธไม่ให้กู้ยืมมาแล้วเท่านั้นถ้า ธ.ก.ส.ไม่ปฏิเสธก็ให้ไปกู้กับ ธ.ก.ส.แทน เป็นต้น

ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรจึงมีแนวทางว่าจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และจัดทำเป็นแนวทางแก้ไขเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ กชก.จากนั้นภายในเดือน ก.ย.นี้ จะรวมตัวกัน และนำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ซึ่งผลที่คาดหวังเอาไว้ คือ จะได้รับความสำคัญจนมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไขปัญหา 1 ชุด โดยมีตัวแทนของเกษตรกรเข้าร่วมด้วย จากนั้นจะมีการประกาศใช้ระเบียบใหม่ที่เอื้อต่อเกษตรกรและคนยากจนมากขึ้นในเดือน ม.ค.2555 ต่อไป

นายสมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทนเกษตรกร จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันมีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและคนยากจนอยู่ 2 กองทุน คือ กองทุนฟื้นฟูฯ และ กชก.ซึ่งกรณีกองทุนฟื้นฟูฯ พบว่า เริ่มมีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว แต่ กชก.ยังเป็นปัญหาด้านการปฏิบัติอยู่ เพราะคนจนมักเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของชาติได้น้อยมาก

นายวรวิทย์ อยู่วัฒนา ประธานกลุ่มเครือข่ายพัฒนาเกษตร จ.เชียงราย ในฐานะแกนนำผู้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรกร กล่าวว่า เกษตรกรและคนยากจนส่วนใหญ่ที่จะเข้าร่วม กชก.ต่างเป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 90% เพราะคนเหล่านี้เป็นหนี้สินที่ไม่สามารถชำระได้ เมื่อไม่สามารถชำระได้ก็ต้องหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาชดเชยหรือใช้หนี้ แต่ปรากฎว่าการเข้าถึงการช่วยเหลือจาก กชก.ทำได้ยากมาก

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ต่อมาว่าที่ ร.ต.สมบูรณ์ทรัพย์ กล้าวิกรณ์ ผู้อำนวยการ กชก.ได้เดินทางไปชี้แจงกับกลุ่มเกษตรกรว่า กชก.จัดตั้งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนเพราะคนไทยยังยากจนอยู่มาก แต่เนื่องจากกองทุนนี้มีเงินทุนอยู่น้อยแค่ประมาณ 2-3 พันล้านบาท จึงไม่สามารถเปิดกว้างให้คนทั่วไปได้เข้ากู้ยืมยกเว้นสมาชิก ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าสู่ขั้นจะสิ้นเนื้อประดาตัวหรือขั้นโคม่าจริงๆ เท่านั้น เช่น ให้กู้ไปทำไร่และทำนาเท่านั้น ต้องถูกฟ้องร้องจนศาลสั่งให้ยึดทรัพย์ เป็นต้น กระนั้นก็มีการช่วยนอกระบบด้วยการให้กู้ยืม ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามได้จากตัวแทนเกษตรกร
นกน.เตรียมยื่น “ปู 1”แก้กองทุนกชก.ที่ช่วยเฉพาะเกษตกรกรที่สิ้นเนื้อปะดาตัวเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น