xs
xsm
sm
md
lg

3 วิทยาลัยนาฏศิลป์ภาคอีสานผนึกพลังผลิตนักศึกษาแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ผู้บริหาร 3 สถาบันของวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์  วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด  และวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา   ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทางการศึกษา
กาฬสินธุ์ - วิทยาลัยนาฏศิลป์ชั้นนำแห่งภาคอีสาน 3 สถาบัน ทั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ร่วมลงนามความร่วมมือ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทางการศึกษา เน้นกระจายจุดแข็งและเติมเต็มจุดด้อยเพื่อสร้างนักศึกษาและเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอีสาน

ที่ห้องประชุมวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ผู้บริหาร 3 สถาบันของวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด และวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทางการศึกษา ที่จะมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษาและวัฒนธรรมของแต่ละสถาบันมาเป็นตัวเชื่อม

ทั้งการแลกเปลี่ยน การเผยแพร่ และการสร้างนักศึกษาให้มีความรู้รอบด้านในส่วนของศิลปวัฒนธรรมและดนตรีประจำท้องถิ่นอีสาน

โดยในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มี นายชิน เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ นายจิรพจน์ จึงบรรเจิดศักดิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และนางอัญชนา วิริยะประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันพร้อมกับการแถล่มข่าวอย่างเป็นทางการ

นายชิน เจริญสุข ผอ.วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือของทั้ง 3 สถาบัน นับว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงการศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลป์ โดย 3 สถาบันตั้งเป้าหมายที่จะเน้นการเผยแพร่สืบสานวัฒนธรรมของตนเองและของเครือข่าย ซึ่งนักศึกษาที่อยู่ใน 3 สถาบันจะได้ความรู้เหมือนกับไปนั่งเรียนทั้ง 3 สถาบัน นอกจากนี้แล้ว แต่ละสถาบันก็จะเอาจุดแข็งของแต่ละที่มาเติมเต็มจุดด้อยของแต่ละสถาบัน

ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั้ง 3 แห่งมีความคาดหวังที่ต้องการให้เครือข่ายของวิทยาลัยนาฏศิลป์เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา การเรียนรู้ การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและแหล่งรวมภูมิปัญญาของอีสาน และการก้าวขึ้นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่เต็มไปด้วยคุณภาพในภาคอีสาน

อย่างกรณีของวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ มีความแข็งแกร่งของวิทยาลัยจะมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรด้านการศึกษาที่มีภูมิความรู้เป็นที่ยอมรับในทุกระดับ มีความโดดเด่นในด้านของวัฒนธรรมประเพณีที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวตามวิถีของชุมชนและพื้นที่ถิ่นอย่างชัดเจน นอกจากนี้เองวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ยังมีผลงานที่เด่นชัดมีลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จสร้างชื่อให้กับสถาบันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นวงโปงลางสะออน และ ตุ๊กกี้ ชะชาช่า เป็นต้น

ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องการันตีถึงผลงานและผลสัมฤทธิ์จากการที่บุคลากรในวิทยาลัยได้ทุ่มเทในการประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับบรรดาลูกศิษย์ของสถาบัน แต่ในการลงนามเอ็มโอยู ที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์โดยตรงที่จะได้กับนักศึกษาที่จะได้มีโอกาสเปิดรับความรู้ ประสบการณ์ของวิทยาลัยในเครือข่ายโยเฉพาะศิลปของอีสานใต้

ด้าน นายจิรพจน์ จึงบรรเจิดศักดิ์ ผอ.วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในส่วนของวิทยาลัยตอนนี้มีอาจารย์พิเศษที่ร่วมสอนในวิทยาลัยเป็นศิลปินแห่งชาติจำนวนหลายคน ที่จะเป็นจุดแข็งในการเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้โดยตรงกับศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ ในภาคอีสาน ขณะนี้ในด้านความพร้อมถึงแม้ว่าวิทยาลัยฯ จะเป็นสถาบันแรกที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน

แต่ยังขาดบุคลากรครูที่มีประสบการณ์ ที่ตรงนี้ก็จะร่วมบูรณาการกันขึ้น เพราะอย่างวิทยาลัยนาฏศิลป์มีความการแสดงมีวัฒนธรรมที่สื่อได้ถึงความเป็นแก่นแท้ของภาคอีสานเหนือจริงๆ ที่จุดนี้เราต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของเด็ก

นางอัญชนา วิริยะประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา กล่าวว่า ถ้าจะว่าไปแล้วการร่วมลงนามครั้งนี้ จะส่งผลดีให้กับทั้งครูและเด็กของวิทยาลัย เพราะขณะนี้วิทยาลัยมีบุคลากรน้อยมากมีเพียง 39 คน แต่มีภารกิจมากหลายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม หากจะว่าไปแล้วประโยชน์มีมากกว่าเสียอีกทั้งทางวิทยาลัยยังจะได้เครือข่ายเผยแพร่วิทยาลัยนาฏศิลป์แบบอีสานใต้ไปด้วยพร้อมๆ กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น