xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มจ.เหนือตอนบน 1 เสริมเขี้ยวเล็บด้านลอจิสติกส์ ดึงผู้ผลิตซอฟต์แวร์ท้องถิ่นช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ผลิตซอฟต์แวร์เชียงใหม่เดินหน้าทำซอฟต์แวร์ลอจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชื่อผู้ประกอบการตอบรับ-ใช้ซอฟต์แวร์ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ-ลดต้นทุน ด้านหัวหน้าโครงการฯ เผยตั้งเป้าผู้ผลิตซอฟต์แวร์-ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็นหัวหอกนำสังคมเห็นความสำคัญใช้ซอฟต์แวร์พัฒนาระบบลอจิสติกส์-ยอมรับซอฟต์แวร์ฝีมือคนไทย

นายกิตติชัย พิพัฒน์บุญญารัตน์ Managing Director บริษัท Aristo Solution Technology จำกัด ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าร่วมในการจัดทำซอฟต์แวร์ปรับปรุงประสิทธิภาพลอจิสติกส์สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งภายใต้ในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการลอจิสติกส์ กลุ่มจังหวัดเชื่อมโยง GMS เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยได้รับผิดชอบในการจัดทำซอฟต์แวร์ด้านลอจิสติกส์ให้กับบริษัทหนองหอยปิโตรเลียม และบริษัทเจริญมอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกัน

สำหรับซอฟต์แวร์ที่บริษัทจัดทำให้กับผู้ประกอบการทั้งสองรายนั้น จะเกี่ยวข้องกับระบบ GPS เป็นหลัก โดยจะอยู่ในลักษณะของการทำซอฟต์แวร์สำหรับติดตามรถ รวมทั้งบันทึกเรื่องระยะทางการเดินทาง ตำแหน่งของรถ การใช้น้ำมัน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบบัญชีของบริษัทด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อใช้ในการควบคุมต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ บริษัทมีประสบการณ์ในการจัดทำซอฟต์แวร์ทางด้าน GPS การเข้ามาช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการทั้งสองรายนี้จึงจะเป็นการนำซอฟต์แวร์บางส่วนที่มีอยู่แล้วมาใช้งาน และพัฒนาบางส่วนเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ประกอบการ

การดำเนินการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการของผู้ผลิตในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตซอฟต์แวร์ รวมถึงการสัมมนาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการลอจิสติกส์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชื่อมโยง GMS โดยในส่วนของการจัดทำซอฟต์แวร์ปรับปรุงประสิทธิภาพลอจิสติกส์สำหรับผู้ประกอบการนั้น ได้มีการลงนามในสัญญาระหว่างผู้ประกอบการและผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.

นายกิตติชัยกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจหลายรายมีความกระตือรือร้นที่จะนำซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ เช่นเดียวกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีอยู่มากในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ประกอบการอีกมากที่ยังไม่เห็นความสำคัญของการนำซอฟต์แวร์เข้ามามีส่วนในการทำธุรกิจ โดยยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าหากนำซอฟต์แวร์มาใช้แล้วจะช่วยแสริมศักยภาพให้กับธุรกิจได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งยังมีความคิดว่าการนำซอฟต์แวร์มาใช้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่หากมองในระยะยาวแล้ว การนำซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจจะช่วยลดตจ้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก

ด้าน รศ.ดร.อภิชาติ โสภาแดง รองคณบดีฝ่ายบริหารการเงินและวางแผน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำซอฟต์แวร์ปรับปรุงประสิทธิภาพลอจิสติกส์สำหรับผู้ประกอบการ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้นำซอฟต์แวร์เข้าใช้ในการจัดการด้านลอจิสติกส์ โดยผ่านการจัดการอบรมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ก่อนจะทำการจับคู่ธุรกิจ เพื่อให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการตามที่ผู้ประกอบการต้องการ โดยมีบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ 5 รายและผู้ประกอบการอีก 21 รายเข้าร่วมโครงการ

ในส่วนของการคัดเลือกผู้ผลิตซอฟต์แวร์นั้น จะพิจารณาบริษัทที่มีประสบการณ์และตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากทำการจับคู่ธุรกิจไปแล้ว ผู้ผลิตซอฟต์แวร์จะเข้าทำงานในสถานประกอบการของผู้ประกอบการ เพื่อทำการติดตั้งและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ภายใต้การดูแลจากอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ทางโครงการตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ระบบซอฟต์แวร์ทั้งหมดจะพร้อมสำหรับการใช้งานจริงได้

หัวหน้าโครงการจัดทำซอฟต์แวร์ปรับปรุงประสิทธิภาพลอจิสติกส์ สำหรับผู้ประกอบการกล่าวด้วยว่า ทางโครงการฯ คาดหวังว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะถือเป็นหัวหอกที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้เห็นความสำคัญของการนำซอฟต์แวร์มาใช้ในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ซึ่งในระยะยาวจะช่วยลดต้นทุน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในทางธุรกิจ เช่นเดียวกับในส่วนของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่เข้าร่ววมโครงการ ซึ่งนอกจากจะได้เปิดตลาดการทำซอฟต์แวร์ทางด้านโลจิสติกส์แล้ว ยังจะมีส่วนช่วยสร้างการยอมรับถึงฝีมือของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศในมุมมองของผู้ประกอบการอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น