xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ชม.ทรุด วิตกต้นทุนวัตถุดิบ-พลังงาน-ค่าแรงเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - พบไตรมาส 3 ปีนี้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเชียงใหม่ ลดถ้วนหน้า เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีเดียวกัน เผยผู้ประกอบการวิตกต้นทุนเพิ่มไม่หยุด ทั้งด้านวัตถุดิบ-พลังงาน-ค่าแรงขั้นต่ำ

ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แจ้งถึงดัชนีความเชื่อมั่น สำหรับไตรมาสที่ 3/2554 ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2554 พบว่า ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2/2554 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ มีความเชื่อมั่นว่า ภาวะธุรกิจในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสที่ 3/2554 หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากไตรมาสที่ 2 ของปี

ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าสภาวะเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศยังไม่ถูกกระตุ้นเท่าที่ควร อำนาจซื้อของประชาชนลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองยังอยู่ในช่วงการเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งไตรมาสนี้ยังอยู่ในช่วงที่มีความต้องการซื้อต่ำ (Low Season) จึงทำให้ผู้ประกอบการคาดว่าภาวะธุรกิจด้านต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น
โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่มียอดขายและรายได้อันเนื่องมาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานและกำลังการผลิต ลดลงอยู่ที่ระดับ 48.4 และ 56.1 ซึ่งปรับตัวลดลงตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงด้วย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.6 ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการการขยายการลงทุนเพิ่ม เพราะคาดหวังว่าเศรษฐกิจเชียงใหม่ในช่วงปลายปีจะดีขึ้น เพราะมีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนธุรกิจยังคงปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในไตรมาสนี้ปรับขึ้นมา อยู่ที่ระดับ 82.5 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน ราคาน้ำมัน และค่าขนส่ง รวมไปถึงแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือมากที่สุดในการทำธุรกิจ 3 อันดับแรกคือ (1) ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 30.25 (2) ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 23.75 และ (3) ปัญหาการท่องเที่ยวที่ซบเซา ร้อยละ 9.50

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามหมวดธุรกิจ พบว่า หมวดธุรกิจบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และหมวดธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านยอดขายปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ทำให้การจ้างงานลดลงตามไปด้วย, หมวดการผลิตผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอและหมวดการผลิตหัตถกรรมจากไม้ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการยังมีความต้องการแรงงานที่มีฝีมือและทักษะความชำนาญ
ส่วนหมวดธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปและหมวดธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ ดัชนีด้านยอดขายและการลงทุนเพิ่มยังอยู่ในระดับที่มากกว่า 50.0 ถึงแม้จะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาก็ตาม

ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวเป็นการรวบรวมความคิดเห็น-การคาดการณ์ของผู้ประกอบการ นำมาใช้ ชี้วัดกับหมวดธุรกิจที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 6 หมวดธุรกิจ ดังนี้ 1.การผลิตผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอ 2.การผลิตหัตถกรรมจากไม้ 3.การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป 4.การบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ 5.การบริการอาหารและเครื่องดื่ม 6.การบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และองค์ประกอบที่ใช้ในการจัดทำดัชนีได้แก่ การคาดการณ์ในด้าน (1.กำไร (2.ยอดขาย (3.ต้นทุนธุรกิจ (4.การจ้างงาน (5.การลงทุน มีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 ถ้าค่าดัชนีมีค่ามากกว่า 50 หมายถึงผู้ประกอบการโดยรวมคาดการณ์ว่าองค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ถ้าค่าดัชนีมีค่าเท่ากับ 50 หมายถึงผู้ประกอบการ โดยรวมคาดว่าองค์ประกอบนั้นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือคงอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าค่าดัชนีมีค่าน้อยกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการ โดยรวมคาดว่าองค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่ลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น