บุรีรัมย์ - ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยตามแนวชายแดน อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ที่กลับเข้าไปใช้ชีวิตในบ้านตัวเองเป็นวันแรก หลังปิดศูนย์อพยพ ยังหวาดผวาไม่มั่นใจในความปลอดภัยและไม่กล้าเข้ากรีดยาง หวั่นอันตรายจากเหตุปะทะและลูกกระสุนปืนใหญ่เขมรตกในพื้นที่ยังไม่ระเบิด ร้องรัฐเร่งสร้างหลุมหลบภัยได้มาตรฐานในหมู่บ้าน
วันนี้ (3 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศปิดศูนย์อพยพผู้ประสบภัยการสู้รบชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้ง 9 ศูนย์ เและอนุญาตให้ชาวบ้านเดินทางกลับบ้านเรือนทั้งหมดเมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ล่าสุดจากการเข้าไปสำรวจบรรยากาศในหมู่บ้านสายโท 12 ใต้ ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด ซึ่งเป็น 1 ใน 29 หมู่บ้านที่ลี้ภัยการสู้รบระหว่างทหารไทยกับฝ่ายกัมพูชา เข้าไปพักพิงอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวต่างๆ ที่ทางอำเภอบ้านกรวดจัดเตรียมไว้รองรับ เนื่องจากมีลูกกระสุนปืนใหญ่จากการปะทะตกใส่บริเวณสวนยางพาราหลายลูก ทำให้ต้นยางได้รับความเสียหายหลายสิบต้น
โดยชาวบ้านที่กลับเข้ามาใช้ชีวิตที่บ้านของตัวเองเป็นวันแรก หลังต้องลี้ภัยอยู่ที่ศูนย์อพยพมานานถึง 11 วัน ต่างยังหวาดผวาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยังไม่มั่นในความปลอดภัย โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีอาชีพทำสวนยางพารายังไม่กล้าเข้าไปกรีดยาง เพราะเกรงจะเกิดเหตุปะทะขึ้นอีก ทั้งเกรงจะได้รับอันตรายจากกระสุนปืนใหญ่ที่ตกเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งบางลูกอาจยังไม่ระเบิด ต้องรอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบเคลียร์พื้นที่ และเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือลูกกระสุนปืนใหญ่ที่อาจยังหลงเหลือให้เรียบร้อยก่อน จึงจะเข้าไปกรีดยางตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทางจังหวัดบุรีรัมย์จะอนุญาตให้กลับเข้าบ้าน แต่สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์ ที่ยังไม่น่าไว้วางใจ และล่าสุดยังมีเสียงปืนปะทะกันเกิดขึ้นที่บริเวณชายแดนปราสาทตาควาย อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ จึงให้ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) อาสารักษาดินแดน (อส.) และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เฝ้าติดตามสถานการณ์และดูแลรักษาความปลอดภัย อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามหมู่บ้าน จนกว่าสถานการณ์ตามแนวชายแดนจะคลี่คลายหรือเข้าสู่สภาวะปกติ
ด้าน นายสมพงษ์ ลับพะโส อายุ 42 ปี ชาวบ้าน บ้านสายโท 12 ใต้ ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ถึงแม้ทางราชการอนุญาตให้กลับเข้ามาใช้ชีวิตตามปกติที่บ้านได้แล้ว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างจากตะเข็บชายแดนเพียง 5 กิโลเมตร ซึ่งใกล้ระยะวิถีกระสุน จึงอยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐได้เร่งเข้ามาก่อสร้างหลุมหลบภัยที่มีมาตรฐานภายในหมู่บ้านอย่างน้อย 5-6 หลุม เพื่อความปลอดภัยของชาวบ้านหากเกิดเหตุปะทะขึ้นอีก เนื่องจากขณะนี้ในหมู่บ้านไม่มีหลุมหลบภัย มีเพียงที่โรงเรียน และสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเท่านั้น ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน