xs
xsm
sm
md
lg

นายด่านฯเชียงแสน แจงยิบ นรข.-ตร.น้ำ เข้าใจผิดจับไม้บนเรือจีน 100 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ศุลกากรเชียงแสน ตั้งโต๊ะแจงยิบ หลังตำรวจน้ำ-นรข.บุกตรวจไม้ในเรือจีน ขณะเทียบท่าเรือริมน้ำโขง ยันเป็นไม้ Transit จาก สปป.ลาว ส่งจีนทั้งหมด 713 ท่อน นำเข้าผ่านชายแดนน่าน อ้างไม่มี “พะยูง” แม้แต่ท่อนเดียว

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่สำนักงานที่ทำการด่านศุลกากร อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายสุรชาติ จันทวัชรากร นายด่านศุลกากรเชียงแสน เปิดแถลงข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ และหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย เข้าตรวจสอบไม้จำนวนมากที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน หลังพบมีการขนไม้จำนวนมากไปยังท่าเรือ และสงสัยว่า จะมีการกระทำผิดโดยเฉพาะนำไม้พะยูง ซึ่งเป็นไม้ต้องห้ามส่งออกจนมีการแจ้งไปถึงพนักงานสอบสวน สภ.เชียงแสน เมื่อ 11 พ.ค.ว่า เป็นความเข้าใจผิดของหลายฝ่าย รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลออกสู่สาธารณชนว่ามีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นายสุรชาติ บอกว่า ด่านศุลกากรเชียงแสน ยืนยันว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและไม้ทั้งหมดได้รับการตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง

ทั้งนี้ ไม้ทั้งหมดมีจำนวนเพียง 713 ท่อน ปริมาตร 137,349 ลบ.ม.น้ำหนัก 137,349 กิโลกรัม ราคาที่แจ้ง 1.7 ล้านบาท บรรทุกมากับรถบรรทุก 12 คัน โดยเป็นไม้ผ่านแดนหรือ Transit ที่นำเข้าจาก สปป.ลาว ผ่านด่านศุลกากรทุ่งช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อจะส่งไปยังประเทศจีนผ่านทางด่านศุลกากรเชียงแสน

จึงถือว่าต้องดำเนินการภายใต้ข้อตกลงสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรืออนุสัญญาบาร์เซโลนา ซึ่งไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกภาคีร่วมกับหลายประเทศ เช่น จีน ลาว พม่า เวียดนาม ฯลฯ รวมทั้งไทยและ สปป.ลาว ยังทำข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างรัฐบาลไทยกับ สปป.ลาว ลงวันที่ 5 มี.ค.2542 ด้วย

นายสุรชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ตรากฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากร กำหนดหลักเกณฑ์การขนส่งสินค้าผ่านแดนพร้อมลงประกาศกำหนดให้ด่านศุลกากรต้นทางตรวจสอบ จำนวนหีบห่อและเครื่องหมายเลขหมายหีบห่อและควบคุมการขนส่ง โดยมัดลวดประทับตราตะกั่วของกรมศุลกากร

ส่วนด่านศุลกากรปลายทางอย่าง อ.เชียงแสน จะตรวจสอบเพียงจำนวนหีบห่อและเครื่องหมายเลขหีบห่อกับลวดประทับตราตะกั่วดังกล่าวเท่านั้น โดยมิได้ตรวจสอบสินค้า เว้นแต่กรณีมีเหตุสงสัยว่า มีวัตถุต้องห้ามตามอนุสัญญา หรือมติของสหประชาชาติ หรือข้อห้ามการค้าวัตถุบางประเภท แต่ก็กำหนดให้ร่วมกับ สปป.ลาว เข้าตรวจสอบ

สำหรับไม้ประดู่ที่มีการ Transit ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน พบว่า สำแดงเป็นไม้ประดู่ ไม่ได้เป็นสินค้าต้องห้าม ที่คณะกรรมการพิจารณาควบคุมสินค้าส่งออกและสินค้าผ่านแดนที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ (ค.ส.ม.) กำหนดให้เป็นสินค้าที่ห้ามการส่งผ่านแดน แต่ด่านศุลกากรทุ่งช้าง ที่เป็นต้นทางก็ได้ควบคุมให้มีการคลุมผ้าใบ มัดลวด พร้อมประทับตราดวงตราตะกั่ว จำนวนทั้งสิ้น 240 ดวง แล้วระบุเลขทะเบียนรถทุกคันไว้ในใบขนส่งสินค้าผ่านแดนมาเรียบร้อย ตลอดรายทางก็ผ่านจุดตรวจด่านป่าไม้หลายแห่ง เช่น ด่านป่าไม้งาว จ.ลำปาง ฯลฯ

กระทั่งถึงด่านศุลกากรเชียงแสน เจ้าหน้าที่ก็ได้ตรวจสอบผ้าใบและดวงตราตะกั่ว เห็นว่า ทุกอย่างเรียบร้อย จึงอนุญาตให้ผ่านด่านโดยการขนลงเรือสินค้าที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1

แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ และ นรข.เขตเชียงราย ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบไม้ดังกล่าว เพราะสงสัยว่าเป็นไม้พะยูง แต่ผลการตรวจค้นไม่อาจได้ข้อยุติว่า เป็นไม้พะยูงหรือไม่ จึงขอความร่วมมือไปยังด่านศุลกากรและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จนพบว่าเป็นไม้ประดู่ตรงตามสำแดง จึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.เชียงแสน ปัจจุบันได้อนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศจีนตามปกติแล้ว โดยไม่ได้ถูกจับกุมหรือตรวจยึดดำเนินคดีว่าเป็นไม้เถื่อนผิดกฎหมาย หรือไม้พะยูง

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า บางครั้งปัญหาชายแดนลักษณะนี้เกิดจากการไม่ประสานงานหรือบูรณาการกันก่อน กรณีที่ท่าเรือถือว่าด่านศุลกากร เป็นหน่วยงานหลักที่สามารถตรวจสอบสินค้าได้ โดยหน่วยงานอื่นไม่มีขอบเขตหน้าที่โดยตรง และด่านศุลกากรก็ทราบว่ากรณี Transit เราไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะอาจจะผิดข้อตกลงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือหากจะทำก็ต้องให้ สปป.ลาว เข้าร่วม

แต่ปรากฏว่า มีการเข้าไปตรวจสอบทันทีโดยไม่แจ้งตนเลย ดังนั้น หลังเกิดเหตุจึงได้ทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การทำงานในอนาคตมีความเข้าใจกันมากขึ้นต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ทาง นรข.เขตเชียงราย ได้ตรวจยึดไม้พยุง 7 ท่อน ไม้พะยูงแปรรูปจำนวน 350 ท่อน ไม้ประดู่แปรรูปจำนวน 750 ท่อน มูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท บนเรือเยิ่นต๋า 11 สัญชาติจีน ที่อยู่ในแม่น้ำโขงเขต อ.เชียงแสน ปัจจุบันไม้ทั้งหมดถูกตรวจสอบอยู่ที่ นรข.เขตเชียงราย โดยกรณีดังกล่าวไม่ใช่สินค้า Transit แต่ยังเป็นที่สงสัยกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ในการตรวจสอบสินค้าและเรือในแม่น้ำโขง

ด่านศุลกากรเชียงแสน ระบุว่า กรณีเรือแล่นอยู่กลางแม่น้ำเป็นอำนาจของ นรข.ได้ แต่กรณีเป็นเรือเทียบท่าเรือแล้วถือเป็นอำนาจของด่านศุลกากร อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็พร้อมจะร่วมกับฝ่ายต่างๆ ในการตรวจสอบ แต่ต้องไม่กระทบกับข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น