xs
xsm
sm
md
lg

ไอ้โม่งรับจ้างเถียงแทนรัฐบาลจีนอาละวาดโลกไซเบอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนแดนมังกรจำนวนมากถึงเกือบครึ่งพันล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งมีการใช้ไมโครบล็อก

เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต สำหรับอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คนที่นี่ไปเสียแล้ว จึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เอง ที่บรรดาผู้นำของจีนต้องคอยจับตามองและตรากฎระเบียบเข้มงวด รวมทั้งจัดตั้งกองทัพนักเซ็นเซ่อร์เข้าไปตรวจสะบั้นหั่นแหลกเนื้อหา ที่ทางการเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ลามกอนาจาร และเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีงามในสังคม

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีอีกกองทัพหนึ่ง ที่ทางการจีนขนมาช่วยงานกันอย่างเต็มที่ นั่นคือกองทัพนักวิจารณ์ หรือ “เว็บ คอมเม็นเทเทอร์” ( web commentator) ซึ่งทำหน้าคอยชี้แจงตอบโต้ข้อความ ที่มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเว็บ พร้อมทั้งกระจายข่าวสารของรัฐบาล

นักวิเคราะห์ระบุว่า กองทัพนักวิจารณ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว ทว่าการเคลื่อนไหวช่างลึกลับที่สุด ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไป จนน่าจะเรียกชื่อใหม่ว่า กองทัพไอ้โม่ง

“มันน่าประหลาด ลึกลับเอามาก ๆ …คนเหล่านี้ไม่พูดกับสื่อ ! ทุกคนจึงได้แต่คาดเดากัน” นายเจเรมี่ โกลด์คอร์น บรรณาธิการ “Danwei.org” ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่อมวลชนจีนกล่าว

ภารกิจของพลพรรคในกองทัพไอ้โม่งก็คือการคลิกเข้าไปในเว็บต่าง ๆ เมื่อเห็นใครแสดงความเห็นโจมตีรัฐบาล ก็จะรีบแสดงความเห็น ที่เป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาลในทันที บางคนจะมาในลักษณะผู้แสดงความเห็นนิรนาม หรือใช้นามแฝง และหลายคนทำเพื่อเงิน

หลี่ หมิง บล็อกเกอร์อิสระชาวจีนชื่อดังเชื่อว่า กองทัพพิทักษ์รัฐบาลเหล่านี้มีจำนวนหลายหมื่นคนเป็นอย่างน้อย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ส่วนใหญ่น่าจะเป็นนักศึกษา ซึ่ง “กำลังทำงานง่าย ๆ ไร้สาระ คือตัดและแปะข้อความ” คล้ายกับว่า กำลังมองหางานในตลาดโลกไซเบอร์

นักศึกษาบางคนเหล่านั้นกำลังพยายามไขว่คว้าโอกาสเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่ใคร ๆ ใฝ่ฝัน ทว่ากองทัพในเงามืดนี้ยังมีพวกเจ้าหน้าที่รัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมอยู่ด้วย แม้กระทั่งพวกปลดเกษียณ และพวกแม่บ้านก็รับจ๊อบกับเขาเหมือนกัน
ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ระบบของกองทัพพิทักษ์รัฐบาลในโลกไซเบอร์ไม่รวมศูนย์กลาง แต่กระจัดกระจายเป็นหน่วยปฏิบัติการย่อยในระดับมณฑล เมือง อำเภอ และหน่วยงาน เพื่อแทรกซึมอย่างแนบเนียน

พลพรรคเหล่านี้จะไม่โพสต์คำขวัญง่าย ๆ อย่าง “ท่านผู้นำจงเจริญ” หรือ “พรรคคอมมิวนิสต์จงเจริญ” แต่จะนำเข้าสู่การโต้แย้งโต้แย้งด้วยรายละเอียดและอย่างมีเหตุผล เช่นวิกฤตการณ์ในลิเบีย พวกเขาก็จะกระหน่ำความเห็นโจมตีความหน้าไหว้หลังหลอกของชาติตะวันตก ที่เปิดฉากโจมตีทางอากาศฝ่ายกองกำลังของผู้นำลิเบีย ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่รัฐบาลจีนคัดค้าน โดยระบุว่า ชาติตะวันตกต้องการแค่น้ำมันดิบของลิเบียเท่านั้น หรือการแสดงความเห็น เพื่อทำลายชื่อเสียงของอ้าย เหว่ยเหว่ย ศิลปินและนักเคลื่อนไหว

ข้อมูลเหล่านี้จะเข้าไปในหัวผู้คน มีผลในระดับจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อโต้แย้ง ที่ฟังมีเหตุผล

นักวิจารณ์ไอ้โหม่ง “จะได้รับค่าจ้างตามจำนวนความเห็น ที่โพสต์ในเว็บ และยังอาจได้โบนัส หากข้อความที่โพสต์ได้รับจัดอันดับยอดนิยมที่สุด” หลี่ระบุ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นต่างกันเป็น 2 ฝ่ายเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของกองทัพไอ้โหม่ง ส่วนหนึ่งเห็นว่า หัวข้อถกเถียงเผ็ดร้อนสำคัญ ๆ เมื่อเปิดวงอภิปรายได้สัก3 วัน ความเห็นของผู้สนับสนุนรัฐบาลมักยังอยู่ยงคงกระพัน จากนั้น ก็จะมีคนเชื่อตาม ๆ กัน

แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งกลับมองว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีน “มีความเฉลียวฉลาดมาก…พวกเขามักจะไม่เชื่อถือไว้วางใจใครทั้งนั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น