ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อาการอาพาธ “พ่อคูณ” โดยรวมทรงตัว ยังอ่อนเพลีย ไอ และฉันอาหารได้น้อย แพทย์ระบุช่วง 30 วันอันตรายน่าเป็นห่วงมาก ต้องเฝ้าระมัดระวังอย่างที่สุด จากภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคปอดและโรคประจำตัว ชี้การให้ยารักษาวัณโรคในช่วงแรกคนไข้อาจแย่ลงได้ แต่หากหลุดพ้นช่วง 1 เดือนไปได้อาการมีจะดีขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้ (10 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งพักรักษาอยู่ที่ห้อง 9821 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 8 ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากอาพาธเป็นวัณโรคปอดนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (10 พ.ค.) นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้เข้าเยี่ยมอาการของพระเทพวิทยาคม พร้อมสอบถามอาการจากคณะแพทย์และพยาบาล ก่อนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า อาการโดยรวมยังทรงตัว ฉันภัตตาหารได้ค่อนข้างน้อย และมีอาการมืนเบลอเล็กน้อยซึ่งอาจมาจากผลการให้ยา และยังคงอ่อนเพลีย มีอาการไอ และเสมหะเริ่มลดลงเล็กน้อย และจากการตรวจอวัยวะอื่น เช่น หัวใจ สมอง และ ช่องท้อง เป็นปกติ พยาบาลยังคงต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่พยาบาลได้ถอดเข็มสำหรับต่อสายฉีดยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำออก เนื่องจากแขนหลวงพ่อคูณมีอาการบวม และทำการเจาะหาเส้นเลือดใหม่เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่พยาบาลใช้เวลาในการใช้เข็มเจาะเข้าเส้นเลือดค่อนข้างนาน เพราะหาเส้นเลือดของหลวงพ่อได้ลำบาก ซึ่งทุกครั้งที่มีการแทงเข็มฉีดยาเข้าเส้นเลือด หลวงพ่อคูณจะแสดงอาการเจ็บปวดอย่างชัดเจน และขอให้พยาบาลหยุดแทงเข็มอยู่ตลอดเวลา กระทั่งแทงเข็มยาได้สำเร็จ
ด้าน นพ.พินิศจัย นาคพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า อาการของหลวงพ่อคูณยังคงคล้ายเดิม คือ อาการทรงตัว ฉันได้น้อย ไม่มีไข้ อาการรู้ตัวยังเหมือนเดิม อาการเหมือนกับที่เราได้เรียนให้ทราบว่า เป็นช่วง 30 วันอันตราย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ท่านจะเกิดปัญหากับยาวัณโรคที่เราให้หรืออาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวข้องกับเรื่องของวัณโรคปอด และยังไม่รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่น เพราะช่วงนี้ที่ท่านมีวัณโรคปอดเกิดขึ้น และท่านก็มีโรคประจำตัวมากอยู่แล้ว ซึ่งท่านอาจจะมีปัญหาอะไรตามมาในช่วงนี้ก็ได้
“ฉะนั้น จึงให้หลวงพ่อพักรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด พยายามที่จะระมัดระวังอย่างที่สุดในการดูแลอย่างเต็มที่ในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา แต่ตอนนี้ยังไม่มีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน” นพ.พินิศจัย กล่าว
นพ.พินิศจัย กล่าวต่อว่า สรุปว่า ตอนนี้คณะแพทย์เราเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งภาวะแทรกซ้อนจากตัววัณโรคเอง จากยาที่ให้ และโรคประจำตัวที่ท่านมีอยู่ทั้งทางหัวใจและทางสมอง ส่วนน้ำเกลือได้งดให้แล้ว แต่ยาฆ่าเชื้อยังคงให้อยู่เหมือนเดิม ทั้งนี้ คณะแพทย์เราเป็นห่วงมากที่สุดในห้วง 30 วันอันตราย หรือช่วง 1 เดือนนี้ แต่หลังจากนั้น เราจะพิจารณาอีกครั้งในเรื่องการกลับไปรักษาอาการและฉันยาจนครบตามกำหนด 6 เดือน ถึง 2 ปีที่วัดบ้านไร่ได้ เพราะการให้ยารักษาวัณโรคในช่วงแรกคนไข้อาจจะแย่ลงได้ แต่หากสามารถหลุดพ้นช่วง 1 เดือนไปได้แล้วมักจะดีขึ้นเรื่อยๆ