ตาก - UNHCR จัดงานวันผู้ลี้ภัยโลก (2011 World Refugee Day Exhibition) ที่ชายแดนแม่สอด ระบุแนวทางการปิดพื้นที่พักพิงของรัฐบาลไทยไม่เกี่ยวกลับยูเอ็น แต่ย้ำผู้ลี้ภัยกลับไปแล้วต้องอยู่ได้อย่างยั่งยืน
นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เป็นประธานในพิธีการจัดงานวันผู้ลี้ภัยโลก ที่โรงเรียนเทศบาลวัดมณีไพรสณฑ์ เทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด วานนี้ (16 มิ.ย.)โดยมี นางสาว โยโกะ อากาซากะ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองอาวุโส สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำพื้นที่ชายแดนแม่สอด กล่าวต้อนรับ เพื่อรำลึกถึง สภาพปัญหาผู้ลี้ภัย และบุคคลที่อยู่ในความห่วงใยทั่วโลก
โดย UNHCR จะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกถึงสภาพปัญหาของบุคคลที่อยู่ในความห่วงใยเหล่านี้ ในปีนี้จะไม่มีคำขวัญประจำวันผู้ลี้ภัยโลกเหมือนทุกปี แต่จะมีการรณรงค์ภายใต้โครงการ “1 is too many” (แค่เพียงหนึ่งก็มากเกินไป) ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมมือกันช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในแบบของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ ลงมือช่วย บริจาคเงิน ให้ความสนับสนุน หรือ แม้กระทั่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย เพื่อให้โลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และหาหนทางในการแก้ไขอย่างจริงจัง
สำหรับบรรยากาศภายในงานมีการจัดนิทรรศการ และการแสดงละครของผู้ลี้ภัย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารพม่ากดดัน และขับออกนอกประเทศ จนต้องหนีไปอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง และเดินทางไปต่อไปประเทศที่ 3 ขณะที่เคยมีการเชิญชวนจากพม่า แต่ผู้ลี้ภัยยังไม่ยอมกลับไป เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย
ตัวแทน UNHCR กล่าวถึงเรื่องการปิดศูนย์อพยพชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ตามแนวชายแดน จังหวัดตากว่า เรื่องปิดพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตามนโยบายของรัฐบาลไทยได้ประกาศว่า จะปิดพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้งหมด 9 แห่งนั้น ถือว่า เป็นคนละส่วนกับ UNHCR แต่การให้ผู้ลี้ภัยกลับไปนั้น ต้องกลับไปความความสมัครใจ มีความปลอดภัย สมศักดิ์ศรี และถ้ากลับไปแล้วต้องใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน
วันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันผู้ลี้ภัยโลก 2554 World Refugee Day Exhibition 2011 ศูนย์ประสานงานการปฎิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้มีการประชุมสัมมนาในเรื่อง “ปัญหาและผลกระทบจากผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบในศูนย์อพยพ”
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ที่ห้องประชุมโรงแรมนนทบุรีพาเลซ จ.นนทบุรี โดยนายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด พร้อมคณะ ได้ร่วมขึ้นบรรยายเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในการปฎิบัติในการพิจารณาการควบคุมและจัดระเบียบประชากรแฝงในพื้นที่พักพิงชั่วคราว(ศูนย์อพยพ)ชายแดนไทย-พม่า จังหวัดตาก
จนการนำไปสู่การแก้ไขทางด้านเศรษฐกิจและการรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและการยกฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” กับแนวทางการดูแลและการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจควบคู่กัน