ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดระยองจับมือร่วมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เปิดโครงการ”ส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้สถานประกอบการและชุมชน หรือ CSR หวังดึงผู้ประกอบการและชาวบ้านในชุมชนร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
วันนี้ (8 ก.ค.) นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้สถานประกอบการและชุมชน (CSR) จังหวัดระยอง และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องสร้อยสุวรรณ โรงแรมสตาร์ อำเภอเมืองระยอง
นอกจากนี้ยังจัดให้มีการจัฝึกอบรมให้คำปรึกษา แนะนำสถานประกอบการอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่กว่า 80 ชุมชน สำหรับโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2554 และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 25 กันยายน 2554 โดยภายในงานมีทั้งผู้บริหารและผู้แทนสถานประกอบการรวม 38 โรงงาน นางสาวอาภา รติยานุวัฒน์ ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และชุมชนรอบโรงงานเข้าร่วม
โดยนายบัณฑิต ธงศรีเจริญ อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณจากจังหวัดระยองจำนวน 11 ล้านบาทจึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีบริษัท อีสเทิร์นไทยคอนซัลติ้ง 1992 จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาและเป็นผู้ดำเนินการจัดทำโครงการ
โดยอาศัยแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) และยึดหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดการปรับปรุงในขบวนการของธุรกิจและที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ขณะที่ นายธวัชชัย ชัยเทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีปัญหาด้านมลพิษและการอยู่ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการกับชุมชนมานาน ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานเกี่ยวข้องจะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้หมดไป โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากจังหวัดระยอง เป็นแหล่งลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในอนาคตการลงทุนของจังหวัดระยองจะเป็นสายเลือดใหญ่ จึงต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้หมดไปโดยเร็ว
การทำ CSR นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา และเมื่อสถานประกอบการ รวมทั้งชุมชนรู้จักระบบความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนโดยรอบแล้ว ก็จะทำให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลงได้
ด้าน นายโสด ศะลาลาศ ที่ปรึกษาชุมชนอิสลาม ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง กล่าวว่าโครงการ CSR จะต้องสร้างเสริมอาชีพให้แก่ชุมชนด้วย เพราะปัญหามลพิษเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาปากท้องของชาวบ้าน และ CSR จะต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นสวัสดิการให้แก่ชุมชนในยามเกิดแก่เจ็บตาย
“คนมาบตาพุดทุกวันนี้เสมือนยาจกนั่งอยู่ข้างบ้านเศรษฐี ตามที่รัฐมองว่าคนระยองมีรายได้ต่อหัวนับ 100,000 บาทต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงคนมาบตาพุดยังอยู่ในสถานะอนาถาเป็นจำนวนมากและคนทางภาคใต้มักจะพูดอยู่เสมอว่าอย่าเอามาบตาพุด 2 มาไว้ที่บ้านเขา คือเขามองว่าคนมาบตาพุดเป็นคนโง่ หากหน่วยงานของรัฐสร้างความเชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมและปัญหามลพิษให้เป็นแบบอย่างที่ทำให้เห็นว่าโรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้ คนภาคใต้ก็จะไม่มองคนมาบตาพุดเป็นคนโง่อีกต่อไป” นายโสดกล่าว