กาฬสินธุ์-สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 กำชับผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดกว่า 151 แห่ง รับมือภัยธรรมชาติทุกอย่าง พร้อมโชว์สามเกลอโมเดลแก้ปัญหาปมด้อยโรงเรียนขนาดเล็ก แก้ปัญหาครูไม่พอ ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน เผยผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านพอใจไม่ยุบร.ร.ลูกหลานเรียนเก่ง
วันนี้( 10 พ.ค.)เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมโรงเรียนหนองกุงศรีวิทยาคม อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ดร.พจน์ เจริญสันเทียะ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)กาฬสินธุ์ เขต 2 ได้เรียกประชุมผู้บริหารสถานศึกษาทั้งสถานศึกษาของรัฐ - เอกชนรวม 151 แห่ง ที่ได้มอบหมายนโยบายให้กับผู้บริหารศึกษาก่อนจะเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2554
ดร.พจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯได้สั่งการให้ทางผู้บริหารสถานศึกษาเร่งทำการสำรวจปัญหา และผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย และภัยแล้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยสถานศึกษาแห่งใดที่ได้รับผลกระทบทางสำนักงานเขต จะเร่งเข้าไปดำเนินแก้ไขให้ในทันที
โดยเฉพาะช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่จะต้องดำเนินการเตรียมการเรียนการสอนให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะไม่ต้องไปกระทบกับเด็กที่กำลังจะเข้าเรียนในภาคฤดูการศึกษาที่ 1/2554
นอกจากนี้ยังให้สำรวจเพิ่มเติมหากไม่มีสถานศึกษาได้รับผลกระทบ แต่ให้สำรวจดูว่ามีครัวเรือนของนักเรียนในสังกัดใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ บ้านเรือนถูกพายุพัดพังเสียหายไป ซึ่งทางสำนักงานเขต จะได้นำเงินจากกองทุนไม่มอบเพื่อเยียวยาครัวเรือนของนักเรียนในสังกัดที่ประสบภัย รวมถึงเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักเรียนด้วย
อย่างไรก็ตามจากรายงานขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองขาม อ.ยางตลาด ที่พบว่าเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมาได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มมีบ้านพังเสียหายจำนวนมาก ซึ่งเป็นครอบครัวของนักเรียนในสังกัดโรงเรียนบ้านโคกศรี โรงเรียนบ้านหนองบัว และโรงเรียนบ้านสา ที่น่าจะมีครอบครัวของเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบจากวาตภัยประมาณ 20 ราย ซึ่งทางสำนักงานจะเร่งทำการตรวจสอบและให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในทันที
ดร.พจน์ ยังได้เปิดเผยกับผู้ข่าวถึงรูปแบบการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กของโรงเรียนในสังกัด ที่ขณะนี้กำลังจะเสนอเป็นแบบแผนเพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่สพฐ. ในการพิจารณาการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในแวดวงการศึกษาของประเทศไทย
ในพื้นที่เขตรับผิดชอบ มีโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จำนวน 84 แห่ง จากโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 151 แห่ง ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งไม่สามารถปฏิบัติงานด้านการพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ตามมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบ 2 โดยปัญหาที่พบคือ มีครูไม่ครบชั้นเรียน ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน และวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน
โดยเฉพาะสื่อประเภทเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอไม่เข้าถึงบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน จึงเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญสูงสุดที่ทำให้ครูและนักเรียนไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้ อีกทั้งการจัดงบประมาณแบบรายหัว ในโรงเรียนขนาดเล็กมีความไม่เท่าเทียมกับแห่งอื่นๆ โดยที่ผ่านมาทางสำนักงานเขตพื้นที่ได้วางรูปแบบการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก
โดยวางรูปแบบที่สอดคล้องกับพื้นที่ นักเรียน และยึดประเพณีวัฒนธรรมเป็นการเชื่อมโยงการดำเนินการศึกษาแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานเขตฯได้นำเอาสามเกลอโมเดล เข้ามาทดสอบใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ตำบลเดียวกัน โดยให้ผอ.โรงเรียนจัดวางตารางเรียน รูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยดึงเอาศักยภาพเด่นของโรงเรียนแต่ละแห่งเป็นจุดหลัก มีรูปแบบการเรียนการสอนคือการหมุนเวียนเรียนทั้งการหมุนเวียนครูผู้สอนและนักเรียน โดยทางสำนักงานเขต ได้จัดการศึกษาแบบสามเกลอโมเดล
ซึ่งมีโรงเรียน 3 แห่งเป็นจุดนำร่องประกอบด้วย โรงเรียนบ้านชัยศรีสุข โรงเรียนมิตรมวลชน 5 (บ้านไทยเจริญ)และโรงเรียนคำบอนวิทยาสรรพ์ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้มีการกำหนดให้โรงเรียนรับผิดชอบอนุบาลและป.1-3 เหมือนเดิม”
ส่วนระดับชั้น ป.4-6 ซึ่งเป็นช่วงชั้นที่ 2 จะให้โรงเรียนรับผิดชอบโรงเรียนละ 1 ช่วงชั้น ซึ่งโรงเรียนมิตรมวลชน 5 รับผิดชอบ ป.4 โรงเรียนคำบอนวิทยาสรรพ์ รับผิดชอบ ป.5 และโรงเรียนบ้านชัยศรีสุข รับผิดชอบป. 6 ในช่วงแรก และเริ่มขยับเป็น ร.ร.มิตรมวลชน 5 รับผิดชอบสอน อนุบาลและป.1-2 ร.ร.บ้านคำบอน รับผิดชอบ อนุบาล และ ป.3-4 และร.ร.บ้านชัยศรีสุข รับผิดชอบอนุบาลและ ป.5-6 และผลจากการทดลองใช้รูปแบบ สามเกลอโมเดล
ซึ่งเป็นลักษณะเครือข่ายรับเหมาชั้นเรียน ที่นับว่ากรณีศึกษาที่น่าสนใจเพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นเป็นบวกมากกว่าลบทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียนและความพึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชนของพื้นที่ทั้งหมด
ดร.พจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลที่ออกมาถือว่าน่าพอใจมาก ในส่วนของผู้บริหารได้เปิดรับแนวความคิดของชุมชนและบุคลากรในสถานศึกษาตนเอง ส่วนครูผู้สอนได้รับผลดีโดยตรงคือไม่ต้องแบกรับภาระการสอนหลายชั้นเรียน มีเครือข่ายทางวิชาการสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนที่เกิดขึ้นกับนักเรียนคือสามารถพัฒนาตามหลักสูตรได้เต็มรูปแบบ
ผู้เรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม สามารถลดปัญหาการการขัดแย้งทะเลาะวิวาทของวัยรุนในชุมชนได้ แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่มีผลสัมฤทธิ์อยู่ระดับท้ายๆ ของเขต แต่ตอนนี้ขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ของเขตพื้นที่
“ในอนาคตจะมีการนำเอารูปแบบ สามเกลอโมเดล ขยายไปยังโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไปอีกที่คาดว่าน่าจะเป็นผลดีต่อการปรับตัวของโรงเรียนขนาดเล็กในระบบการศึกษาของไทย อย่างไรก็ตามจากผลดำเนินการจัดการศึกษา แบบสามเกลอโมเดล ทำให้ชาวบ้านเกิดความพึงพอใจมาก และดีใจที่ไม่ต้องยุบโรงเรียนทิ้ง
ซึ่งปัจจุบันคนในชุมชนในหมู่บ้านของโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ผู้ปกครองตื่นตัวและไม่ส่งเด็กมาเรียนที่ในอำเภอหรือตัวจังหวัดเหมือนในอดีต ซึ่งเห็นได้จากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์” ดร.พจน์กล่าว