อุบลราชธานี- พบปลาลอยตายในลำน้ำโดมน้อย ชาวบ้านสงสัยโรงงานใกล้ลำน้ำเป็นต้นเหตุ โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังและก๊าซไบโอเอทานอล เปิดโรงงานให้นักวิชาการและเจ้าหน้าที่พิสูจน์ความจริง พบมีระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด 5 ขั้นตอน พร้อมทั้งยังเป็นโรงงานที่เข้าสู่กระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งต้องถูกตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมโลกอย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุบลราชธานี ว่า สืบเนื่องจากชาวบ้านในตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี พบปลาในลำน้ำโดมน้อยที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ลอยตายเรียงรายอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร รวมทั้งยังมีปลาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอ่อนเพลียและใกล้หมดแรงจากการขาดออกซิเจนลอยขึ้นเหนือน้ำ เพื่อพยายามหายใจ
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ประมงและโรงงาน ได้เข้าเก็บตัวอย่างปลาและน้ำในจุดที่พบปลาตาย เพื่อหาสาเหตุการตายของปลาในลำน้ำแห่งนี้
นายบุญมี ผลขาว สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ หมู่ที่ 6 บ้านไร่เหนือ ระบุว่า ยังไม่ทราบสาเหตุการทำให้น้ำในลำน้ำโดมน้อยเน่าเสีย จนทำให้ปลาตายจำนวนมาก เพราะตั้งแต่อาศัยอยู่กับลำน้ำมาตั้งแต่เด็กถึงปัจจุบันยังไม่เคยพบปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน แต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าปลาที่ตายอยู่ทางใต้น้ำของโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง
ส่วนปลาที่อยู่เหนือโรงงานขึ้นไปไม่พบปรากฏการณ์นี้ จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเก็บตัวอย่างปลาและน้ำไปพิสูจน์หาความจริงที่แน่ชัดอีกครั้งแล้ว
ขณะเดียวกัน บริษัท อุบลเกษตรพลังงาน จำกัด โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังและผลิตก๊าซไบโอเอทานอล ได้ให้นักวิชาการรวมทั้งเจ้าหน้าที่สำรวจระบบการกำจัดและบำบัดน้ำเสียของโรงงาน โดยเบื้องต้นโรงงาน ชี้แจงว่า ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกจากระบบลงสู่ลำน้ำ เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียเป็นระบบปิด และต้องการน้ำที่ผ่านการบำบัดมาหมุนเวียนกลับมาใช้ผลิตแป้งมันสำปะหลังอีก
นายพันธ์ศักดิ์ กาจหาญ วิศวกรผู้ควบคุมดูแลโรงงานบริษัท อุบลเกษตรพลังงานจำกัด กล่าวว่า โรงงานมีถังใช้เก็บกักน้ำเสียขนาดความจุ 9,000 ลบ.ม. แต่โรงงานใช้น้ำในการผลิตเพียงวันละ 4,000 ลบ.ม.หลังทำการบำบัดจะปล่อยน้ำลงบ่อผึ่งแดด เพื่อขจัดคราบตะกอนตกค้างรวม 5 ขั้นตอน
ในขั้นตอนสุดท้าย จะทำให้ได้น้ำสะอาดหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก แต่หลังเกิดเหตุการณ์ปลาตายได้ลงสำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำ ซึ่งพบมีคราบน้ำมันลอยปนอยู่กับคราบน้ำเสียและปลาที่ตาย
จึงยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุที่ลำน้ำโดมน้อยเกิดน้ำเสีย ต้องรอผลการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมก่อน แต่หากเกิดจากความผิดพลาดของโรงงาน ก็ยินดีที่จะร่วมฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาดีอีกครั้ง
ทั้งนี้ โรงงานต้องอยู่กับชุมชน แต่มั่นใจว่า น้ำเสียที่เกิดขึ้น ไม่น่าจะเกิดจากโรงงาน เพราะขณะนี้โรงงานอุบลเกษตรพลังงานจำกัด ได้ยื่นขอซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามสนธิสัญญาเกียวโต ซึ่งต้องถูกตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก