xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาลอจิสติกส์ภาคเหนือตอนบน 1 เดินหน้าบริหารจัดการทั้งระบบ-เสริมไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 1 แถลงข่าวความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการลอจิสติกส์ เชื่อมโยง GMS รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ชี้ ต้องทำให้ระบบเป็นองค์รวมเพื่อลดต้นทุน ด้านนักวิชาการจาก มช.เผยเดินหน้ากระตุ้นผู้ประกอบการเป็นความสำคัญนำไอทีมาใช้เรื่องลอจิสติกส์ให้มากขึ้น ส่วนประธานหอการค้าเชียงใหม่ ย้ำ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันนำเสนอความต้องการที่เหมาะสมเป็นประโยชน์กับกลุ่มจังหวัดให้ภาครัฐสนับสนุน ชู “รถไฟความเร็วสูง” เป็นตัวอย่าง

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมแคนทารีฮิลล์ เชียงใหม่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้จัดการแถลงข่าว รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการลอจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชื่อมโยง GMS ขึ้น โดยมี นายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และ ดร.ธัญญาณุภาพ อานันทนะ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (TDCI) ร่วมในการแถลงข่าว

การแถลงข่าวคืบหน้าของโครงการในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ให้ดำเนินโครงการดังกล่าว ประจำปีงบประมาณ 2554 มูลค่าโครงการ 20 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการด้านลอจิสติกส์ของกลุ่มจังหวัดอย่างเป็นระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กลุ่มจังหวัดสามารถแข่งขันในตลาดได้ รวมทั้งเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 2558 และการขยายตัวทางการค้าในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือ GMS ได้

นายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการดำเนินงานของโครงการ ว่า ได้กำหนดภารกิจหลักของโครงการไว้ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ 2.จัดทำแผนแม่บทปฏิบัติการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มจังหวัด โดยเน้นที่การพัฒนาการบริหารจัดการและการพัฒนาบุคลากร 3. การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบลอจิสติกส์ของผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและทักษะในการทำงาน

4.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการบริหารจัดการลอจิสติกส์ เพื่อให้ต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของผู้ประกอบการลดลง 5.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเชิงพันธมิตร หรือสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ให้บริการของกลุ่มจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันร่วมกัน และ 6.การจัดตั้งศูนย์รวบรวมและแสดงสินค้าของกลุ่มจังหวัด

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อไปว่า ภารกิจต่างๆ เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาการบริหารจัดการด้านลอจิสติกส์ของกลุ่มจังหวัดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาในกลุ่มจังหวัดยังขาดการบริหารจัดการระบบลอจิสติกส์ที่เป็นองค์รวม จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบเพื่อลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ให้ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแข่งขันในตลาดได้ ทั้งในกลุ่ม GMS และในเขตการค้าเสรีอาเซียน

ด้าน ดร.ธัญญาณุภาพ อานันทนะ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (TDCI) กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในส่วนของภาควิชาการ ว่า สิ่งที่ภาควิชาการโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญ คือ การผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาช่วยในการจัดการทั้งด้านข้อมูลและสินค้า เนื่องจากจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอง โดยผ่านการจัดฝึกอบรม และสัมมนาซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการจับคู่ให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ได้ร่วมทำธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์ด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ โดยตั้งเป้าหมายผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมไว้ที่ประมาณ 20 ราย รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ จากผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมสัมมนา เพื่อนำความเห็นเหล่านี้มาใช้ในการทำแผนแม่บทของโครงการอีกด้วย

ขณะที่นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันความสามารถด้านการแข่งขันในเชิงลอจิสติกส์ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนยังไม่ดีพอ ส่งผลให้ต้นทุนด้านนี้สูงถึง 19% เมื่อเทียบกับรายได้ และการใช้ระบบขนส่งทางบกนั้นมีแนวโน้มที่ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น การจัดทำแผนพัฒนาด้านลอจิสติกส์ของกลุ่มจังหวัดในโครงการนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะลดต้นทุนและสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาด้านลอจิสติกส์ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษาที่จะเข้ามาให้ความรู้ และภาครัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยในด้านการลงทุนสร้างเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มจังหวัดได้นำเสนอแนวความคิดต่างๆ และได้รับการตอบรับจากภาครัฐ อย่างเช่นความต้องการให้มีการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

ต่อจากนี้กลุ่มจังหวัดต้องรวบรวมความต้องการของตนเอง และนำเสนอต่อภาครัฐ เช่น การตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านเซรามิกที่ จ.ลำปาง การสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่าง จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ ที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มจังหวัดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น