xs
xsm
sm
md
lg

เงาะผลไม้เศรษฐกิจตัวใหม่เกษตรกรเมืองเลย รสชาติดีไม่แพ้เงาะภาคตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนเงาะลุงอมร ปีนี้ให้ผลดก รสชาดดี ตัดเก็บขายได้แล้วกว่า 1.5 แสนบาท
เลย - เงาะกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ของเมืองเลย เกษตรกรหลายร้อยครอบครัวหันมาปลูกเงาะขายตั้งแต่ปี 35 รสชาติดีไม่แพ้เงาะแถบภาคตะวันออก เจ้าของสวนรายใหญ่เผยปีนี้ขายได้แล้วกว่า 1.5 แสนบาท มีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน ขณะที่บางส่วนนำไปขายในตลาดเอง กิโลกรัมละ 20 บาท

จังหวัดเลย เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในภาคอีสานที่เกษตรกรหันมาปลูกเงาะเพื่อจำหน่าย และหลายปีที่ผ่านมาเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตเงาะออกขายตลาดได้แล้ว ซึ่งเงาะที่ปลูกในจังหวัดเลยมีคุณภาพ รสชาติดีไม่แพ้เงาะที่ปลูกในแถบภาคตะวันออกของไทย พื้นที่ปลูกเงาะส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมือง โดยเฉพาะที่ตำบลน้ำหมาน มีพื้นที่ปลูก 128 ไร่ เกษตรกร 40 ราย ตำบลเสี้ยว พื้นที่ปลูก 123 ไร่ เกษตรกร 30 ราย ตำบลนาโป่ง พื้นที่ปลูก 83 ไร่ เกษตรกร 44 ราย ตำบลน้ำสวย พื้นที่ปลูก 70 ไร่ เกษตรกร 48 ราย

ตำบลนาอาน พื้นที่ปลูก 30 ไร่ เกษตรกร 16 ราย ตำบลนาดินดำ พื้นที่ปลูก 40 ไร่ เกษตรกร 19 ราย และตำบลกกทอง พื้นที่ปลูก 32 ไร่ เกษตกร 12 ราย รวมพื้นที่ปลูกเงาะทั้งหมด 512 ไร่ เกษตร 239 ราย

สวนเงาะ ลุงอมร บ้านสูบ ต.น้ำสวย อ.เมืองเลย ถือได้ว่าเป็นสวนเงาะใหญ่ที่สุดในพื้นที่ อำเภอเมืองเลยก็ว่าได้ ล่าสุดในปีนี้ลุงอมรสามารถตัดเก็บออกขายได้เงินแล้วมากถึง 150,000 บาท

นายระนาญ ศรีบุรินทร์ หรือลุงอมรอายุ 61 ปี เกษตรผู้ปลูกเงาะบ้านสูบ รายเดียวในหมู่บ้าน เล่าว่า ตนได้ซื้อต้นกล้าเงาะมาจาก จังหวัดจันทบุรี เมื่อ ปี 2542 ต้นละ 15 บาท พื้นที่สวนเงาะมีทั้งหมด 13 ไร่ ปลูกเงาะทั้งหมด 340 ต้น พื้นที่บางส่วนได้จัดสรรปลูกสับปะรด แก้วมังกร เป็นต้น เงาะที่สวนของตน ตัดขายมาเป็นเวลา 5 ปี แล้ว ปีที่ผ่านมาขายไม่ค่อยดีเท่าไร และปีนี้สามารถตัดขายไปประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของสวนแล้ว ได้เงินประมาณ 150,000 บาท

สำหรับปีนี้ตันเงาะออกผลเยอะมาก ได้เริ่มเก็บเงาะขายมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม เฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 500 กิโลกรัม มีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน ขายส่งกิโลกรัมละ 15 บาท บางวันตนเก็บเงาะได้ 400 กิโลกรัม บางส่วนให้ลูกสาวนำไปขายในหมู่บ้าน และตลาดในตัวเมืองเลย ราคากิโลกรัมละ 20 บาท ขายไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็หมดแล้ว

นายระนาญ เล่าต่ออีกว่า เงาะที่ตนปลูกนั้นใช้น้ำหมักชีวภาพ ที่หมักจากผักต่างๆ และกากผลไม้ ใช้เวลาหมักนานนับเดือน แล้วนำมาฉีดหรือพ่นช่วงที่เงาะออกดอก และช่วงที่เป็นผลเล็กๆ ส่วนการรดน้ำนั้น ให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือแล้วแต่ฝนฟ้า เงาะของตนจึงปราศจากหนอน แมลง เพลี้ย อีกทั้งยังมีรสหวาน ไม่แฉะ กรอบ เนื้อไม่ติดเม็ด ต่างจากเงาะโรงเรียนที่มาจากจังหวัดทางภาคตะวันออก

ขณะที่นายวิรัตน์ วงศ์ศรีรักษ์ เกษตรอำเภอเมืองเลย กล่าวว่า เงาะเมืองเลยเริ่มนำเข้ามาปลูกครั้งแรกช่วงปี 2535 ตามโครงการปรับโครงสร้างระบบการผลิตพืชแบบครบวงจร ในระยะแรกเกษตรกรปลูกแบบไม่เข้าใจหลักวิชาการ ทำให้ต้นเงาะตายเป็นจำนวนมาก แต่เงาะที่เหลือให้ผลผลิตดี รสหวาน เม็ดร่อน กรอบ เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรสั่งซื้อพันธุ์มาปลูกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พันธุ์ที่ใช้ในการปลูกนั้น เป็นพันธุ์เงาะโรงเรียนสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี เป็นหลัก

สำหรับเกษตรกรที่กำลังจะเริ่มปลูกเงาะเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น เกษตรอำเภอเมืองเลยแนะนำว่า ควรปลูกเงาะระยะห่าง 8 x 8 และ 8 x 10 เมตร 1 ไร่ปลูกได้ 20-25 ต้น ผลผลิต 800-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ เงาะเมืองเลย จะเก็บเกี่ยว 2 ช่วง ได้แก่ต้นเดือนกรกฎาคมและกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี ราคาส่วนมากจะขึ้นกับการออกลูกของลำใย ปีไหนลำใยออกลูกมาก ราคาเงาะจะตก ถ้าลำใยออกผลน้อยราคาเงาะจะสูง

เนื่องจากผลผลิตผลไม้ 2 ชนิดนี้จะออกพร้อมกัน ราคาจำหน่ายเงาะในปี 2553 ราคา 15-20 บาท ส่วนราคาปีนี้ราคาขายปลีกตามตลาดทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท. ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรค่อนข้างดี

กำลังโหลดความคิดเห็น