xs
xsm
sm
md
lg

นิมนต์พระใกล้ชิดคุย “พ่อคูณ” หลังอารมณ์ไม่ดี - แพทย์ย้ำเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ พักรักษาอาพาธโรควัณโรคปอด ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา แพทย์พยาบาลต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากให้ยาและโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด วันนี้ ( 11 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- แพทย์สั่งลูกศิษย์นิมนต์พระใกล้ชิด “หลวงพ่อคูณ” มาพูดคุยสนทนาธรรม เพื่อให้อารมณ์ดีขึ้นหลังหงุดหงิดหนัก พร้อมสั่งติดตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้พยาบาลติดตามอาการด้านหน้าห้อง เพื่อไม่ให้รบกวนเวลาพักผ่อนของหลวงพ่อ เผย อาการโดยรวมยังทรงตัว ฉันได้น้อย ให้ยารักษาวัณโรคปอดต่อเนื่อง และเพิ่มขนาดขึ้นอย่างระมัดระวัง ย้ำ ช่วง 30 วันอันตรายต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนใกล้ชิด ชี้ ผ่าน 1 เดือนถึงจะสบายใจได้

วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่พักรักษาอยู่ที่ห้องผู้ป่วยพิเศษ 9821 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ด้วยโรควัณโรคปอด ตั้งแต่คืนวันที่ 4 พ.ค.นั้น

ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ค.) อาการโดยรวมของหลวงพ่อคุณยังทรงตัว อารมณ์ดีขึ้น เสมหะน้อยลง แต่ยังมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย และฉันภัตตาหารได้น้อย ซึ่ง นพ.พินิศจัย นาคพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้นำคณะแพทย์เข้าตรวจอาการ พร้อมพูดคุยสอบถามอาการจากหลวงพ่อคูณ พร้อมสั่งให้นำจอคอมพิวเตอร์แสดงผลของเครื่องวัดชีพจร, ระบบการหายใจ และการเต้นของหัวใจมาตั้งไว้ด้านนอกหน้าห้องพักผู้ป่วยเพิ่มเติม แล้วให้พยาบาลออกมานั่งเฝ้าติดตามอาการอยู่บริเวณด้านหน้าห้องดังกล่าวแทน โดยให้เข้าไปเฉพาะช่วงที่ต้องฉีดยาเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้หลวงพ่อคูณได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

นพ.พินิศจัย นาคพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณ เปิดเผยว่า จากการตรวจร่างกายครั้งล่าสุด หลวงพ่อคูณยังมีอาการทรงตัว แต่เสมหะมีน้อยลง หายใจสะดวกมากขึ้นซึ่งยังคงพ่นยาขยายหลอดลมอยู่แต่ให้น้อยลงกว่าเดิม การรักษาแพทย์ยังคงให้ยารักษาวัณโรคปอดทั้งรูปแบบของยาฉีดเข้าเส้นเลือด และยาฉันต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังเนื่องจากท่านอายุมากแล้วและมีโรคประจำตัวหลายอย่างต้องระวังอย่างมากในเรื่องนี้ ที่สำคัญคือ ยังต้องเฝ้าติดตามภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิดต่อไปอีก

ส่วนกรณีที่หลวงพ่ออารมณ์ไม่ดี และหงุดหงิดมากเมื่อวานนี้อาจเป็นเพราะ เรื่องสภาพแวดล้อม หรือบางครั้งอาจเจอลูกศิษย์หน้าเดิมๆ และพยาบาลก็เข้าไปแทงเข็มฉีดยา จึงทำให้ท่านเกิดอาการดังกล่าวขึ้น จึงได้ให้ลูกศิษย์ไปตามศิษย์ผู้ใกล้ชิดอีกกลุ่มที่พูดคุยกับท่านแล้วทำให้ท่านอารมณ์ดีมาคุยกับหลวงพ่อ ซึ่งลูกศิษย์ได้นิมนต์พระสงฆ์ลูกศิษย์ของท่านมาสนทนาธรรมค่อนข้างนาน จึงทำให้วันนี้ ท่านมีอารมณ์ดีขึ้น

“จากการสังเกตอาการหลังการให้ยาวัณโรคปอดแก่หลวงพ่อคูณ จนถึงขณะนี้ยังไม่พบอาการข้างเคียงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ทั้งอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และวิงเวียนศีรษะ การให้ยาฉีดเข้าทางเส้นเลือดนั้น จะให้ต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ หากไม่พบอาการผิดปกติ แพทย์จะให้เฉพาะยาฉันเพียงอย่างเดียว ซึ่งการให้ยาหลวงพ่อคูณต้องค่อยๆ ให้ด้วยความระมัดระวังอย่างสูง พร้อมกับการให้วิตามินเพื่อบำรุงสมองและร่างกาย อย่างไรก็ตาม จะให้สบายใจเรื่องอาการหลวงพ่อคูณต้องให้เกินหนึ่งเดือนขึ้นไปก่อน ช่วงนี้จึงบอกว่าเป็นช่วง 30 วันอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” นพ.พินิศจัย กล่าว

ด้าน นพ.อนุชิต นิยมปัทมะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า อาการโดยทั่วไปของหลวงพ่อคูณวันนี้คงอยู่ในช่วงที่เรียกว่า อาการคงตัวมากกว่า แต่จะบอกได้ชัดเจนคงหลังจากนี้ประมาณ 1-2 เดือน เพราะการรักษาวัณโรคต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวประมาณ 6-9 เดือนขึ้นไปถึงจะบอกได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักดีขึ้นในช่วง 2 เดือนแรก โดยจุดเป็นวัณโรคเราควบคุมให้อยู่ที่บริเวณปอดและเยื่อหุ้มปอดเพียงแห่งเดียว ตอนนี้ยังไม่พบการแพร่กระจายของวัณโรคไปที่จุดอื่น ซึ่งต้องดูภาพถ่ายรังสีทรวงอกอีกครั้งจึงจะบอกได้ว่าอาการปอดดีขึ้นหรือไม่

ขณะที่ วันเดียวกันนี้ (11 พ.ค.) ทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกประกาศ เรื่อง อาการอาพาธพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ฉบับที่ 4 ระบุว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (11 พ.ค.) คณะแพทย์ได้เข้าตรวจร่างกายพระเทพวิทยาคม เพื่อติดตามผลการรักษา ผลการตรวจมีดังนี้ 1.สัญญาณชีพความดันโลหิต 120/58 มิลลิเมตรปรอท อุณหภูมิร่างกาย 35.8 องศาเซลเซียส ชีพจร 94 ครั้ง/นาที 2.สามารถไอได้เองแต่ยังคงมีเสมหะบ้าง นอนหลับพักผ่อนได้ดี 3.เริ่มให้อาหารเหลวชนิดชง ฉันอาหารได้เล็กน้อย 4.คณะแพทย์ยังคงเฝ้าสังเกตอาการภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยา และโรคประจำตัวอื่นๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น