บุรีรัมย์ - ชาวไร่อ้อยหนองหงส์โวยโรงงานน้ำตาลพิมาย โคราช ไม่รับผิดชอบ หลังลูกน้องโรงงานฯ "ทำบัญชีผี" ใช้ชื่อเกษตรกรทำเรื่องเบิกเงินค่าปุ๋ย ค่าไถจากโรงงาน เกษตรกร 2 ตำบลกว่า 70 คนถูกโกงเงินไปนับ 10 ล้านบาท โรงงานปัดความรับผิดชอบ วอนปลดล๊อกสัญญาทาส คำตา ขู่บุกโรงงานน้ำตาล หากไม่ได้รับความเป็นธรรม
วันนี้ (15 พ.ค.54) เกษตรกรชาวไร่อ้อย ต.ห้วยหิน และ ต.เสาเดียว อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ได้รวมตัวลงลายชื่อเพื่อร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย หลังจากโรงงานน้ำตาลพิมาย จ.นครราชสีมา หักเงินจากการขายอ้อยให้กับโรงงานเกินจริง โดยอ้างว่าเกษตรกรเบิกปุ๋ยเคมี และค่าไถไร่อ้อย เกษตรกรเชื่อว่ามีการทำ "บัญชีผีลายเซ็นต์ปลอม" เกิดขึ้นเพื่อนำมาหักเงินของเกษตรกรที่ขายอ้อยให้โรงงาน ทั้งที่เกษตรกรไม่ได้เบิก หรือเบิกปุ๋ยไม่ถึงจำนวนที่บัญชีแจ้งสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ไม่มีกำไร กลับมีหนี้สินเพิ่ม ทั้งที่จะต้องมีกำไรจากการทำไร่อ้อย หลายรายไม่ได้ทำไร่อ้อยมาหลายปี กลับมีชื่อเบิกปุ๋ย เชื่อว่าตัวแทนของโรงงานและคนในโรงงานร่วมกันโกงเกษตรกรพยายามติดต่อโรงงานกลับบ่ายเบี่ยงอ้างว่าคนดำเนินการเรื่องนี้หนีไปแล้วยิ่งสร้างความกังวนใจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก
นางสมร ตาชูชาติ อายุ 53 ปี อยู่เลขที่ 42 หมู่ 10 ต.เสาเดียวอ.หนองหงส์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย บอกว่าในปีการปลูกอ้อย 2553/2554 เบิกปุ๋ยจากโรงงานน้ำตาลมา 800 ถุง หลังจากตัดอ้อยส่งโรงงานปีนี้ ปรากฏว่า มียอดหักหนี้เป็นปุ๋ยเคมี ถึง 1,070 ถุง ครอบครัวตกใจเป็นอย่างมาก จึงตรวจสอบไปยังโรงาน พบว่า นอกจากปีที่ผ่านมาเบิก 1,070 ถุงแล้ว ปีนี้ยังพบมีการเบิกปุ๋ยอีก 140 ถุงทั้งที่ปีนี้เบิกปุ๋ยเพียงกำลังเบิก 40 ถุง รวมแล้วมีปุ๋ยเกินจากที่เบิกจริงจำนวน 400 ถุง คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท เป็นหนี้ที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้น
ด้านนางดวงพร คงบรรจง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ห้วยหิน อ.หนองหงส์ บอกว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะนอกจากจะบัญชีปุ๋ยเกิดขึ้นเกินจริงแล้ว ยังมีเงินหักจากโรงงานเป็นค่ารถไถส่วนหนึ่ง ทั้งที่เกษตรกรไถกันเอง เกษตรกรบางรายปลูกอ้อยครั้งแรก หวังจะได้กำไรจากการขายอ้อย เนื่องจากปีทีผ่านมาอ้อยมีราคา แต่ต้องมีหนี้เพิ่มขึ้นอีก ขณะนี้มีประมาณ 70 คน ใน 2 ตำบล มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ยังไม่นับที่ยังไม่กล้ามาร้องทุกข์ เพราะเกรงว่าโรงงานน้ำตาลจะไม่ปล่อยเงินส่งเสริมให้อีก
ผู้ใหญ่บ้าน ยังเล่าด้วยว่า หลังจากนั้นเกษตรกรได้เดินทางไปพบกับผู้จัดการโรงงานน้ำตาล แต่กลับปฏิเสธอ้างว่าไม่ทราบเรื่อง ขณะที่ตัวแทนบริษัทโรงงานน้ำตาลหนีลอยนวล จึงอยากจะให้โรงงานน้ำตาลพิมายออกมาแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้เคยเกิดมานาน แต่ครั้งนี้หนักที่สุด
พร้อมกับเรียกร้องให้สมาคมชาวไร่อ้อย ปลดล๊อกโควตาส่งอ้อย เพราะเท่ากับเป็นสัญญาทาส เกษตรกรไม่มีทางเลือกสถานทีจำหน่าย
ขณะนายคำตา แคนบุญจันทร์ เลขาธิการชมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน บอกว่า เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนในลักษณะดังกล่าวมานาน แม้ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไรมาก เมื่อเกษตรกรกล้าออกมาโต้ โรงงานน้ำตาล จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะโรงงานน้ำตาลส่งตัวแทนไปพบเกษตรกร หากยังไม่มีความคืบหน้ากลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดบุรีรัมย์อาจจะมีการเคลื่อนไหวไปที่หน้าโรงงานน้ำตาลพิมายจนกว่าได้รับความยุติธรรม